Type to search

‘ซีรีส์วาย’ Soft Power ตัวจริงของไทย ที่ใช้สูตรผสมการ์ตูนญี่ปุ่น + เค-ป๊อป

March 10, 2023 By Future Trends

ท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลไทยในการผลักดันวัฒนธรรมแบบไทยๆ ให้กลายเป็น ‘soft power’ ที่ขายได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร แฟชั่นเสื้อผ้า หรือแม้แต่ศิลปะป้องกันตัวอย่างแม่ไม้มวยไทย แต่รู้หรือไม่ว่า อีกหนึ่ง soft power ตัวจริงของไทย ที่มองข้ามไม่ได้ คือ อุตสาหกรรม ‘ซีรีส์วาย’ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวชายรักชาย จนกลายเป็นขวัญใจ ‘สาววาย’ น้อยใหญ่ทั่วเอเชีย

The Economist เขียนบทความเล่าถึงปรากฏการณ์ ‘ซีรีส์วาย’ ของไทย โดยยกเคสตัวอย่างที่เจอล่าสุดในกรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น

ความโด่งดังของซีรีส์วายจากไทยในต่างแดน สะท้อนได้จากการเปิดร้านอาหารแบบ ‘ป๊อป-อัป’ บนชั้น 2 ของอาคารทาวเวอร์ เรคคอร์ด ในย่านชิบูยะ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของวัยรุ่นญี่ปุ่น กลางกรุงโตเกียว โดยตั้งชื่อว่า ‘2gether Cafe’ ตามชื่อซีรีส์วายเรื่องดัง ‘2gether: The Series’

โดยรอบคาเฟ่แห่งนี้ มีภาพโปสเตอร์ของ ‘ไบร์ท’ วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ ‘วิน’ เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร สองนักแสดงนำชาวไทยติดตามฝาผนัง และมีแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้หญิง มารุมดูภาพพร้อมถ่ายรูปคู่ด้วยความคลั่งไคล้ ท่ามกลางเสียงเพลงป๊อปของไทยเปิดคลอ

“ฉันไม่รู้มาก่อนว่า ประเทศไทยมีผู้ชายหล่อถึงเพียงนี้” มากิ โกบายาชิ กล่าว

เธอเป็นแฟนตัวยงของซีรีส์วายเรื่องนี้ ถึงขั้นลงทุนไปลงเรียนภาษาไทย เพราะคลั่งไคล้ละครชายรักชายจากประเทศไทยมาก

เกิดที่ญี่ปุ่น เติบโตด้วยโมเดลเกาหลี

The Economist รายงานว่า ซีรีส์วายของไทยกำลังครองใจคนทั่วเอเชีย หลังจากเริ่มเปิดตัวละครแนวนี้มาตั้งแต่ปี 2014 โดยในช่วง ‘ล็อกดาวน์’ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยส่งออกละครวายมาแล้วกว่าร้อยเรื่อง โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านช่องทาง YouTube ที่เข้าถึงคนได้ในวงกว้าง

ญี่ปุ่น คือ หนึ่งในตลาดหลักของซีรีส์วายจากไทย โดยความคลั่งไคล้สังเกตได้จากแฟนๆ ซีรีส์แดนอาทิตย์อุทัย ถึงขั้นบัญญัติศัพท์เฉพาะขึ้นมาเพื่อเรียกขานอาการติดซีรีส์วายไทยในโลกโซเชียลมีเดียว่า ‘ไทย นุมะ’ (Thai Numa)

ขณะผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายไทย ก็พยายามนำผลงานไปขายในต่างแดน โดยในเดือนมิถุนายน 2021 อุตสาหกรรมนี้ของไทย โกยรายได้จากต่างชาติมากถึง 360 ล้านบาท

The Economist ระบุว่า เคล็ดลับความสำเร็จของวงการซีรีส์วายไทย คือ การผสมผสานเทคนิคการนำเนื้อหาการ์ตูนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบของซีรีส์วาย มาใช้ร่วมกับวิธีทำการตลาดแบบวงการดนตรีป๊อปของเกาหลีใต้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า เค-ป๊อป

โดยโมเดลธุรกิจแบบเค-ป๊อป คือ การเน้นโปรโมตตัวศิลปินผ่านการใช้ฐานแฟนคลับที่คลั่งไคล้เป็นหลัก อาทิ การจัดงาน meet-and-greet เพื่อเพิ่มรายได้ให้บริษัท ขณะที่ ภูวิน บุณยะเวชชีวิน ผู้เชี่ยวชาญปรากฏการณ์ซีรีส์วาย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปรียบซีรีส์วายไทยเป็น ‘เบ้าหลอม’ ระหว่าง “ส่วนผสมของญี่ปุ่นและเกาหลี”

‘หนุ่มวาย’ v รัฐบาลไทย

แม้ในต่างประเทศ กลุ่มแฟนคลับของซีรีส์วายไทยส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงแท้ที่เรียกกันว่า ‘สาววาย’ แต่ในเมืองไทย แฟนคลับซีรีส์วายจำนวนมากยังรวมถึงผู้ชายที่เป็นเกย์ โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่า แฟนซีรีส์วายในไทยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ คือ ชายในกลุ่ม LGBTQ+

ด้วยเหตุนี้ ความสำเร็จของซีรีส์วายจึงอาจสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมในประเทศไทย และอาจเป็นทางสองแพร่งของรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ใจหนึ่งก็ต้องการส่งเสริม soft power แบบไทยๆ ในต่างแดน แต่ก็เกรงว่า soft power แบบซีรีส์วาย อาจทำลายภาพลักษณ์ของชาติในสายตาของบรรดา ‘คอนเซอเวทีฟ’ ทั้งหลาย

“ถ้าพวกเขาไปไกลเกินไป อาจถูก (ภาครัฐ) ต่อต้านได้” รุจิรัตน์ อิชิกาวา นักวิชาการไทยประจำมหาวิทยาลัย อาโอยามะ กักคุอิน ในกรุงโตเกียว กล่าวเตือน

เธอบอกว่า ในประเทศไทย ซีรีส์วายได้รับการตอบรับด้วยดี แต่สิทธิของชาว LGBTQ+ ยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก

ดังนั้น ปรากฏการณ์ซีรีส์วาย ที่กลายเป็น soft power ตัวจริงของไทย ณ เวลานี้ จึงอาจทำให้รัฐบาลไทย กลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้เหมือนกัน

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: http://bit.ly/3mIKaxE