Type to search

ชีวิตคือการตัดสินใจ รู้จัก ‘illeism’ เทคนิคที่ช่วยให้คิดวิเคราะห์ได้ฉลาดยิ่งขึ้น

April 17, 2023 By Future Trends

ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนล้วนมีเรื่องให้ต้องคิดตัดสินใจมากมาย ยิ่งเป็นเรื่องปัญหาและความท้าทายส่วนตัว การคิดไตร่ตรองยิ่งสำคัญกับตัวเราเองมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และหลายครั้งก็มักตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตัวเองผิดพลาด

นักจิตวิทยามีเทคนิคหนึ่งมาแนะนำเพื่อช่วยให้การคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาของเราเป็นไปอย่างฉลาดหลักแหลมขึ้น เทคนิคนี้ทำได้ไม่ยาก มีชื่อว่า ‘illeism’ (อิลลีซึม) หรือการคิดแบบเปรียบตัวเองเป็นคนนอก โดยใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 แทนตัวเอง เช่น เรียกชื่อเล่นหรือชื่อจริงของตัวเอง แทนคำว่า ผมหรือฉัน

การทำเช่นนี้จะช่วยให้ผู้พูด (หรือผู้คิด) ลดทิฐิและความลำเอียงลง ช่วยลดการนำอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปพัวพันในกระบวนการคิดและตัดสินใจ

วิธีนี้มีใช้มานานแล้ว โดยจูเลียส ซีซ่าร์ จักรพรรดิของโรมันเคยจดบันทึกถึงสงครามกับชนเผ่ากอล (Gallic War) ด้วยวิธี illeism ว่า “ซีซ่าร์ล้างแค้นให้กับประชาชน” แทนที่จะเขียนว่า “ข้าพเจ้าล้างแค้นให้กับประชาชน” 

การใช้ชื่อ ‘ซีซ่าร์’ แทนคำว่า ‘ข้าพเจ้า’ ทำให้เมื่อได้อ่านหรือฟังประโยคนี้แล้วมีความรู้สึกเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ มากกว่าถ้อยแถลงของใครสักคน

แม้ในยุคใหม่ การเรียกชื่อตัวเองแทนคำว่า ฉันหรือผม หากเอามาใช้พูดกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน อาจฟังดูแปลกหูเกินไป แต่ผลวิจัยเชิงจิตวิทยาล่าสุดยืนยันว่า illeism มีประโยชน์ทางปัญญาในกระบวนการใช้ความคิดและทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้จริง

เดวิด รอบสัน (David Robson) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและจิตวิทยาเผยแพร่เรื่องนี้ผ่านสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ ระบุว่า หากเราต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ การพูดถึงตัวเองในฐานะคนนอก หรือบุคคลที่ 3 จะช่วยให้อารมณ์นิ่งขึ้น ลดการใช้ความรู้สึกส่วนตัวไปปะปนในการคิดตัดสินใจ ซึ่งอาจทำให้มองไม่รอบด้านจนตัดสินใจผิดพลาด

เพื่อทำความเข้าใจประโยชน์ของ illeism ให้ชัดขึ้น เดวิดเริ่มต้นด้วยการพาไปทำความเข้าใจวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้วัดระดับสติปัญญาในการใช้เหตุผลของมนุษย์แต่ละคนกันก่อน

อิกอร์ กรอสแมน (Igor Grossman) คือหัวหน้านักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (University of Waterloo) ในแคนาดา ซึ่งศึกษาผลงานของนักปรัชญาจำนวนมากเพื่อร่าง ‘ส่วนประกอบของอภิปัญญา’ (metacognitive components) หรือความสามารถในการรู้กระบวนการคิดของตนเอง ซึ่งเป็นปัญญาระดับสูงสุดของการเรียนรู้

ส่วนประกอบของอภิปัญญาที่อิกอร์ร่างขึ้นมา รวมถึงเรื่องความถ่อมตนทางปัญญา (intellectual humility) การรับฟังและเข้าใจมุมมองความคิดผู้อื่น และการพยายามประนีประนอมระหว่างความเห็นที่ขัดแย้งกัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญของการตัดสินใจอันชาญฉลาดที่คนทั่วไปยอมรับ

อิกอร์พบว่า การทดสอบด้วยการวัดความฉลาดในการใช้เหตุผลตามที่เขาศึกษามา สามารถทำนายความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม และคุณภาพความสัมพันธ์ของคนกับสังคมได้ดีกว่าการทดสอบความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ทั่วไป

ผลการศึกษาต่อมาของอิกอร์ เปิดเผยว่า ความฉลาดในการใช้เหตุผลยังขึ้นอยู่กับบริบทต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่า คนเรามักช่วยคิดแก้ไขปัญหาให้ผู้อื่นได้ดีกว่าปัญหาของตัวเอง

เขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ปฏิทรรศน์ของโซโลมอน’ (Solomon’s Paradox) โดยตั้งชื่อตามกษัตริย์โซโลมอนในคัมภีร์ไบเบิล ผู้โด่งดังเรื่องการให้คำแนะนำคนอื่นได้อย่างชาญฉลาด แต่มักตกม้าตายด้วยการตัดสินใจพลาดในเรื่องของตัวเอง จนสุดท้ายทำให้ราชอาณาจักรของเขาเกิดความวุ่นวายโกลาหล

ปัญหานี้ดูเหมือนจะมาจากการใช้อารมณ์ส่วนตัวเข้าไปพัวพันในการคิดตัดสินใจมากเกินไป ทำให้บดบังความคิดดีๆ และมุมมองใหม่ๆ เช่น เมื่อโดนเพื่อนร่วมงานวิจารณ์ผลงานในเชิงลบ เราอาจรู้สึกอับอายจนนำไปสู่โหมดปกป้องตัวเองเกินไป และไม่รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น แม้จะเป็นคำแนะนำที่ดีในระยะยาวก็ตาม

อยากฉลาดต้องทำอย่างไร ?

การนำ illeism มาช่วยแก้ปัญหาแบบที่กษัตริย์โซโลมอนเผชิญอยู่ นอกจากจะช่วยให้เราลดการมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยังช่วยให้มองเห็นภาพรวมในมุมกว้างมากขึ้นอีกด้วย

ผลการศึกษาของอิกอร์และทีมงานพบว่า ผู้ที่ใช้ illeism คุยเกี่ยวกับปัญหาของตัวเอง มักแสดงออกถึงความถ่อมตนทางปัญญา สามารถเข้าใจความคิดผู้อื่น และปรารถนาที่จะหาทางประนีประนอมมากขึ้น ซึ่งทำให้คะแนนความฉลาดในการใช้เหตุผลโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า การใช้ illeism เป็นประจำจะช่วยให้กระบวนการคิดของเราได้ประโยชน์แบบติดแน่นทนนานในระยะยาวอีกด้วย

อิกอร์ทดลองด้วยการให้อาสาสมัครเขียนไดอารี่ บอกเล่าประสบการณ์แต่ละวันของตัวเองติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน โดยผู้ร่วมทดสอบครึ่งหนึ่งใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 แทนตัวเอง และอีกครึ่งหนึ่งใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 โดยช่วงเริ่มต้นและจบการทดลอง มีการทดสอบความฉลาดในการใช้เหตุผลตามหัวข้อต่างๆ

ผลการทดสอบเป็นไปอย่างที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ นั่นคือ กลุ่มที่ใช้ illeism ในไดอารี่สามารถทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มที่ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เรียกตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์จึงสรุปว่า การกระตุ้นให้คนมองปัญหาของตัวเองในหลากหลายแง่มุมผ่านวิธี illeism อาจช่วยให้ตอบสนองต่อความตึงเครียดในแต่ละวันด้วยความสมดุลมากขึ้น ผู้จดบันทึกไดอารี่ด้วยสรรพนามบุรุษที่ 3 มักมีอารมณ์เชิงบวกต่อความท้าทายต่างๆ เพิ่มขึ้น แทนที่จะดิ่งลงสู่ความเศร้า ความโกรธ และความผิดหวัง

นั่นคือข้อดีของ illeism เทคนิคโบราณที่นอกจากจะช่วยให้เราเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาด้วยความนิ่ง ยังช่วยให้คิดวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ได้รอบด้าน และมีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: https://bit.ly/3KZE5qm