ผู้นำโลกสนใจเรื่องอะไรในปี 2023 เก็บตก 4 เรื่องใหญ่ที่ผู้นำใน WEF พูดคุยกันมากที่สุด
World Economic Forum (WEF) เป็นงานประชุมประจำปีที่มีผู้นำทั้งภาคธุรกิจ การเมือง และสังคมหลากหลายองค์กรมารวมตัวกันมากที่สุด จัดขึ้นทุกปีที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยปีนี้ (2023) มีผู้นำกว่า 1,500 คนทั่วโลก เดินทางมาเข้าร่วม
แม้การประชุมจะปิดฉากลงไปแล้ว แต่ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเวทีนี้ ยังคงเป็นที่จับตา และคาดว่าจะเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลกในปัจจุบัน และอนาคต
สำนักข่าว Business Insider สรุป 4 หัวข้อใหญ่ ซึ่งถูกพูดถึงมากที่สุดในการประชุม WEF ปีนี้ จากการพูดคุยกับบรรดาซีอีโอ มหาเศรษฐี ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงผู้นำรัฐบาลที่เดินทางมารวมตัวกัน
โดย 4 หัวข้อใหญ่ ที่ผู้นำทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุด มีดังต่อไปนี้
1. เศรษฐกิจถดถอยมาแน่ แต่ไม่น่าวิตกมาก
ผู้นำหลายคนจากทั่วโลก ไม่ว่าจะมาจากนิวยอร์ก มิวนิก ลอนดอน ซูริก หรือเซี่ยงไฮ้ ล้วนพูดถึงภาพเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเลวร้ายน้อยลง บางคนชี้ว่าเป็นผลมาจากการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีน โดยผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การจับจ่ายสินค้าหรู และยอดขายในภัตตาคารร้านค้า จะเห็นผลชัดเจนภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างจีน – สหรัฐฯ ก็มีสัญญาณเชิงบวก เมื่อรองนายกฯ หลิว เหอ ของจีน กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุม เน้นย้ำความสำคัญของ “การกระชับความร่วมมือกันระหว่างประเทศ”
ขณะที่ระหว่างมีการประชุม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ส่งสัญญาณเชิงบวกจากตัวเลขเงินเฟ้อชะลอตัวลง การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และยอดคนขอสวัสดิการว่างงานน้อยกว่าที่คาด
สงครามรัสเซียบุกยูเครน ยังกระตุ้นอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในสหรัฐฯ ให้คึกคัก และเม็ดเงินลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคก้อนใหญ่จากภาครัฐที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามรับรอง ก็จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเพิ่ม
ส่วนฤดูหนาวในยุโรป มีอุณหภูมิอุ่นกว่าที่คาดไว้ ทำให้คลายความวิตกเรื่องขาดแคลนพลังงาน โดยผู้นำส่วนใหญ่บรรยายภาพรวมเศรษฐกิจโลกในเชิงบวกมากขึ้น (หรือแย่น้อยลง) แต่ยังคงคาดว่า โลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และยุโรป น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่อื่น
2. AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง
ทุกหัวข้อที่คุยกันในดาวอส แทบไม่มีเรื่องไหนไม่เอ่ยถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) และการมาของ ‘แชตบอต’ อัจฉริยะที่ชื่อว่า ChatGPT
โอมาร์ บิน สุลต่าน อัล-โอลามา รัฐมนตรีเทคโนโลยีสารสนเทศและ AI ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บอกว่า “ผมไม่เคยเห็นอะไรน่าตื่นเต้นเท่าสิ่งนี้มาก่อนในชีวิต” ขณะที่ ซีอีโอบางคนเปรียบเทียบ ChatGPT กับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ในแง่จินตนาการ และบางคนบอกว่า แชตบอตที่ว่าจะเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ของโลกไอที
อย่างไรก็ตาม การพูดถึง AI และ ChatGPT ยังคงมีทั้งเชิงบวกและลบ โดยนอกจากมุมบวกเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ยังมีมุมลบในแง่ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการให้ข้อมูลข่าวสารผิดพลาดครั้งใหญ่ ไปจนถึงผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ทำให้หลายอาชีพต้องหายไป หรือไม่ก็ต้องหันไปพัฒนาทักษะด้านอื่นแทน
“เทคโนโลยีทุกอย่างมีทั้งด้านดีและลบ” ริมา คูเรชี (Rima Qureshi) ประธานบริหารฝ่ายกลยุทธ์ของ Verizon บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ กล่าว “ฉันเชื่ออย่างหนักแน่นว่า ในระยะยาว ผลดีจะมากกว่าผลเสีย แต่เราก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า ทุกเทคโนโลยียังมีด้านลบ”
3. ความยั่งยืนยังสำคัญ แต่จะทำอย่างไรต่อไป?
วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ยังคงเป็นประเด็นที่ผู้นำหลายคนไม่ลืม แต่หลายองค์กรยังมองหาจุดเริ่มต้นไม่ได้อย่างชัดเจน
“เรารู้ว่า มันคืออะไรและทำไมต้องทำ แต่ช่วยบอกแนวทางปฏิบัติเรื่องนี้ให้เราทราบหน่อยได้ไหม” แอบบี คลาเนกกี (Abby Klanecky) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและบริการลูกค้าของ Kearney บริษัทที่ปรึกษาการจัดการ ระบายความในใจ
นอกจากแอบบีแล้ว ซีอีโอหลายคนก็สะท้อนปัญหาเดียวกัน โดยหลายบริษัทมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซมลพิษให้เหลือศูนย์ (net-zero) แต่ยังไม่มีแผนเป็นรูปธรรมที่จะไปถึงจุดนั้นอย่างชัดเจน
ผู้นำหลายคนไฮไลต์ความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทต่างๆ ในระดับที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงปรารถนาที่จะทดลองและยอมรับว่าอาจเกิดความผิดพลาด แต่นั่นยังดีกว่าไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย
4. อยากให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ ทำอย่างไร?
หัวข้อสุดท้ายที่ผู้นำลืมไม่ได้ คือ คำถามที่ว่า บริษัทควรดึงพนักงานกลับมาทำงานในออฟฟิศ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงแล้วหรือไม่
นิค สติวเดอร์ (Nick Studer) ซีอีโอของบริษัทที่ปรึกษาการจัดการ Oliver Wyman บอกว่า ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องตกยุคไปแล้ว เพราะนายจ้างจำเป็นต้องออกแบบสถานที่ทำงาน และรูปแบบการทำงานใหม่หมด
“เราต้องการมาเจอหน้ากันเมื่องานนั้นมันจำเป็นต้องทำร่วมกัน แต่ไม่ใช่ต้องเจอหน้ากันทุกงาน” นิค กล่าว
ผู้นำภาคอสังหาฯ หลายคนก็บอกว่า อาคารสำนักงานหลายแห่งจะกลายเป็นตึกเก่าล้าสมัย บางตึกอาจเปลี่ยนไปทำเป็นที่พักอาศัย แต่บางตึกอาจถึงเวลาต้องทุบทิ้งไปได้แล้ว
“เราจะมีตึกเก่ามากมาย ซึ่งสุดท้ายไม่สามารถบูรณะ หรือทำแล้วไม่คุ้มค่า ดังนั้น เราจำเป็นต้องหาลู่ทางใหม่ในการใช้ประโยชน์ หรือจะปล่อยให้มันว่างลงและทุบทิ้งไปเมื่อถึงเวลา” คริสเตียน อุลบริช (Christian Ulbrich) ซีอีโอของ JLL กล่าวถึงสภาพอาคารสำนักงานในอนาคต
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ 4 หัวข้อหลักที่ผู้นำโลกพูดถึงกันมากที่สุดในงาน WEF ที่ดาวอส และ 4 หัวข้อที่ว่านี้ น่าจะเป็นเทรนด์ใหญ่ที่โลกจะขับเคลื่อนไปด้วยกันในปี 2023 และปีต่อๆ ไป ท่ามกลางความหวังว่า โลกในภายภาคหน้าจะฟันฝ่าวิกฤตต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ด้วยความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Source: https://bit.ly/3HMJlMJ