Type to search

เมื่อหน้าจอเคลื่อนไหวเร็วไปจนสมองปรับตัวไม่ทัน รู้จัก ‘TikTok Brain’ ภัยเงียบที่แฝงมากับความสนุกเพียงปลายนิ้วสัมผัส .

July 05, 2023 By Chananchida Ployplai

‘TikTok’ แพลตฟอร์มให้ความบันเทิงผ่านคลิปวิดีโอสั้นๆ จากแดนมังกร ที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมในแค่ประเทศจีน แต่กำลังขยายความนิยมไปทั่วโลก ด้วยสถิติจำนวนผู้ใช้ที่มากกว่า 1,000 ล้านคน

ด้วยรูปแบบของแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้อย่างไม่ซับซ้อน มีเนื้อหาที่หลากหลาย ทำให้คนทุกเพศและทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังมีอัลกอริทึมที่นำเสนอเนื้อหาโดยอ้างอิงจากสิ่งที่ผู้ใช้สนใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่แอปพลิเคชันนี้จะ ถูกจัดให้เป็น “Top App Worldwide Q1” ที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุดในโลก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสนุกของ ‘TikTok’ มาจากการที่เราสามารถเลื่อนดูคลิปวิดีโอที่น่าสนใจผ่านการสัมผัสแค่ปลายนิ้วในระยะเวลาสั้นๆ แต่รู้ไหมว่า ทุกการสัมผัสหน้าจอแต่ละครั้ง กลับแฝงไปด้วยภัยอันตรายที่เราอาจถูกจู่โจมแบบโดยไม่รู้ตัว! 

[ TikTok Brian ภัยเงียบที่แฝงมากับความสนุกจากปลายนิ้วสัมผัส ]

TikTok Brain เป็นพฤติกรรมสมองของมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok นั่นคือการดูคลิปวิดีโอสั้นๆ และสัมผัสหน้าจออย่างรวดเร็วเพื่อตามหาคลิปวิดีโอที่ถูกใจใหม่ ซึ่งความเร็วนี้นี่แหละที่จะทำให้สมองไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมนอกจอโทรศัพท์ได้ เพราะสิ่งรอบตัวนั้นไม่ได้เคลื่อนไหวได้เร็วเท่ากับในคลิปบน TikTok 

สิ่งที่ตามมาคือการที่เราจะไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดได้นานๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน อ่านหนังสือ ดูภาพยนต์ หรือกระทั่งการทำโปรเจ็กต์เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับทางบริษัท นั่นก็เป็นเพราะว่าสมองของเราเคยชินกับอะไรที่ ‘สั้นๆ’ และ ‘รวดเร็ว’ ไปแล้วนั่นเอง

เช่นเดียวกับที่ “เจมส์ วิลเลียมส์” นักวิชาการจากออกซฟอร์ด (Oxford) ได้กล่าวถึงความสนุกในการใช้งาน TikTok ไว้ว่า “มันมีลักษณะคล้ายกับการให้เด็กๆ กินของหวานจนติดเป็นนิสัย และเมื่อใดก็ตามที่ผู้ใหญ่ต้องการให้พวกเขาหยุด เพื่อที่จะได้กินอาหารมีประโยชน์บ้าง นั่นก็อาจจะสายเกินแก้ไข”

[ TikToK ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ] 

การใช้งาน TikTok มากเกินไป ไม่เพียงส่งกระทบผลต่อสมองอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลยังสุขภาพทางจิตใจของเราอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล การเกิดความผิดปกติในการรับประทานอาหาร รวมไปถึงการเสพติด TikTok จนก่อให้เกิดภาวะการนอนไม่หลับตามมา

[ แล้วเราจะรีเซ็ตสมองได้อย่างไรบ้าง]

1. ตั้งค่าการใช้งานแอปพลิเคชันให้เหมาะสม

ในกรณีของเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรที่จะตั้งค่าเพื่อให้การใช้งานแอปพลิเคชันเป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด อย่างเช่นการตั้งเวลาจำกัดการใช้งาน การเปิดโหมดจำกัดเนื้อหา และการตั้งค่าปิดรับข้อความจากผู้อื่น

2. ใช้ตัวช่วยในการตรวจสอบระยะเวลาการใช้งาน

หมั่นตรวจเช็ก Screen Time ในการใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ของเด็กๆ และตัวเองอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงระยะเวลาในการใช้ให้เหมาะสมกับช่วงวัย

3. จำกัดการใช้งานอุปกรณ์

หากเราไม่สามารถควบคุมระยะเวลาในการใช้งาน TikTok ได้ มาตรการต่อมาคือการจำกัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือ และหันไปใช้คอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปแทน ระยะเวลาในการค้นหาที่ช้าลง จำทำให้มีเรามีสมาธิและสามารถโฟกัสได้มากขึ้น

4. โซนปลอด TikTok

หาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อตั้งกฎการห้ามใช้แอปพลิเคชัน TikTok บริเวณนั้น เช่น บนโต๊ะอาหาร ในห้องนอน และเลือกทำกิจกรรมอื่นๆ หรือพักผ่อนให้เพียงพอแทน ซึ่งมาตรการนี้ไม่เพียงแต่ใช้ได้ที่บ้าน แต่ยังสามารถนำมาปรับใช้กับที่ทำงานได้อีกด้วย

5. จัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ‘จอ’

แม้ว่าในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือจะเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของร่างกาย แต่ก็ใช่ว่าเราจะขาดมันไปไม่ได้ การจัดกิจกรรม ‘ไร้จอ’ จะช่วยให้เราอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น อย่างเช่น การออกกำลังกาย การไปสวนสาธารณะ ซึ่งการได้พบผู้คนจากการทำกิจกรรมต่างๆ ยังช่วยให้สมองฟื้นฟูอีกด้วย

TikTok เป็นแอปพลิชันที่ให้ความสนุกเพลิดเพลิน แต่ก็แฝงมาด้วยภัยร้ายที่เราอาจจะคาดไม่ถึง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีสิ่งใดบนโลกที่เป็นคุณอย่างเดียว และไม่มีสิ่งใดที่เป็นโทษอย่างเดียวเช่นกัน ดังนั้น เพียงแค่เรารู้ที่จะจัดการหรือใช้งานสิ่งนั้นได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษ เราก็จะหาประโยชน์ที่ซ่อนเร้นอยู่ได้นั่นเอง

เขียนโดย: ชนัญชิดา พลอยพลาย

Source: https://gamequitters.com/tiktok-brain