LOADING

Type to search

เป้าหมายจำเจ ไม่รู้จะสร้างความท้าทายให้ทีมอย่างไร? ลองใช้ ‘หลักการตั้งเป้าหมาย 5 ประการ’ ของ Locke และ Latham

เป้าหมายจำเจ ไม่รู้จะสร้างความท้าทายให้ทีมอย่างไร? ลองใช้ ‘หลักการตั้งเป้าหมาย 5 ประการ’ ของ Locke และ Latham
Share

การตั้งเป้าหมายเป็นแกนหลักของมนุษย์ในการสร้างความท้าทายและนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต หากชีวิตไม่มีเป้าหมาย อาจขาดสีสันและดำเนินชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่าย

แต่บางครั้งเป้าหมายกลับเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทะเยอทะยาน คลุมเครือ และซับซ้อนเกินไป จนทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้เกิดไขว้เขว และไม่สามารถไปถึงได้อย่างที่ตั้งใจ

Future Trends จึงนำทฤษฎีที่จะช่วยให้การทำตามเป้าหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาฝากหัวหน้าและคนทำงานลองไปปรับใช้ตามสไตล์ของตัวเอง โดยทฤษฎีนี้มีชื่อว่า ‘หลักการตั้งเป้าหมาย 5 ประการของล็อคและลาธาม’ (Locke and Latham’s 5 Principles)

จุดเริ่มต้นของทฤษฎีการตั้งเป้าหมายของล็อคและลาแธม

5-ways-to-set-goals-locke-and-lathams-theory 1
Image by Waewkidja on Freepik

ในปี 1968 เอ็ดวิน ล็อก (Edwin A. Locke) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้เขียนงานวิจัยที่มีชื่อว่า ‘Toward a Theory of Task Motivation and Incentives’ เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายกับความสำเร็จ โดยเป้าหมายที่ท้าทายถือเป็นเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มโอกาสให้ทำตามเป้าสำเร็จขึ้น

ไม่กี่ปีต่อมา แกรี่ ลาธาม (Gary P. Latham) ได้นำทฤษฏีของล็อคมาทดสอบในงานวิจัยของตัวเองและพบความเชื่อมโยงระหว่างการตั้งเป้าหมายและประสิทธิภาพ จากนั้น ทั้งสองคนได้ร่วมกันตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า ‘A Theory of Goal Setting and Task Performance’ ในปี 1989 ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของ ‘หลักการตั้งเป้าหมาย 5 ประการ’

หลักการตั้งเป้าหมาย 5 ประการของล็อคและลาแธม

5-ways-to-set-goals-locke-and-lathams-theory 2
Image by KamranAydinov on Freepik

1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน (Clarity)

การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ควรเริ่มจากความเฉพาะเจาะจงและเรียบง่าย โดยต้องระบุระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมาย เช่น บริษัทต้องการเพิ่มกำไรในตลาดจาก 3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 สัปดาห์ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการระดมสมองว่า จะทำอย่างไรให้ได้กำไร 4 เปอร์เซ็นต์

2. ตั้งเป้าหมายให้ท้าทายตามความเหมาะสม (Challenge)

การสร้างความท้าทายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริหาร เพราะต้องคาดการณ์ว่า พนักงานจะทำตามได้สำเร็จหรือไม่ แต่การสร้างความท้าทายตามความเหมาะสมกลับเป็นสิ่งที่ผู้บริหารบางคนมองข้าม แทนที่จะให้ความรู้สึกยากแต่ทำได้จริง กลับเพิ่มความยากในทางปฏิบัติและการบรรลุผลด้วย

ตัวอย่างเช่น เป้าหมายเพิ่มกำไร 4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 สัปดาห์ พนักงานจะไม่ได้กังวลแค่ความล้มเหลว แต่จะกังวลเรื่องความมั่นคงในตัวงานด้วย ดังนั้น การสร้างเป้าหมายที่ท้าทายควรคำนึงถึงความเป็นไปได้และความสามารถของพนักงาน

3. รักษาความมุ่งมั่นของทีม (Commitment)

ทำไมพนักงานควรยึดมั่นในเป้าหมายของบริษัท ถ้าพวกเขาไม่ยอมรับและเชื่อในคุณค่าของเป้าหมาย ก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างเต็มที่ ฉะนั้น การสร้างแรงจูงใจและความมุ่งมั่นให้กับพนักงานจะต้องอธิบายให้เข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมาย หน้าที่ และการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน

5-ways-to-set-goals-locke-and-lathams-theory 3
Image by katemangostar on Freepik

4. เปิดรับคำติชมและข้อเสนอแนะ (Feedback)

แม้เป้าหมายของคุณแข็งแรงพอ ก็ต้องน้อมรับคำติชมและข้อเสนอแนะจากผู้อื่นด้วย เพราะคำติชมและข้อเสนอแนะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการประเมินไปในเวลาเดียวกันว่า พนักงานยังมีส่วนร่วมและทำงานเพื่อเป้าหมายของบริษัทอยู่หรือไม่ 

5. การพิจารณาความซับซ้อนของงาน (Complexity)

ปกติแล้ว ความซับซ้อนจะขัดกับหลักการที่ผ่านมา เพราะพนักงานที่มีบทบาทซับซ้อนจะสร้างความกดดันให้ตัวเอง ผู้บริหารต้องพิจารณาว่า ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ถืองานในมือมากเกินไป หรือเป็นงานที่เกินขอบเขตหน้าที่และแบ่งให้พนักงานคนอื่นช่วยได้

แต่ความซับซ้อนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างความท้าทายได้ ถ้ารู้สึกว่า เป้าหมายใหญ่เกินไป ให้ใช้วิธีแบ่งเป้าหมายเป็นส่วนเล็กๆ หรือแยกย่อยตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้พนักงานรู้สึกลำบากใจ และจัดสรรเวลาการทำงานให้เสร็จทันตามที่ได้รับมอบหมาย

หลักการตั้งเป้าหมาย 5 ประการของล็อคและลาธาม เน้นไปที่การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ฉะนั้น โจทย์สำคัญสำหรับผู้บริหารที่ต้องการใช้หลักการนี้ให้บรรลุผล คือการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมกับพนักงาน เพื่อความท้าทาย และไม่จำเจ

Sources: https://bit.ly/40NRub4

http://bit.ly/3RW3oeJ

https://bit.ly/3Xlylud

http://bit.ly/3RY3Ut0

https://bit.ly/3xaA8Yi

Tags::

You Might also Like