‘11.11 vs Black Friday’ ศึก Event Shopping 2 ฝั่งทวีปโลก
เดือนพฤศจิกายนในทุกปี เป็นเดือนที่สาย Shopping ไม่ควรพลาด เพราะเต็มไปด้วยอีเว้นท์ลดราคาเด็ดๆ แต่มีอยู่ 2 อีเว้นท์ที่เปรียบเสมือนตัวแทนจาก 2 ฝั่งทวีปโลก “11.11 และ Black Friday” วันนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับทั้งสองว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
[ ความเป็นมาดั้งเดิมของ 11.11 ]
จุดเริ่มต้นอีเว้นท์ Shopping ครั้งใหญ่ของฝั่งทวีปตะวันออก เกิดขึ้นในปี 1993 จากกลุ่มชายหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยหนานกิงที่รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้คู่ครอง ด้วยความเศร้าหมอง กลุ่มชายหนุ่มตัดสินใจที่จะสร้างวันที่เติมเต็มพวกเขา
‘11.11’ วันเหงาสำหรับคนไม่มีคู่
ที่ต้องเป็น 11.11 มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ว่า “เมื่อชายหนุ่ม 4 คน ยืนเรียงกัน แล้วคอตกเพราะเศร้าหมอง มีลักษณะคล้ายกับเลข 1 สี่ตัว”
จนมาถึงปี 2009 แดเนียล จาง CEO ของ E-Commerce ชื่อดังอย่าง ‘Alibaba’ ได้ยกวันที่ 11.11 ขึ้นมาเป็นวันคนโสด ‘Singles Day’ โดยภายในเวลา 24 ชั่วโมง แพลตฟอร์ม Alibaba สามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 52 ล้านหยวน (ประมาณ 258 ล้านบาท)
นับตั้งแต่นั้นมา 11.11 ก็กลายมาเป็นอีเว้นท์สำคัญ สำหรับสาย Shopping ฝั่งทวีปตะวันออก และเป็นอิทธิพลที่ทำให้เกิด การลดราคาในวันและเดือนเดียวกัน เช่น 9.9 10.10 เป็นต้น
[ ความเป็นมาดั้งเดิมของ Black Friday ]
อีกหนึ่งอีเว้นท์สาย Shopping ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝั่งตะวันตก Black Friday มักจะเกิดขึ้นในช่วงวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ โดยจะจัดหลังวันขอบคุณพระเจ้า จุดประสงค์การ Shopping ในอีเว้นท์นี้เพื่อการซื้อสิ่งของเป็นของขวัญให้กับคนในครอบครัวหรือคนรู้จักในวันคริสต์มาส
คำว่า Black Friday ถูกใช้ครั้งแรกประมาณปี 1869 แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวันหยุดหรือการ Shopping เป็นเรื่องราวของตลาดหุ้นและทองคำในสหรัฐอเมริกาที่เกิดเหตุการณ์ราคาตกครั้งใหญ่ ส่งผลให้นักเล่นหุ้นหลายคนเปลี่ยนอาชีพเป็นคนตกงาน และผู้ล้มละลาย
ส่งผลให้เกิดคำว่า ‘Black Friday’ ขึ้นมา
ปี 1961 คาดว่าเป็นปีแรกที่มีการปรับคำว่า Black Friday มาใช้ในด้านของอีเว้นท์ลดราคาสินค้า ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการซื้อสินค้าลดราคาขึ้นในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะส่งต่อไปยังแคนาดา และทั่วโลก โดยจะได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศที่มีพื้นหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา
และยังคงได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
[ ความแตกต่างของ 11.11 และ Black Friday ]
1.เป็นงานอีเว้นท์สำหรับ Shopping ที่มีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันอย่างชัดเจน 11.11 มีกลุ่มเป้าหมายคือการซื้อของผ่าน E-Commerce เป็นหลัก และนิยมในหมู่ทวีปเอเชีย ส่วนของ Black Friday จะเจาะกลุ่มตลาดการซื้อของ Onsite (ภายหลังเริ่มมีการปรับตัวให้ซื้อของผ่าน Online Platform ได้เช่นกัน) และนิยมในหมู่ทวีปอเมริกากลาง รวมถึงประเทศที่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนา
2.ช่วงเวลาของอีเว้นท์จะแตกต่างกัน 11.11 จะตรงตามชื่อคือจัดในวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน ด้วยการลดราคาที่โหดพร้อมทำให้กระเป๋าเงินคุณฟีบลงในทันที ในส่วนของ Black Friday จะจัดเป็นช่วงท้ายของสัปดาห์หลังวันขอบคุณพระเจ้า
สิ่งที่น่าสนใจคือ คนไทยสามารถเข้าถึงอีเว้นท์ทั้งสองได้อย่างแท้จริง ถึงแม้จะไม่มีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องเลยก็ตาม เป็นการปรับใช้เพื่อกระตุ้นยอดขายของแบรนด์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
[ มูลค่าทางเศรษฐกิจ ข้อมูลจากปี 2022 ]
11.11
ถือเป็นงานอีเว้นท์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเยอะมากๆ จากการศึกษาพบว่าไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่สามารถทำได้จากอีเว้นท์นี้ แต่มีการเก็บข้อมูลโดยคาดคะเนจาก 2 แหล่งด้วยกัน
1.Consultancy Syntun ได้คาดคะเนว่ามูลค่าที่เกิดขึ้นใน 11.11 ของปี 2022 มีจำนวนมูลค่าสุทธิอยู่ที่ 128 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.5 ล้านล้านบาทไทย)
2.Xingyun Data ได้อ้างว่ายอดขายที่เกิดขึ้นใน 11.11 มีมูลค่าอยู่ที่ 151 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.3 ล้านล้านบาทไทย)
ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่ามูลค่าของ 11.11 จะอยู่ที่ 128 – 151 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงมาก ทั้งๆ ที่อีเว้นท์กำเนิดขึ้นได้มาสิบกว่าปีเท่านั้น
Black Friday
ในส่วนของ Black Friday ก็เป็นที่นิยมมากนานมาหลาสิบปี ในส่วนของมูลค่าที่สามารถทำได้ทั้งหมด ในปี 2022 นั้น อยู่ที่ 65.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาทไทย) โดยเป็นยอดที่รวมจากทั้งร้านค้าขายปลีก ห้างสรรพสินค้า และการซื้อของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
เราจะเห็นได้ว่า 11.11 สามารถทำเงินได้มากกว่า Black Friday ค่อนข้างมาก อาจจะเป็นเพราะปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งวัฒนธรรมที่ Black Friday มีจุดประสงค์เพื่อซื้อของฉลองวันคริสต์มาส กลับกัน 11.11 อาจจะไม่ได้มีวัฒนธรรมเหล่านี้มาเป็นตัวแปร ก็แค่วัน Shopping วันหนึ่งที่ลดราคาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอีเว้นท์ก็ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สาย Shopping ไม่ควรพลาด แต่ก็ต้องระวังในการซื้อของด้วย จะซื้อจนหมดตัวไม่ได้นะ 🙂
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources: https://www.britannica.com/story/why-is-it-called-black-friday
https://www.alizila.com/11-11-global-shopping-festival/
https://queue-it.com/blog/singles-day-statistics/
https://queue-it.com/blog/black-friday-statistics/
https://www.facebook.com/photo/?fbid=752588200242833&set=a.649142877254033