“กูจะลาออก” ทำไมถึงเป็นคำที่คนพูดไม่ลาออก แต่คนลาออกไม่พูด
คอลัมน์: TalkกะTips
เขียน: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
ตอนเด็กๆผมชอบบิลลี่ โอแกนมากเป็นนักร้องร็อกเข้มๆมีสไตล์เฉพาะตัว บิลลี่มีเพลงฮิตยอดนิยมเพลงหนึ่งชื่อว่า “ลาออก” (ขออภัยคนเกิดไม่ทัน) เนื้อเพลงมันจะประมาณนี้
“นั่งทำงานหลายปียังไม่ไปไหน เหนื่อยจะตายเจ้านาย
ยังไม่เหลียวแล ให้เงินเดือนนิดเดียว
เลยต้องยอมแพ้ ก็เจ้านายไม่แฟร์อยู่ก็ท้อใจ
เสียเวลาน่ะเสียเวลา ออกอย่างนี้ต้องลาออก
จะขอลาออกประท้วงคนงกนัก
อย่างนี้ต้องลาออก อย่างนี้ล่ะต้องออก
จะขอลาออกรู้แล้วรู้รอดไป”
ซึ่งสะท้อนภาวะสุดจะทนของลูกจ้าง ซึ่งการตัดสินใจลาออกของคนๆหนึ่งนั้นมีปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป บ้านก็เป็นสภาพการจ้างงาน ตำแหน่งงานที่ไม่ก้าวหน้า เงินเดือนที่ไม่สมดุลกับงาน หรืองานที่ไม่ฟิตกับเงื่อนไขชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่น่าสนใจว่าคนมักจะชอบเปรยกันว่า “กูจะลาออก” ให้ได้ยินบ่อยๆ แต่คนพวกนี้มักจะไม่ลาออก เพราะส่วนมากมักจะเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบ หรือบางทีก็ไม่ได้มีที่ไป
เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นเอชอาร์หลายคนมักจะบอกว่าคนที่จะลาออกส่วนมากไม่มีสัญญาณมาก่อน หรือเคลื่อนไหวน้อยที่สุดไม่ป่าวประกาศไปทั่วว่าจะลาออกๆๆๆ เพราะอะไร? ก็เพราะว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เลือกที่จะ “ลาออกอย่างมีคุณภาพ” ก็คือมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า มีการประเมินแล้วว่าก้าวต่อไปจะไปที่ไหนเพื่อให้มีโอกาสที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งล้วนมักจะตัดสินใจบนข้อมูลเปรียบเทียบ ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และตำแหน่งงาน โดยมักจะทำเงียบๆ และแอบไปสัมภาษณ์งานจนรู้สึกเลือกได้แล้วว่าจะไปที่ไหนถึงจะตัดสินใจยื่นใบลาออก
แต่สำหรับคนที่ป่าวประกาศเช้าเย็นว่าจะลาออกนั้น น้อยคนที่จะลาออกทันทีหรือในระยะเวลาอันสั้นหลังประกาศ ส่วนหนึ่งเพราะแท้จริงเขาไม่ได้อยากลาออกประเภทประโยคลาสสิกจากภาพยนตร์ “ลัดดาแลนด์” ที่กล่าวว่า
“กูไม่ออก ออกแล้วจะเอาอะไรแดก”
ก็มีเยอะแยะ ส่วนมากเป็นการระบายความอึดอัดหรือเรียกร้องเงื่อนไขที่ดีกว่า ซึ่งมุกแบบนี้ถ้าใช้บ่อยๆทางองค์กรก็อาจจะเอือมระอาได้ บางทีจากลาออกก็อาจจะเป็นถูกบีบให้ออกหรือเชิญให้ออกแทนก็เป็นได้ เพราะองค์กรก็คงไม่อยากให้เหลือแต่คนที่ไม่มีที่ไปไว้ในองค์กร บางทีอาจจะกลายเป็นปัญหาบานปลายด้วยซ้ำ
ซึ่งการพูดคำดังกล่าวบ่อยๆมันก็เป็นพลังลบให้กับตัวเราเองในการบั่นทอนว่าฉันไม่ได้อยากทำงานนี้แล้วแต่จำเป็นต้องทำเพ่อให้อยู่รอด ดังนั้นถ้าจะลาออกจริงๆ ควรหาทางเลือกไว้ให้เหมาะสมกับที่อยากจะก้าวต่อไปดีกว่า เพราะดูเป็นทางเลือกที่แฮปปี้กันทั้งสองฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
คิดเยอะๆก่อนตัดสินใจ เวลายื่นเอกสารลาออกไปก้เหมือนสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับ ตัดสินใจเพียงชั่ววูบผ่านแลวก็ผ่านเลยไปเช่นกัน