Type to search

‘5 พฤติกรรมทำทีมแตก’ เผยจุดบอดอันตรายที่อาจทำให้การทำงานเป็นทีมพังโดยไม่ทันตั้งตัว

July 26, 2023 By Chananchida Ployplai

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)” อริสโตเติล (Aristotle) นักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์กรีกโบราณได้กล่าวเอาไว้ เราดำรงชีวิตร่วมอยู่กับผู้อื่นในการทำกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่การทำงาน ดังนั้นการทำงานเป็นทีมเป็นจึงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

แน่นอนว่าการทำงานเป็นทีมมีข้อดีจำนวนไม่น้อย อย่างการมีคนช่วยคิดหรือให้คำปรึกษาในเรื่องยากๆ บางครั้งก็อาจทำให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งประสิทธิภาพของชิ้นงานก็จะมีคุณภาพเพราะทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน 

แต่ก็ใช่ว่าการทำงานเป็นทีมจะราบรื่นเสมอไป เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่า ว่าทำไมบางทีทีมของเรามักมีข้อผิดพลาดอยู่บ่อยๆ คนในทีมก็ดูไม่ค่อยเข้าท่า งานที่ออกมาก็ไปคนละทาง คุณภาพก็ไม่เห็นปังเหมือนทีมอื่น

บอกได้เลยว่านี่เป็นสัญญาณเตือนของความวินาศสันตะโรที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า หากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงที โดยเหตุการณ์ทั้งหมดมาจากสิ่งที่หลายๆ คนคิดไม่ถึง นั่นก็คือมาจาก ‘พฤติกรรม’ ของคนในทีมนั่นเอง

พฤติกรรมเล็กๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันระวังนั้นอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่จนสายเกินแก้อย่าง ‘ทีมแตก’ ได้ ซึ่งการที่ทีมแตกคงไม่ใช่สิ่งที่ใครต่อใครปรารถนา มีแต่อยากหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่การที่จะหลีกเลี่ยงได้ เราจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ดังนั้น Future Trends จะมาอธิบายให้ทุกคนเข้าใจ ว่าพฤติกรรมไหนบ้างที่เสี่ยงทำให้ ‘ทีมแตก’ ได้ 

1. การขาดความไว้วางใจ (Absent of Trust) 

สิ่งสำคัญอย่างแรกที่ทีมควรมีให้กันคือความไว้วางใจในการ ‘กล้า’ ที่จะเปิดเผยจุดอ่อนของตนต่อเพื่อนร่วมทีม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกนินทาหรือด้อยความสามารถ หากทีมของเราขาดซึ่งความไว้วางใจให้แก่กันแล้วล่ะก็ เตรียมพบกับรอยร้าวเล็กๆ ของคำว่า ‘ทีม’ ได้เลย

2. การกลัวความขัดแย้ง (Fear of Conflict) 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงไม่มีใครอยากเจอกับความขัดแย้ง แต่ถ้ากลัวจนไม่ต้องการที่จะเผชิญกับมันก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่น้อย แม้ความขัดแย้งจะดูน่ากลัว แต่ในบางครั้งมันก็มีประโยชน์ในเชิงของการค้นพบไอเดียหรือแนวคิดใหม่ๆ รวมไปถึงการแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เข้าทีของคนในทีมได้

3. การไม่ผูกมัดตัวเอง (Lack of Commitment)

ตีความง่ายๆ คือการที่สมาชิกไม่ ‘อิน’ กับงานที่ตนเองกำลังทำร่วมกันกับทีม ไม่ทุ่มเทกับงาน ไม่ใส่ใจหรือสนใจที่จะยอมรับความเห็น รวมไปถึงไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของทีม เรียกได้ว่าไม่ว่าทีมจะตัดสินใจอะไร สมาชิกก็จะเออออไปทั้งที่ในใจอาจไม่เห็นด้วย

4. การหลีกเลี่ยงการมีความรับผิดชอบ (Avoidance of Accountability) 

เมื่อเกิดความรู้สึกไม่ ‘อิน’ ไปกับงาน สมาชิกในทีมก็จะละเลยหน้าที่ของตน รวมไปถึงละเลยเพื่อนสมาชิกด้วยกันเอง เช่น  ไม่กล่าวตักเตือนเมื่อเกิดเพื่อนร่วมทีมทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะคิดว่าไม่ใช่ธุระกงการอะไรของเรา และใช่ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามันเป็นผลพวงมาจากการไม่ผูกมัดตัวเอง

5. ไม่ให้ความใส่ใจกับผลลัพธ์เป้าหมายของทีม (Inattention to Results)

พฤติกรรมสุดท้ายที่อันตรายที่สุด เกิดจากพฤติกรรมเล็กๆ 4 ข้อก่อนหน้ามารวมกัน ได้แก่ การขาดความไว้วางใจ การกลัวความขัดแย้ง ขาดไม่ผูกมัดตัวเอง และการหลีกเลี่ยงการมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ ซึ่งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาคือสมาชิกแต่ละคนต่างสนใจแค่ผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น

5 พฤติกรรมที่มีผลต่อการทำงานเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็น การขาดความไว้วางใจ การกลัวความขัดแย้ง ขาดไม่ผูกมัดตัวเอง และการหลีกเลี่ยงการมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ และ ไม่ให้ความใส่ใจกับผลลัพธ์เป้าหมายของทีม หากมีสักพฤติกรรมเกิดขึ้นกับใครสักคนในทีม พฤติกรรมอื่นๆ ก็จะตามมาตามลำดับ และแน่นอนว่าทุกคนก็คงจะเห็นภาพของความวินาศสันตะโรได้รางๆ แล้วใช่มั้ยล่ะ

ดังนั้น เราจึงควรสำรวจตัวเองและเพื่อนในทีมบ่อย ๆ ว่ามีใครเผลอทำพฤติกรรมข้างต้นไปบ้างหรือเปล่า เพื่อจะได้รู้เท่าทันพฤติกรรมและสามารถปลดระเบิดได้ทันนั่นเอง

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Source:

https://www.runn.io/blog/5-dysfunctions-of-a-team-summary