7 วิธีหนีจาก ‘Monkey Mind’ ภาวะที่ทำให้คุณคิดฟุ้งซ่าน
“คุณเคยมีอาการแบบนี้ไหม? คิดฟุ้งซ่าน ไม่สามารถที่จะหยุดคิดได้เลยในแต่ละวินาที จนเกิดความเครียด เหมือนกับว่ามันมีลิงกำลังวิ่งอยู่ในหัวสมองคุณ”
อาการแบบนี้มีคำเรียกว่า ‘Monkey Mind’ หรือ ‘จิตลิง’ ข้อมูลหลายแหล่งบอกว่าคำๆ นี้ถูกใช้ครั้งแรกในประเทศจีน แต่บ้างก็บอกว่า มันเป็นแนวคิดที่ได้รับมาจากพระพุทธศาสนา มีความหมายอธิบายไว้ว่า สภาวะของความกระวนกระวายใจ ความไม่แน่นอน และการขาดการควบคุมในความคิด
วันนี้ Future Trends ได้ไปเจอบทความหนึ่งที่บอกวิธีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับภาวะจิตลิง ที่อาจจะสามารถช่วยผู้อ่านที่มีอาการเช่นนี้ได้ ปรับความคิดตัวเองแล้วเลิกเป็นคนที่คิดฟุ้งซ่านเสียที
[ 7 วิธีการแก้ไขภาวะ Monkey Mind ]
1.เรียนรู้การทำสมาธิ
การเรียนรู้ที่จะทำสมาธิ จะทำให้ความคิดของเราอยู่กับตัวเองมากยิ่งขึ้น มันอาจจะส่งผลให้เราคิดมากจนหายสงสัย หรือ ทำให้เราหยุดที่จะคิดเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องไปเลยก็ได้ การทำสมาธิมีหลากหลายรูปแบบไม่จำเป็นจะต้องทำตามแบบพระพุทธศาสนา หลักสำคัญของมันคือการที่เรามีสมาธิมากพอก็แค่นั้น
2.การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา
“การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญาถือเป็นมาตรฐานสำคัญในการลดความคิดเชิงลบ” กล่าวโดย นักจิตวิทยา เดโบราห์ เซรานี ผู้เขียนหนังสือ Living With Depression
การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญาจะสอนให้คุณรับรู้ถึงกระบวนการคิดเชิงลบ ที่จะถอยหลังกลับไปหาต้นตอ จากนั้นจึงสร้างความคิดใหม่อย่างมีสติ ซึ่งเป็นความคิดที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อแทนที่ความคิดนั้น
3.ฝึกสติ
จริงๆ แล้วสิ่งนี้สามารถแยกออกจากการทำสมาธิได้ และอาจรู้สึกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น Jon Kabat-Zinn ได้คำนิยามเกี่ยวกับการมีสติไว้ คือการใส่ใจกับช่วงเวลาปัจจุบันอย่างตั้งใจ คือการที่คุณดึงความสนใจของคุณกลับไปสู่สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ในขณะนั้น เช่น ฟังเสียงลมหายใจของคุณ หรือ ฟังวิธีการหายใจของคุณ เป็นต้น การใช้เวลาเพื่อให้ความสนใจกับปัจจุบันแทนที่จะสนใจสิ่งที่อยู่ในหัวของคุณ เป็นการฝึกสติที่ดีและอาจจะง่ายกว่าการทำสมาธิด้วยซ้ำไป
4.ทำสิ่งที่ต้องจดจ่ออยู่กับมัน
ในตอนเด็กเรามักจะไม่คิดอะไรในหัวให้ยุ่งยากวุ่นวาย เราแค่อยากระบายสี อยากวิ่งเล่นที่หน้าบ้าน อยากอ่านหนังสือการ์ตูน กิจกรรมเหล่านี้สามารถนำมาใช้เมื่อคุณกำลังคิดฟุ้งซ่านได้ ขอเพียงแค่มันสามารถดึงดูดความสนใจ บังคับให้คุณอยู่กับมันได้โดยไม่คิดถึงเรื่องในหัวก็พอแล้ว
5.พูดคุยกับคน ‘จริงๆ’
บ่อยครั้งที่การพิมพ์คุยกันผ่านโซเซียลมีเดียไม่สามารถบ่งบอกความรู้สึกที่ต้องการจะสื่อได้จริงๆ ในระยเวลานั้นๆ สิ่งที่จะช่วยได้คือการพูดคุยกับคนจริงๆ ที่สามารถจับต้องได้ อาจจะลองไปเดินห้างที่มีพนักงานคอยบริการขายสินค้า คุยกับพวกเขาเอาหัวไปคิดกับเรื่องสินค้าที่คุยกำลังจะถูกล่อซื้อดีกว่าคิดเรื่องฟุ้งซ่านในหัว
6.ฝึกการยอมรับ
Shannon Kolakowski นักจิตวิทยา กล่าวว่า “วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมาก ที่ฉันใช้จัดการกับความวิตกกังวลมากมายคือการยอมรับ” ในบางครั้งคุณอาจจะต้องยอมรับบางเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณคิดอยู่ในหัว เช่น ฉันทำอย่างนี้ไปมันดีพอแล้วหรือไม่? คุณรู้ดีที่สุดว่าสิ่งที่คุณทำลงไปนั้นดีพอแล้วหรือยัง? ยอมรับมันแล้วเลิกคิดฟุ้งซ่านเสียที
7.ออกไปจากหัวของตัวเองด้วยการสนใจเรื่องของคนอื่น
อีกวิธีหนึ่งในการปิดกั้นความคิดภายในหัว คือการอุทิศเวลาให้กับเรื่องของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หลายๆ คนอาจจะสะดุ้งเล็กน้อยเมื่อเจอกับข้อนี้ เราไม่ได้สนับสนุนให้คุณไปยุ่งเรื่องชาวบ้านนะ แต่มันเป็นหนึ่งในวิธีการออกจากหัวของตัวเอง ก็ไปสนใจเรื่องคนอื่นแทน
แต่ควรสนใจและใส่ใจในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านด้วยนะไม่ใช่ยุ่งเรื่องฉาวๆ ของคนอื่นอย่างเดียวถ้าเป็นเช่นนั้น คุณอาจจะหลุดพ้นจากภาวะจิตลิง แต่คงไปติดพันกับเรื่องชาวบ้านแทน
[ สรุป ]
7 วิธีการที่จะช่วยให้คุณหลุดออกจากความคิดในหัว หรือ หลุดพ้นจากภาวะจิตลิงนั้น บางข้อก็มีนักจิตวิทยายอมรับบางข้อก็ดูเหมือนจะได้ผลดี บางข้อก็อาจจะแปลกๆ ไปนิดหน่อย แต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานของแต่ละคน อย่างไรก็ตามอ่านและดูความเหมาะสมของวิธีการก่อนใช้งานด้วยนะ
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Source: https://www.forbes.com/sites/alicegwalton/2017/02/28/8-science-based-tricks-for-quieting-the-monkey-mind/?sh=7235dcf11af6