สรุปดราม่า ซีอีโอ TikTok บุกสภาสหรัฐฯ ตอบคำถามดุเดือด ยืนยันไม่เกี่ยวข้องรัฐบาลจีน
นานๆ ทีสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา จะมีผู้บริหารระดับซีอีโอบริษัทเอกชนต่างชาติเดินทางไปให้ปากคำ โดยหนึ่งในซีอีโอต่างชาติคนดังคนท้ายๆ ที่เคยทำอย่างนั้น คือ ซีอีโอของ Toyota ที่ไปตอบคำถามนักการเมืองอเมริกา กรณีบริษัทเรียกคืนรถยนต์หลายล้านคันในปี 2010
ส่วนในเคสของซีอีโอ TikTok ที่ชื่อว่า โซว จื่อ โจว (Shou Zi Chew) ชาวสิงคโปร์ วัย 40 ปี การไปสภาคองเกรสครั้งนี้ เหมือนไป ‘ขึ้นเขียง’ ให้นักการเมืองอเมริกันเชือด โดยมีอนาคตธุรกิจโซเชียลมีเดียชื่อดังของจีนเป็นเดิมพัน
บรรยากาศการให้ปากคำ ซึ่งใช้เวลานานประมาณ 5 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2023 ตามเวลาในสหรัฐฯ เป็นไปอย่างดุเดือด มีนักการเมืองอเมริกันกว่า 50 คน จากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต สลับกันมายิงคำถามใส่ซีอีโอ TikTok แบบที่เรียกว่า “ไม่ปรานีปราศรัย”
Future Trends ขอสรุปดราม่า ซีอีโอ TikTok ปะทะนักการเมืองอเมริกามาให้ทราบดังนี้
1. การเข้าให้ปากคำต่อสภาคองเกรสของโจว มีขึ้นเพื่อพยายามโน้มน้าวให้รัฐสภาอเมริกา เลิกล้มความคิดในการแบน TikTok หรือบังคับให้เจ้าของชาวจีนขายกิจการ เพื่อหลีกเลี่ยงความวิตกของรัฐบาลอเมริกาเรื่องความมั่นคงปลอดภัย
2. เรื่องที่รัฐบาลอเมริกันแสดงความวิตกหลักๆ คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง TikTok กับรัฐบาลจีน ซึ่งอาจเปิดทางให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน สอดแนมชาวอเมริกันและใช้เป็นช่องทางเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ ที่สำคัญยังเป็นแอปที่มอมเมาเยาวชน และทำให้เด็กวัยรุ่นอเมริกันที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตกอยู่ในอันตราย
3. ยอดผู้ใช้ TikTok ในอเมริกามีทั้งหมด 150 ล้านคน โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยพิว พบว่า เด็กวัยทีนส์ในอเมริกา 67 เปอร์เซ็นต์ เล่น TikTok ขณะเดียวกัน บริษัทนี้ยังจ้างพนักงานในสหรัฐฯ ประมาณ 7,000 คน
4. ซีอีโอ TikTok เริ่มต้นการชี้แจงด้วยความพยายามชี้ให้เห็นว่า การแบน TikTok อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรับรองตามรัฐธรรมนูญอเมริกา และชี้ว่า มีบรรดาครีเอเตอร์ และธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่สามารถหารายได้จากช่องทางนี้
5. โจวพยายามชี้แจงว่า TikTok มีข้อกำหนดมากมายที่ช่วยกรองคอนเทนต์ที่เป็นอันตรายและไม่เหมาะสมไม่ให้ถูกเผยแพร่ นอกจากนี้ยังพยายามปกป้องเยาวชน ด้วยการออกกฎใหม่เพื่อจำกัดการใช้งานเหลือวันละ 60 นาที ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และขึ้นข้อความแจ้งเตือนผู้ใช้อายุ 13 – 17 ปี ที่ใช้งานเกินวันละ 60 นาทีเช่นกัน
6. ประเด็นความวิตกเรื่องข้อมูลรั่วไหลไปจีน ซีอีโอ TikTok ระบุว่า บริษัทมีแผนเรียกว่า ‘โปรเจกต์ เท็กซัส’ ใช้งบ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้าง firewall ขึ้นมา โดยข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้งานในอเมริกา จะถูกส่งไปเก็บในเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท Oracle ในรัฐเท็กซัส บนแผ่นดินอเมริกา และควบคุมดูแลโดยพนักงานชาวอเมริกัน
7. โจวพยายามรักษาระยะห่างจากรัฐบาลจีน ด้วยการย้ำว่า เขาเกิดในสิงคโปร์ และใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา พร้อมลูกๆ อีก 2 คน ที่สิงคโปร์ โดยภรรยามีสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิดเพราะเกิดในรัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐฯ และก่อนหน้านั้นก็ย้ำว่า ตัวเขาเองได้เข้าเรียนในโรงเรียนบริหารธุรกิจในสหรัฐอเมริกาด้วย
8. อย่างไรก็ตาม เมื่อนาเนตต์ บาร์ราแกน ส.ส.จากเดโมแครต ถามจี้ว่า โจวให้ลูกๆ เล่น TikTok หรือไม่? ซีอีโอ TikTok ยอมรับว่า ลูกๆ ของเขาไม่เคยเล่น เพราะสิงคโปร์มีกฎห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ใช้แอปนี้ แต่ที่อเมริกาไม่มีข้อห้าม ดังนั้น ถ้าลูกของเขามาอเมริกา เขาบอกว่า จะให้เด็กๆ ใช้ TikTok
9. แม้ซีอีโอ TikTok ยืนกรานว่า บริษัทไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน และไม่เคยถูกร้องขอให้ส่งข้อมูลชาวอเมริกันให้ทางการจีน รวมทั้งมีแผนเก็บข้อมูลผู้ใช้งานทั้งหมดไว้ในอเมริกา แต่สุดท้ายก็ยอมรับว่า วิศวกรชาวจีนจาก ByteDance บริษัทแม่ในกรุงปักกิ่ง ยังคงสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้
10. The Wall Street Journal รายงานว่า กองทุนที่สนับสนุนโดยองค์กรดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ของจีน ถือหุ้นใน ByteDance อยู่ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเรียกกันว่า “หุ้นทองคำ” เพื่อเปิดทางให้ผู้คุมกฎของจีนเข้ามานั่งเป็นบอร์ดบริหารของบริษัท มีอำนาจลงคะแนนและกำหนดทิศทางธุรกิจขององค์กรได้
11. ความพยายามรักษาระยะห่างจากจีนของซีอีโอ TikTok ยังคงไม่เป็นผล เมื่อสุดท้ายเขาถูกซักประวัติจนต้องยอมรับว่า ตนเองมีหุ้นใน ByteDance เคยเป็นหัวหน้าผู้บริหารการเงินให้ ByteDance และยังต้องคอยรายงานตรงต่อ ‘เหลียง รูโบ’ ซีอีโอของ ByteDance
12. ก่อนเริ่มให้ปากคำไม่กี่ชั่วโมง กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์คัดค้านความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการบังคับให้ ByteDance ขายหุ้นบริษัท TikTok เพื่อแลกกับการรอดพ้นโทษแบน ขณะที่สมาชิกสภาคองเกรสหลายคน นำแถลงการณ์ดังกล่าวมาตอบโต้ซีอีโอ TikTok เพื่อยืนยันว่า จีนมีอิทธิพลเหนือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนี้
13. ก่อนหน้านี้ อเมริกาเคยแบนบริษัทสื่อสารจีนทั้ง Huawei และ ZTE ส่วนจีนแบนบริษัทผู้รับเหมาด้านกลาโหมของอเมริกา อย่าง Lockheed Martin และ Raytheon Technologies เพื่อตอบโต้
14. นอกจากนี้ จีนยังแบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจากอเมริกาทั้งหมด ไม่ว่า Facebook, Instagram, Twitter หรือแม้แต่เสิร์ชเอนจิ้นอย่าง Google ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานในแดนมังกร
15. “ผมอยากพูดแบบนี้กับเด็กวัยรุ่นทุกคนที่อยู่ข้างนอก รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ TikTok ทั้งหลายซึ่งมองว่า พวกเราก็แค่แก่และเข้าไม่ถึง… พยายามพรากแอปที่พวกคุณชื่นชอบไป คุณอาจไม่สนใจว่า ตอนนี้ข้อมูลของคุณกำลังถูกล้วงได้ แต่สักวันหนึ่งคุณจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น” แดน เครนชอว์ ส.ส.รีพับลิกัน จากเท็กซัส กล่าวส่งท้าย ก่อนการ ‘รุมกินโต๊ะ’ ซีอีโอ TikTok อันยาวนานจะปิดฉาก ท่ามกลางบรรยากาศที่เรียกว่า “ดุดันไม่เกรงใจใคร” เลยจริงๆ
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Sources: http://bit.ly/3TI2fs4