‘อยู่ดีๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ’ ว่าด้วยเรื่องของการ Ghosting ที่อีกฝ่ายชอบมาๆ หายๆ อย่างกับผี ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องความสัมพันธ์
‘สวัสดีค่ะพี่แจ็ค เรื่องมันเริ่มจากตอนที่เขาขอตัวไปอาบน้ำแล้วไม่กลับมาอีกเลย..’ เรื่องเล่า(เกือบ)สยองขวัญในรูปแบบนี้ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนคงพบเจอกันมาบ้าง กับการที่เราคุยกับใครสักคน แล้วอีกฝ่ายขอตัวไปทำธุระ ไม่ว่าจะกินข้าว ดูหนัง หรืออาบน้ำ และถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาเพียงสั้นๆ แต่พวกเขาก็แทบไม่เคยกลับมาตอบหรืออธิบายให้เรารู้เรื่องเลยสักครั้ง
ความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าวมีชื่อเรียกด้วยนะ โดยเราจะเรียกมันว่า ‘Ghosting Relationship’ หรือความสัมพันธ์แบบผีๆ เป็นการยุติความสัมพันธ์แบบกะทันหันและไม่มีสัญญาณเตือน อธิบายง่ายๆ คือการที่อีกฝ่ายทำตัวเหมือน ‘ผี’ นึกจะมาก็มา นึกจะไปก็ไป โดยไม่มีคำอธิบายอะไรสักอย่าง และปล่อยให้คนที่คิดมากเป็นตัวเราแทน
ในปัจจุบัน การใช้โซเชียลและแอปพลิเคชันในการหาคู่นั้นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และได้เปลี่ยนวิธีที่เราใช้สานสัมพันธ์กับคนอื่นไปอย่างสิ้นเชิง โดยเราสามารถคุยกับใครก็ได้ และสามารถยุติความสัมพันธ์นั้นได้ง่ายๆ เช่นกัน จึงทำให้ปรากฏการณ์ ‘Ghosting’ เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Leah LeFebvre รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Alabama ได้อธิบายถึงแนวโน้มของช่วงวัยที่มักเกิดการ ‘Ghosting’ เอาไว้ว่า คนหนุ่มสาวมีโอกาส Ghosting มากกว่าช่วงวัยอื่นๆ เนื่องจากผู้คนในช่วงวัยนี้ต้องการสํารวจแง่มุมต่างๆ ของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการออกเดทและการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งรวมไปถึงรสนิยมทางเพศ การศึกษา โซเชียล และความสัมพันธ์ในครอบครัว
ซึ่งโดยทั่วไปเรามักจะคิดว่าการที่ความสัมพันธ์จบลงไป อาจมีสาเหตุมาจากความเบื่อหน่ายเพียงอย่างเดียว แต่วิจัยของ LeFebvre อธิบายว่า อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่กระตุ้นให้ฝ่ายหนึ่งเริ่ม Ghosting เช่น ความปลอดภัยส่วนบุคคลและการรักษาสุขภาพจิต
แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร คนที่โดนผีหลอกก็ไม่สนุกด้วย เพราะผีตนนั้นได้ทิ้งคำถามที่ไร้คำตอบเอาไว้มากมาย อย่างเช่น ‘เราไม่ดีตรงไหน เราทำผิดอะไร’ ทั้งยังทิ้งความรู้สึกเชิงลบไว้อีกด้วย ซึ่งทำให้คนโดน ‘ผีหลอก’ ต้องจมอยู่กับความรู้สึกเศร้าๆ ไปอีกสักพักใหญ่ๆ จนบางทีอาจทำให้ไม่กล้ามีความรักต่อไปเลยล่ะ 😣
แน่นอนว่าการ ‘Ghosting’ ไม่ได้เกิดแค่ในความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรอกนะ เพราะในที่ทำงานก็เกิดได้เหมือนกัน! ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบนายจ้างหรือแคนดิเดตก็ตาม ถ้ายังงงๆ เดี๋ยวจะยกตัวอย่างให้ดู 👀
[ กรณีนายจ้าง Ghosting ]
นางสาว A สมัครงานกับบริษัทหนึ่ง และผ่านขั้นตอนการสัมภาษณ์ทั้งหมดจนได้รับการเสนองาน แต่นายจ้างกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่มีการตอบรับหรือปฎิเสธ ราวกับว่านางสาว A ไม่เคยถูกสัมภาษณ์มาก่อน…
[ กรณีแคนดิเคต Ghosting ]
บริษัท B เปิดรับสมัครพนักงานประจำ และได้ทำการเฟ้นหาแคนดิเดตที่มีความสามารถที่สุด จนพบกับนาย C ซึ่งนาย C เองก็ได้เซ็นสัญญาตกลงกับบริษัทเรียบร้อย แต่เมื่อวันเริ่มงานมาถึง จู่ๆ นาย C ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ โทรไม่รับ ทิ้งให้บริษัท B ต้องอยู่กับเก้าอี้ว่างๆ ที่ไม่มีคนนั่ง
บางครั้ง การ Ghosting ในที่ทำงานก็อาจจะดูเป็นเรื่องปกติ โดยมีเหตุผลประกอบอย่าง ‘คุณสมบัติไม่ตรง ไม่เห็นจะต้องติดต่อกลับไป’ ‘เสียเวลา’ หรือจะเป็น ‘เจองานที่ดีกว่า ออกๆ ไปก็ไม่เป็นไรหรอก’ แต่ในความเป็นจริงอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงมากกว่าที่คิดนะ
ประการแรก นายจ้างมักจะจำได้ว่าผู้สมัครคนไหนที่เคย Ghosting ใครจะรู้ อนาคตข้างหน้าเราอาจมีความจำเป็นที่จะกลับมาสมัครงานในบริษัทเดิมก็ได้นี่นา และแทบไม่ต้องพูดถึงบรรยากาศ เพราะยังไงก็มาคุแน่นอน
อีกประการหนึ่ง คือความจริงที่ว่าโลกของเรากลมกว่าที่คิด หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งทำการ Ghosting อยู่บ่อยๆ ไม่แน่ว่าแคนดิเดตหลายๆ คนก็อาจจะแบ่งปันประสบการณ์ที่พวกเขาเคยเจอให้กับคนอื่นฟัง จนทำให้บริษัทมีชื่อเสียง ‘ด้านลบ’ ก็ได้
จะเห็นได้ว่าการ Ghosting หลอกผีคนอื่นไปเรื่อยๆ เนี่ยไม่ค่อยจะส่งผลดีสักเท่าไหร่ ทั้งในแง่ของคนทำและของคนโดนกระทำ ทั้งเสียชื่อเสียง เสียความรู้สึก และแสดงถึงการไม่เป็นมืออาชีพ เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะหายไปเฉยๆ ก็ให้เรียนรู้ที่จะปฏิเสธกับสิ่งที่เราไม่ต้องการ หรือลาออกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อรักษาชื่อเสียงและยังทำให้เราสามารถกลับไปร่วมงานกับบริษัทเดิมได้ในอนาคตข้างหน้า
นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะ Move on กับการ Ghosting ในอดีต เพราะการที่เรายังจมอยู่ที่เดิม อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ทางอาชีพ และความสัมพันธ์กับนายจ้างและเพื่อนร่วมงานในอนาคตก็เป็นได้
เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
Sources: