Type to search

‘เป็นไปได้ ไม่มีปัญหา หรือว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม’ คน Gen Z ในวันนี้ พร้อมแล้วหรือยังกับการเป็นผู้นำตามแบบฉบับคนรุ่นใหม่

August 04, 2023 By Chananchida Ployplai

Gen หรือ Generation หมายถึง การแบ่งกลุ่มประชากรตามหลักประชากรศาสตร์ โดยใช้ช่วงปีที่เกิดเป็นตัวแบ่ง Gen ซึ่งถ้าหากใครเคยได้ยินคำว่า Baby Boomer เจน Y  เจน X หรือเจน Z แปลว่าเราได้ทำความรู้จักกับ Generation เข้าให้แล้ว

Gen Z หมายถึงกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปีค.ศ.1995 ถึง 2010 เทียบได้กับปีพ.ศ. 2538 ถึง 2553 โดยถือเป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น ซึ่งทำให้คน Gen Z มีความสามารถในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว

ปัจจุบัน จำนวนประชากรของคน Gen Z นั้นมีมากถึง 2.5 พันล้านคน ซึ่งนับเป็นกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลกทั้งหมด ทำให้ Gen Z มีแนวโน้มที่จะมีอำนาจในตลาดแรงงาน รวมไปถึงสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้ 

ในมุมมองด้านธุรกิจ พนักงานรุ่นใหม่ที่อายุน้อยจึงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหลายบทบาท รวมไปถึงบทบาทของ ‘ผู้นำ’ ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าคนอายุน้อยจะขึ้นเป็นเจ้านาย หัวหน้า หรือเจ้าของธุรกิจ 

Elle De Freitas วัย 31 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทการตลาดอย่าง Wonderkind ได้เปิดเผยกับทาง BBC ว่าถึงแม้ตัวเธอจะเป็นผู้นำที่มีอายุน้อยกว่าผู้บริหารทั่วไป อีกทั้งพนักงานที่มีตำแหน่งอยู่ในระดับ C-suite ของเธอยังมีอายุไม่เกิน 26 ปี แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลต่อการทำงาน แถมบริษัทของเธอยังประสบความสำเร็จอย่างมากอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยวัฒนธรรมของการเป็น ‘ผู้นำ’ ที่มักจะมีอายุและประสบการณ์มาเกี่ยวข้องนั้น ทำให้น่าชวนคิดว่า คน Gen Z ที่เป็นหนุ่มสาวไฟแรง ‘พร้อม’ หรือยังกับการเป็นผู้นำฉบับคนรุ่นใหม่?

ช่องว่างของประสบการณ์ (The experience gap)

ผู้นำอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกือบหนึ่งในสามของ CEO ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ในปี 2022 นั้นมีอายุน้อยกว่า 50 ปี โดยข้อมูลจาก McKinsey & Company ยังแสดงให้เห็นอีกว่าคนหนุ่มสาวมีแรงจูงใจที่จะมาตัวเองไปยังตำแหน่งสูงสุด แต่ด้วยอายุและประสบการณ์ที่มีไม่มาก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนคิดว่าสิ่งนี้ อาจทำให้เกิดอุปสรรคในการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้ 

ตัวอย่างเช่น การที่ยังไม่พบวงจรของการทำธุรกิจที่หลากหลายมากพอ การขาดประสบการณ์ในการเรียนรู้ทักษะในการบริหาร บางครั้งก็อาจจะขาด Soft skills ในด้านการควบคุมอารมณ์ หรือการปรับตัวเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

หลากหลาย ใจกว้าง เข้าถึงดิจิตอล

ด้วยความที่ Gen Z นั้นเติบโตมากับสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้กับสิ่งดิจิตอลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งได้เปรียบกว่าผู้นำที่อยู่ในช่วงวัยอื่น อีกทั้งยังมีความหลากหลายและยอมรับในความหลากหลายนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเพศ หรือเชื้อชาติก็ตาม รวมไปถึงมีการศีกษาที่ดีอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความท้ายในยุคที่เทคโนโลยีกำลังหมุนรอบตัวเรา

‘I knew in my soul’ คน Gen Z ศรัทธาในจิตวิญญาณของตัวเอง

Gen Z บางคนยอมรับและรู้ว่าตนเองนั้นอาจจะมีประสบการณ์ที่ไม่เท่ากับผู้นำในวัยอื่นๆ พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อในจิตวิญญาณของตัวเอง เพื่อที่จะมุ่งมั่นและพาตนเองไปหาความสำเร็จได้ 

Jake Bjorseth ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อออกตามหาแนวคิดทางธุรกิจ และในวัย 24 ปี เขาได้เป็นเจ้าของ Trndsttrs บริษัท Agency โฆษณาที่ผลิตคอนเทนต์ทางการตลาดให้แบรนด์ต่างๆ รวมไปถึง Denny’s, Loreal และ The North Face

ในช่วงแรก เขารู้สึกแย่กับการที่ขาดประสบการณ์ คอนเนคชัน รวมไปถึงการศึกษาที่ผู้นำทั่วๆ ไปพึงมี ‘ทุกคนรอบตัวบอกว่าผมทำพลาด’ เขากล่าว แต่อย่างไรก็ตาม Bjorseth ก็เชื่อในจิตวิญญาณและความสามารถของตนว่าจะสามารถบริหารงานได้ และเขาก็ทำได้ดีจริงๆ

สุดท้ายแล้ว ไม่ได้มีช่วงวัยไหนที่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำ จะอายุเยอะหรืออายุน้อย เราก็สามารถที่จะรับหน้าที่ในบทบาทนี้ได้ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำวัยผู้ใหญ่ หรือผู้นำวัยหนุ่มสาวก็สามารถมีจุดแข็งและจุดอ่อนได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะดึงหรือพัฒนามันให้ดีขึ้นได้อย่างไรนั่นเอง

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Sources:

https://www.voced.edu.au/content/ngv%3A93842

.

https://www.bbc.com/worklife/article/20230727-are-gen-z-ready-for-leadership