Type to search

‘5 เทคนิคประคับประคองหัวใจให้ไหว’ ในวันที่การงานพาให้ตัวเราเหนื่อยล้า

August 10, 2023 By Chananchida Ployplai

เราทุกคนล้วนมีความฝัน และแน่นอนว่า ‘ความฝัน’ ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าใครอยากจะประสบความสำเร็จในด้านไหนในชีวิต บางคนฝันว่าอยากมีบ้านหลังใหญ่ บางคนฝันว่าอยากมีแฟนดีๆ แต่เชื่อเถอะ ท่ามกลางความฝันนับร้อยพัน คงมีคนจำนวนไม่น้อยเลยล่ะที่ฝันว่าอยากถูกหวยแล้วกลายเป็น ‘คนรวย’ ทุกวันที่ 1 และ 16

ต้องขออภัยที่ต้องดับฝันนั้นลง เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะสามารถทำฝันนี้ให้เป็นจริงพร้อมกัน ดังนั้น อย่างน้อยๆ ก็ขอเป็นคนรวยแม้จะไม่ต้องถูกหวยได้มั้ย คำตอบคือได้ แต่ก็ต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน เพราะหนทางที่เราจะมีเงินขึ้นมาได้โดยไม่ต้องพึ่งโชคชะตานั้นมีทางเดียว นั่นก็คือ ‘การทำงาน’

‘เราทำงานเพื่อแลกเงิน’ ความจริงอันแสนโหดร้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และยิ่งอยู่ในยุคที่ ‘งาน’ หายากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทรด้วยแล้วก็ยิ่งโหดร้ายไปกันใหญ่  คนไหนได้งานที่ตนเองรักหรืองานที่ถนัดก็นับว่าเป็นความโชคดี แต่ถ้าหากได้งานที่ตรงกันข้ามกับความชอบของเราล่ะก็ โอ้ย ไม่อยากจะคิดถึงความทรมาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วลี ‘ไม่อยากทำงาน’ นั้นเป็นวลียอดฮิตติดปากของคนทำงานทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่ พนักงานทั่วไป พนักงานระดับสูง เผลอๆ บางที ผู้บริหารบางคนก็อาจจะเคยพูดวลีนี้เหมือนกันนะ ซึ่งการนำวลีนี้มาใช้ ส่วนมากก็จะออกแนวทีเล่นทีจริง เพราะเราต่างรู้ว่าสุดท้ายทุกคนก็ยังต้องทำงานเช่นเดิมอยู่ดี

แล้วถ้าเรารู้สึก ‘ไม่อยากทำงาน’ ขึ้นมาจริงๆ ล่ะ? 

งานที่เคยรักก็ไม่สนุกเหมือนอย่างเคย ไปออฟฟิศทุกวันก็นั่งทำงานให้เวลาหมดไปเรื่อยๆ โดดเดี่ยว  เหนื่อยหน่าย เครียด ไม่มีเป้าหมายในชีวิต และบางครั้งก็มีความคิด ‘อยากลาออก’ แวบๆ ขึ้นมาในหัว

หากมีความรู้สึกเหมือนหรือคล้ายคลึงกับตัวอย่างข้างบน เราอาจกำลังมีปัญหากับการทำงานแล้วล่ะ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคนที่คิดและรู้สึกเหมือนกับเรานะ

ผลสำรวจจาก Gallup เปิดเผยว่าพนักงานออฟฟิศกว่า 60% รู้สึกเฉยเมยกับงานของพวกเขา ซึ่งเกิดมาจากสภาวะที่หัวใจถูกบีบคั้นจากการต้องฝืนทนทำงาน และมีพนักงานถึง 50% ที่เครียดกับการทำงานในทุกๆ วัน แม้จะเป็นงานที่รัก หรือไม่รักก็ตาม

Gallup ยังบอกอีกว่า 40% ของคน Gen Z มีความตั้งใจที่จะลาออกจากที่ทำงานในอีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ คน Gen Y กับ Gen Z ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการหมดไฟ (Burnout) สูงที่สุดอีกด้วย

แต่ทุกปัญหามีทางออก หากรู้สึกหมดไฟ ไม่มีแรงใจในการทำงานก็ไม่เป็นไร เพราะวันนี้ Future Trends มี 5 เทคนิคประคับประคองหัวใจให้ไหว ในวันที่การงานพาให้ตัวเราเหนื่อยล้า จาก Harvard Business Review มาฝากทุกคน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. ทำความเข้าใจกับผลกระทบของงาน

เมื่อเริ่มต้นในอาชีพ เราอาจจะยังมองไม่เห็นคุณค่าของงานที่เรากำลังทำว่ามันมีความสำคัญกับองค์กรอย่างไร ดังนั้น ลองใช้เวลาในการเรียนรู้กับผลกระทบของงาน เพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเรานั้นก็มีความหมายต่อองค์กรเหมือนกัน ทั้งยังทำให้กลับมามีสภาพจิตใจที่ดีเหมือนเดิมได้อีกด้วย

2. มุ่งมั่นไปยังเป้าหมายที่ชัดเจน

การทุ่มเทและพยายามกับการทำงานทุกๆ ชิ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นก็อาจสร้างความเหนื่อยหน่าย และทำให้เราขาดแรงจูงใจในการอยากทำงานได้อย่างรวดเร็ว การเลือกจัดลำดับความสำคัญและเลือกโฟกัสอย่างชัดเจนไปทีละงานจะช่วยให้เรามีแรงใจในการทำงานมากขึ้น

3. สร้างนิสัยที่จะช่วยให้ผ่านเรื่องเครียดๆ ไปอย่างง่ายดาย

บางครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้ การมีนิสัยและความสามารถในการจัดการกับทุกความเครียดที่เข้ามานั้น จะทำให้เรามีภูมิต้านทานในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ได้ดี และช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ 

เช่น ให้รางวัลกับทุกความสำเร็จของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเล็กๆ หรือความสำเร็จใหญ่ๆ เมื่อบรรลุเป้าหมายที่ยากลำบากแล้ว ก็อย่าลืมที่จะตอบแทนมันด้วยสิ่งที่ให้เรามีความสุขด้วยล่ะ

4. มองหามุมมองที่จะทำให้สนุกกับการทำงานมากขึ้น

มองหาสิ่งที่เราชอบจากการทำงาน จากนั้นลองปรับลักษณะในการทำงานให้สอดคล้องกับสิ่งที่ชอบ ซึ่งจะทำให้เราสนุกสนานและมีแรงจูงใจมากยิ่งขึ้นในแต่ละวัน พลังงานด้านบวกนี้จะทำให้เรามองเห็นคุณค่าในการทำงานมากขึ้น

5. งานไม่ใช่ทุกอย่าง ยังมีอีกหลายสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย

อย่าผูกคุณค่าของตัวเองไว้กับการทำงานเพียงอย่างเดียว หากหมดไฟ ไม่มีแรงใจในการทำงานก็ไม่ต้องรู้สึกผิด ยังมีกิจกรรมอีกมากหมายที่ทำให้การใช้ชีวิตของเรามีความหมายนะ และบางครั้ง การที่เรายังมีชีวิตอยู่ เท่านี้ก็มีความหมาย

ในวันที่เรารู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า ไม่อยากทำงาน ก็อย่าเพิ่งด้อยค่าตัวเองไปในทางลบ ลองเปิดใจยอมรับในความรู้สึกที่เกิดขึ้น และค่อยๆ ดึงขวัญและกำลังใจกลับมาผ่านเทคนิคทั้ง 5 ข้อข้างต้น เราเชื่อว่าผลลัพธ์ของมันจะต้องออกมาดีอย่างแน่นอน สู้ๆ นะ อย่าเพิ่งท้อใจไปล่ะ!

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Source:

https://hbr.org/2023/07/a-guide-to-motivating-yourself-at-work?ab=at_art_art_1x4_s01