Gartner ระบุว่า CMO และนักการตลาดส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาในการสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่จับต้องได้ หลายแคมเปญล้มเหลวในการสร้าง ROI ที่คุ้มค่า และลูกค้าจำนวนมากรู้สึกว่าแบรนด์ไม่เข้าใจความต้องการของพวกเขา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการตลาดจำเป็นต้องยกระดับไปอีกขั้น
ในปี 2025 นี้ นักการตลาดที่ต้องการสร้างความแตกต่างและผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ควรให้ความสำคัญกับ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1️⃣ เชื่อมโยงกลยุทธ์การตลาดเข้ากับการดำเนินงานขององค์กร (Bridging Marketing Strategy and Operations)
2️⃣ สร้างความแตกต่างด้วยการตลาดเชิงกลยุทธ์ (Leading Marketing to Deliver Differentiation)
3️⃣ ลงทุนใน Customer Journey เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาด (Prioritizing Customer Journey Investments)
โดยวันนี้ Future Trends จะพาเหล่านักการตลาดที่ต้องการรอดในสมรภูมิรบปี 2025 นี้ ไปวิเคราะห์แต่ละกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกัน
1️⃣ เชื่อมโยงกลยุทธ์การตลาดเข้ากับการดำเนินงานขององค์กร (Bridging Marketing Strategy and Operations)
Amazon เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสานกลยุทธ์การตลาดเข้ากับการดำเนินงานขององค์กร ทุกแคมเปญที่ Amazon ทำ ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างยอดขาย แต่ยังต้องสนับสนุนกลยุทธ์หลักของบริษัท เช่น การพัฒนา AI ในการแนะนำสินค้า การใช้ระบบ Prime Membership เพื่อสร้างความภักดีของลูกค้า และการลงทุนในโลจิสติกส์เพื่อให้บริการจัดส่งที่รวดเร็วขึ้น
Amazon ไม่ได้มองว่าการตลาดเป็นเพียงเครื่องมือสร้างแบรนด์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์องค์กรที่ต้องทำงานร่วมกันกับฝ่ายเทคโนโลยี โลจิสติกส์ และบริการลูกค้า ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกธุรกิจควรนำไปปรับใช้
ปัญหาหลักที่นักการตลาดหลายคนต้องเผชิญ คือ กลยุทธ์ทางการตลาดไม่สามารถแปลงเป็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมได้ หลายองค์กรยังคงให้ความสำคัญกับการตลาดระยะสั้น เช่น การเพิ่มยอดขายผ่านแคมเปญโฆษณา แต่ขาดการเชื่อมโยงกับเป้าหมายระยะยาวของบริษัท
จากรายงานของ Gartner พบว่านักการตลาดที่สามารถผสานกลยุทธ์เข้ากับการดำเนินงานขององค์กร จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น และสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจ นั่นหมายความว่า นักการตลาดจะต้อง เลิกคิดแยกขาดระหว่างกลยุทธ์กับการดำเนินงาน แต่ต้องบูรณาการทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน
👏 โดย Future Trends วิเคราะห์มาจากรายงานของ Gartner ถึงแนวทางการใช้งานได้ ดังนี้
✅ ตั้งเป้าหมายแบบ 3 ระดับ
– เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ (3-5 ปี): บริษัทต้องการเติบโตในทิศทางใด?
– เป้าหมายเชิงปฏิบัติ (12-36 เดือน): แคมเปญการตลาดต้องช่วยเสริมเป้าหมายหลักขององค์กรอย่างไร?
– เป้าหมายเชิงปฏิบัติรายวัน (3-12 เดือน): จะนำกลยุทธ์มาใช้ในระดับปฏิบัติการได้อย่างไร?
✅ กระจายกลยุทธ์จากบนลงล่าง
นักการตลาดต้องทำให้แผนกลยุทธ์ถูกนำไปใช้งานจริงในทุกระดับขององค์กร ไม่ใช่แค่ที่ดูสวยงามบนกระดาษเท่านั้น
✅ ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล
วัดผลเชิงกลยุทธ์ ไม่ใช่แค่ ROI ของแต่ละแคมเปญ แต่ต้องวัดว่ากลยุทธ์ทางการตลาดมีผลต่อเป้าหมายองค์กรอย่างไร
2️⃣ สร้างความแตกต่างด้วยการตลาดเชิงกลยุทธ์ (Leading Marketing to Deliver Differentiation)
Nike เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่ใช้ Brand Purpose และ Storytelling เพื่อสร้างความแตกต่าง แทนที่จะขายรองเท้า Nike เลือกที่จะขาย ‘แรงบันดาลใจ’ โดยมีแคมเปญที่สร้างอารมณ์ร่วม เช่น “Just Do It” และการสนับสนุนประเด็นสังคม เช่น การให้พื้นที่นักกีฬาผิวสีและเพศทางเลือกในการสื่อสารความเท่าเทียม
Nike ไม่ได้แข่งในตลาดด้วยสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่แข่งกันที่คุณค่าทางอารมณ์ ซึ่งช่วยให้แบรนด์ยืนอยู่เหนือคู่แข่งและสร้างความผูกพันระยะยาวกับลูกค้า
ลูกค้าสมัยใหม่ มีตัวเลือกมากมาย และต้องการแบรนด์ที่เข้าใจพวกเขาจริงๆ Gartner พบว่า 58% ของลูกค้าเชื่อว่าแบรนด์พยายามขายของโดยไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ดังนั้นนักการตลาดที่จะชนะในปี 2025 ต้องไม่ใช่แค่ทำการตลาดเพื่อโปรโมตสินค้า แต่ต้องทำให้แบรนด์มีจุดขายที่แตกต่างและมีคุณค่าเสิร์ฟลูกค้าอย่างแท้จริง
👏 โดย Future Trends วิเคราะห์มาจากรายงานของ Gartner ถึงแนวทางการใช้งานได้ ดังนี้
✅ ใช้ข้อมูลลูกค้าให้ลึกซึ้งขึ้น
วิเคราะห์พฤติกรรมและข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ข้อมูลพื้นฐาน แต่ต้องลงลึกไปถึงขนาดที่ว่าเราสามารถใช้สร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าได้ และมันต้องสร้างความประทับใจ
✅ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ตลาด
นักการตลาดต้องมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่แค่โฆษณาสินค้าที่มีอยู่ หน้าที่อาจจะต้องลงไปดูถึงกระบวนการผลิตและแนวคิดของสินค้าตัวนั้นๆ ด้วย
✅ เน้นการตลาดที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
สร้าง Content หรือแคมเปญที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ของคุณเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
3️⃣ ลงทุนใน Customer Journey เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาด (Prioritizing Customer Journey Investments)
เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางแบรนด์ถึงสามารถสร้างลูกค้าประจำได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บางแบรนด์กลับเสียลูกค้าไปหลังจากการซื้อเพียงครั้งเดียว? คำตอบอยู่ที่ Customer Journey
Starbucks คือหนึ่งแบรนด์ที่เข้าใจ Customer Journey อย่างแท้จริง พวกเขาไม่ได้ขายแค่กาแฟ แต่ขายประสบการณ์ ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษทุกครั้งที่มาใช้บริการ
ลองนึกภาพว่าคุณเดินเข้าไปใน Starbucks สาขาประจำ บาริสต้าจำชื่อคุณได้ และรู้ว่าคุณชอบสั่งกาแฟแบบไหน จากนั้นคุณจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน Starbucks Rewards และสะสมแต้มเพื่อรับเครื่องดื่มฟรีในอนาคต ด้วยวิธีการเหล่านี้ ทำให้ Starbucks สามารถสร้างประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัว และสร้างโอกาสที่ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการซ้ำ
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Airbnb ซึ่งใช้ Data Analytics และ AI วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้เพื่อแนะนำที่พักและประสบการณ์ที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด ยิ่งลูกค้าใช้งานแพลตฟอร์มนานเท่าไร Airbnb ก็จะสามารถมอบข้อเสนอที่ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทำให้พวกเขารู้สึกว่า Airbnb เข้าใจพวกเขาจริงๆ
Gartner ชี้ให้เห็นว่า ลูกค้าสมัยใหม่คาดหวังประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) และต้องการให้แบรนด์เข้าใจพวกเขาจริงๆ นักการตลาดที่ไม่ให้ความสำคัญกับ Customer Journey อาจพบว่าแบรนด์ของพวกเขาสูญเสียลูกค้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ไม่ใส่ใจในประสบการณ์ของพวกเขา
👏 โดย Future Trends วิเคราะห์มาจากรายงานของ Gartner ถึงแนวทางการใช้งานได้ ดังนี้
✅ วิเคราะห์ Customer Journey Mapping
ระบุ Touchpoints สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้า เช่น จุดที่ลูกค้ารู้จักแบรนด์ กระบวนการซื้อสินค้า และการบริการหลังการขาย แก้ไขจุดอ่อนในเส้นทางของลูกค้า เช่น ถ้าอัตราการ Drop-off ในหน้าชำระเงินสูง แสดงว่ากระบวนการ Checkout อาจมีปัญหา
✅ ใช้ AI และ MarTech เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า
ใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าแบบเรียลไทม์เพื่อปรับแต่งข้อเสนอให้ตรงใจ เช่น Amazon ใช้ AI แนะนำสินค้าที่ลูกค้าน่าจะสนใจ เพิ่มโอกาสในการซื้อ พร้อมทั้งใช้ Chatbots และระบบอัตโนมัติช่วยตอบคำถามลูกค้าแบบเรียลไทม์ เช่น แบรนด์แฟชั่นสามารถใช้ AI Chatbot ช่วยแนะนำไซส์เสื้อผ้าที่เหมาะกับลูกค้าได้ทันที
✅ เชื่อมโยงทุกช่องทางให้เป็นหนึ่งเดียว (Omnichannel Marketing)
ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้รับประสบการณ์ที่ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะซื้อสินค้าผ่าน ออนไลน์หรือออฟไลน์ เช่น Sephora ที่ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน และมาลองสินค้าจริงที่ร้านได้
[ นักการตลาดที่ปรับตัวได้ก่อน = ผู้นำในตลาด ]
ปี 2025 จะเป็นปีที่การตลาดต้องเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าแค่การสร้างแคมเปญโฆษณา นักการตลาดที่สามารถเชื่อมโยงกลยุทธ์เข้ากับการดำเนินงาน สร้างความแตกต่างที่แท้จริง และให้ความสำคัญกับ Customer Journey จะเป็นผู้ที่สามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับแบรนด์ได้
นักการตลาดที่สามารถนำ 3 กลยุทธ์นี้ไปใช้ก่อน จะเป็นผู้ชนะในตลาดที่แข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้
ดังนั้น อย่ารอช้าที่จะแชร์ให้ทีมการตลาดของคุณเห็น 👍
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์