เพราะหัวหน้าแบบ ‘Partner’ คือหัวใจสำคัญ 3 วิธีบริหารอย่างไรให้ได้ทั้งงาน และใจทีม
ในโลกของการทำงาน การมีงานที่ใช่ เงินเดือนที่ชอบ หัวหน้าที่ดี เพื่อนร่วมงานที่น่ารักนับเป็นหมุดหมายสูงสุดของมนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คน เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้อยากตื่นไปทำงานทุกวันเท่านั้น แต่ก็ยังทำให้ทำงานได้ดี และมีประสิทธิภาพด้วย
สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่อง ‘Happiness at Different Ages: The Social Context Matters’ ของจอห์น เอฟ เฮลลิเวลล์ (John F. Helliwell), แม็กซ์ บี นอร์ตัน (Max B. Norton), ไฮเฟิง ฮวง (Haifang Huang) และชัน หวัง (Shun Wang) ที่พูดถึงเรื่องหัวหน้าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การมีหัวหน้าแบบ ‘พาร์ตเนอร์’ ที่คอยช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกันช่วยให้ความสุขในชีวิตของลูกน้องเพิ่มขึ้นมากกว่าการมีหัวหน้าแบบ ‘บอส’ ที่คอยออกคำสั่งเพียงอย่างเดียว
เห็นได้จากคะแนนความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้น 0.4 คะแนน จากทั้งหมด 10 คะแนนเต็ม อย่างไรก็ตาม แม้ 0.4 คะแนน จะเป็นตัวเลขที่น้อย แต่จริงๆ แล้ว เทียบเท่าได้กับการมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว
อีกทั้ง ผลการศึกษาก็ยังชี้ให้เห็นว่า ตามปกติแล้ว ตลอดช่วงชีวิตหนึ่งความสุขของคนเรามักเป็นไปตาม ‘รูปโค้งตัว U’ ตอนเด็กๆ เรามักจะมีความสุข และพอใจกับชีวิตสูง แต่พอเข้าสู่วัยกลางคนที่ต้องแบกรับความกดดันจากการทำงาน และการเลี้ยงลูก ความสุขเหล่านี้ก็จะลดต่ำลง แต่เมื่อใกล้บั้นปลายชีวิตหรืออายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ความสุขก็มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
นักวิจัยยกตัวอย่างปัจจัยที่ส่งผลกับการลดลงของความสุขในวัยกลางคนว่า อาจเกิดจากความเครียดของงาน และการแต่งงานที่หลายคนมองว่า เต็มไปด้วยความสุข นอกจากนี้ ผลสำรวจของเว็บไซต์แกลแลป (Gallup) ก็ระบุว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของการมีส่วนร่วมในทีมขึ้นอยู่กับหัวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ของลูกน้อง ระดับความผูกพันของหัวหน้า หรือแม้กระทั่งความสามารถของหัวหน้าก็ด้วย
แล้วถ้าเราอยากเป็นหัวหน้าแบบ ‘พาร์ตเนอร์’ ที่ช่วยกระตุ้น Performance และ Productivity ของลูกน้องให้ดีขึ้นต้องทำอย่างไร? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน
1. ฟีดแบ็กแบบเน้น ‘รายบุคคล’
ถึงการฟีดแบ็กจะเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ว่า เป็นหน้าที่ ความรับผิดชอบของหัวหน้า แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำมันได้ดี
หัวหน้าควรฟีดแบ็กอย่างจริงใจ และเปิดเผย โดยเน้น ‘รายบุคคล’ เป็นสำคัญ ทั้งแรงจูงใจ จุดแข็ง จุดอ่อน ข้อบกพร่อง ปัญหา และเป้าหมายที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการฟีดแบ็กในเชิงลบ แม้จะสร้างความอึดอัดให้แก่หัวหน้า และลูกน้อง แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะจะช่วยให้พวกเขาปรับปรุง พัฒนาตัวเองได้ถูก และรับรู้ในความหวังดีของเรา
2. อยากให้งานพัฒนา ต้อง ‘พัฒนาคน’
แม้การพัฒนาลูกน้องจะต้องใช้ต้นทุนกับพลังงานพอสมควร และถ้าวันหนึ่ง พวกเขาเกิดลาออกขึ้นมา นั่นเท่ากับ ทั้งหมดที่ลงทุนไปเท่ากับศูนย์
แต่ในยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอด การพัฒนาทักษะให้ลูกน้องถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เนื่องจาก เป็นการสร้างความสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมฉันท์ ‘พาร์ตเนอร์’ ที่แนบแน่น และเมื่อพวกเขาเก่งขึ้น ก็สามารถกลับมาตอบแทนองค์กรด้วยผลงานที่ดีขึ้น แถมการไม่พัฒนาก็เป็นสร้างต้นทุนการเสียโอกาสไปพร้อมๆ กันด้วย
3. ใช้ ‘พลังมนุษย์เพื่อน’ ให้เป็นประโยชน์
นอกจากหัวหน้าแล้ว ความร่วมแรงร่วมใจของคนในทีมก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกับ Productivity ไม่แพ้กัน ดังนั้น หัวหน้าควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องในทีมได้ทำงานร่วมกัน เพื่อแบ่งปัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
หากนำมาปรับใช้กับปรัชญาของ อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีก คงพูดได้ว่า “The partnership of a manager and their employee is greater than the sum of its parts.” จริงๆ แล้ว ความเป็นพาร์ตเนอร์ของ Manager และพนักงานนั้นยิ่งใหญ่กว่าผลรวมของส่วนต่างๆ ด้วยซ้ำ
ท้ายที่สุด แม้เงินเดือนที่ดีจะซื้อความสุขได้ แค่มีเงิน ความสุขก็พร้อมมาประเคนตรงหน้าหลังเลิกงานแล้ว แต่คงจะดีกว่ามาก หากออฟฟิศเราได้ขึ้นชื่อว่า ‘ดีต่อใจทั้งงาน และเงิน’ นั่นเอง…
Sources: https://wapo.st/3yQCzjv