‘งานเสริมเติมชีวิต’ หากไม่นับเรื่องรายได้ ทำไมเราควรมีมากกว่าหนึ่งอาชีพ?
เราทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงให้ชีวิตดำเนินต่อไป หลายคนอาจมีอาชีพเดียวก็เพียงพอต่อความต้องการ แต่หลายคนเลือกทำงานมากกว่าหนึ่งอาชีพเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมากขึ้น ด้วยปัจจัย เงื่อนไขชีวิต และความต้องการที่ต่างกัน แล้วอะไรคือคุณค่าของงานเสริมเหล่านั้นที่นอกเหนือจากเงินที่ได้รับ และคุ้มค่าแค่ไหนที่จะสละเวลาชีวิตอันมีค่าเพื่องานนั้นๆ
คาบีร์ เซห์กัลป์ ผู้มี 4 อาชีพ ทั้งนักวางกลยุทธ์องค์กร ทหารกองหนุนกองทัพเรือสหรัฐฯ นักเขียน และโปรดิวเซอร์เพลง ได้กล่าวถึงเหตุผลของการทำหลายอาชีพว่า งานทำให้เขามีความสุขขึ้น เป็นการเติมเต็มความรู้สึกบางประการ และที่สำคัญสามารถช่วยให้ทำงานต่างๆ ได้ดีขึ้น เขาอธิบายไว้ดังต่อไปนี้
งานพัฒนาทักษะซึ่งกันและกัน
เงินค่าตอบแทนที่ คาร์บี ได้จากการทำงานประจำนั้น เขานำมาสนับสนุนอาชีพการเป็นโปรดิวเซอร์เพลง ซึ่งส่วนตัวมีความหลงใหลในดนตรีอยู่แล้ว แต่การที่ไม่มีผลงานโดดเด่นก็ยากที่คนจะสนใจจ้าง ช่วงแรกจึงอาสาทำเพลงให้ฟรีเพื่อเพิ่มประสบการณ์ นั่นหมายถึงการนำเงินจากงานประจำมาใช้ทำเพลง ทำให้ได้ทักษะการทำเพลงและทักษะอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมด้วย
การเป็นโปรดิวเซอร์ที่เก่งต้องมีทักษะการกำหนดวิสัยทัศน์ บริหารจัดการคนเข้ามาทำงาน กำหนดตารางเวลา ระดมทุน เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาจากอาชีพประจำ และได้เรียนรู้เพิ่มเติมระหว่างงานทำเพลง เป็นการเพิ่มทักษะของอาชีพหลักไปในตัว
นอกจากทักษะเฉพาะทางในการทำเพลง สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่ประกอบรวมทำให้ คาร์บี ประสบความสำเร็จในการทำงานโปรดิวเซอร์เพลง โดยได้รับรางวัลแกรมมี่ (Grammy Awards) เป็นเครื่องการันตี หลังจากนั้น ไม่ใช่เรื่องยากที่คนจะสนใจมาจ้างให้ คาร์บี ทำเพลงให้
สิ่งสำคัญคือ คาร์บี เลือกสิ่งที่เขาหลงใหลมาสร้างเป็นอาชีพ โดยอาศัยทั้งเงินและทักษะจากอาชีพหลักที่ทำอยู่ มาเป็นตัวช่วยในการทำเพลง ซึ่งเป็นงานเสริมให้สามารถเป็นอาชีพทำเงิน จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้
งานหลากหลาย สร้างเครือข่ายที่มากมาย
งานนักวางกลยุทธ์ของ คาร์บี จำกัดอยู่แค่กลุ่มนักธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินเท่านั้น เช่น นายธนาคร นักค้าหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ ทำให้ความคิดเห็นของคนเหล่านี้ในภาพรวมต่างเป็นมุมมองของนักวิเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ การที่จะได้มุมมองที่ต่างออกไป จำเป็นต้องรู้จักคนหลากหลายวงการ
คาร์บี ยกตัวอย่างว่า เมื่อลูกค้าคนหนึ่งของเขาต้องการเข้าใจประเด็นที่พลเมืองชาวจีนถกเถียงกัน เขาจึงติดต่อเพื่อนคนหนึ่งที่ทำงานเป็นนักข่าวที่กำลังติดตามประเด็นในประเทศจีน ให้พบลูกค้าของเขาเพื่อให้คำแนะนำในมุมมองแบบที่ต้องการ ซึ่ง คาร์บี รู้จักนักข่าวคนนี้ จากการทำอาชีพเสริมเป็นนักเขียนหนังสือ
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ คาร์บี ได้ลูกค้า ส่วนลูกค้าก็ได้สิ่งที่ต้องการ และเพื่อนนักข่าวของเขาได้สมาชิกรับหนังสือพิมพ์รายใหม่เพิ่ม เป็นตัวอย่างของคุณค่าที่รู้จักบุคคลหลากหลาย โดยเฉพาะคนที่ปกติไม่มีทางรู้จักกัน การเชื่อมโยงคนเหล่านี้เข้าหากันให้ได้ เป็นอีกสิ่งสำคัญที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้
สิ่งสำคัญคือ คาร์บี ใช้ประโยชน์จากการรู้จักคนหลากหลายวงการมาเชื่อมโยงพวกเขาเข้าหากัน เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งการรู้จักคนมากมายของเขามาจากการทำงานที่หลากหลาย
ผสานหลากแนวคิดเพื่อสร้างสิ่งใหม่
เมื่อทำงานหลากหลายจะสามารถระบุจุดที่แนวคิดต่างๆ ทำงานร่วมกันได้ ที่สำคัญคือ การระบุได้ว่า “แนวคิดเหล่านั้นควรทำงานร่วมกันอย่างไร” คาร์บี ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งพายุเฮอร์ริเคนคาทรินาเป็นเหตุทำให้นักดนตรีจำนวนมากต้องย้ายถิ่นฐานออกจากเมืองนิวออร์ลีนส์
คาร์บี ต้องการช่วยเหลือนักดนตรีผู้ประสบภัยเหล่านั้น แต่เขาคิดว่า แค่เปิดรับบริจาคไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนเท่าไรนัก จึงก่อตั้งบริษัทเอเจนซีสำหรับนักดนตรี โดยคนที่ต้องการนักดนตรีไปบรรเลงที่งานเลี้ยงในนิวยอร์ก สามารถหาวงดนตรีได้จากเว็บไซต์ของเขา ซึ่งเว็บไซต์จะขอให้คนที่จองคิวนักดนตรีเพิ่มทิป ที่จะนำไปมอบให้กับองค์กรการกุศลในนิวออร์ลีนส์
บริษัทเอเจนซีของ คาร์บี เป็นนวัตกรรมเล็กๆ ที่เขาสร้างขึ้น ทำให้คนที่ต้องการจ้างนักดนตรีสามารถค้นหาได้ง่าย นักดนตรีในนิวยอร์กได้งาน องค์กรการกุศลในนิวออร์ลีนส์ได้รับเงินบริจาค และนักดนตรีผู้ประสบภัยก็ได้รับการช่วยเหลือ
สิ่งสำคัญคือ คาร์บี สามารถสร้างนวัตกรรมการแก้ปัญหาด้วยการผสมผสานทักษะ แนวคิด และประสบการณ์ หลากหลายสาขาเข้าหากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสั่งสมจากการทำงานที่หลากหลาย รวมถึงการรู้จักผู้คนที่มากมายแตกต่างกัน จนสามารถนำมาพัฒนางานที่ทำอยู่ กระทั่งสร้างงานใหม่ๆ ได้ด้วย
สรุป การมีอาชีพเสริมหรือการทำงานมากกว่าหนึ่งอย่าง นอกจากจะสร้างรายได้เพิ่มในกระเป๋าได้แล้ว สิ่งสำคัญคือ สามารถพัฒนาตนเองให้มีทักษะ มุมมอง และประสบการณ์ที่หลากหลาย ทักษะจากอาชีพหลักสามารถเป็นฐานให้กับการทำอาชีพเสริมได้ และสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้จากงานเสริมก็ย้อนกลับมาพัฒนางานหลักด้วยเช่นกัน
อีกทั้งอาชีพที่แตกต่างยังทำให้รู้จักผู้คนมากมายหลายวงการ ส่งผลให้มุมมองเปิดกว้างขึ้น และสามารถเชื่อมโยงผู้คนหลากหลายวงการเข้าหากัน เพื่อส่งเสริมประโยชน์ของงานต่อไปได้ และการมีมุมมองที่หลากหลายยังสามารถนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่างๆ ในการทำงานได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คาร์บี เลือกทำงาน (เพิ่ม) ในสิ่งที่เข้าหลงใหล นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถทำหลายอย่างไปพร้อมกันอย่างมีความสุข สิ่งที่หลงใหลจะเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ ลองนึกถึงคนที่ทำงานเพื่อสังคมโดยไม่ได้ค่าตอบแทน เช่น อาสาสมัครองค์กรการกุศลต่างๆ แน่นอนว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการจากการทำงานเหล่านี้ แต่เป็นบางอย่างที่เติมเต็มหัวใจของพวกเขาให้มีชีวิตสมบูรณ์ขึ้น แม้จะต้องแบ่งเวลาชีวิตอันมีค่ามาทำโดยไม่ได้เงินก็ตาม
ฉะนั้น การทำอาชีพหรืองานเสริมเพิ่มเติมจากอาชีพหลัก ควรเริ่มจากสิ่งที่หลงใหล อยากทำ หรือสิ่งที่จะสามารถเติมเต็มหัวใจได้ นั่นคือมอง ‘สิ่งที่ชอบ’ และ ‘งานที่มีความหมาย’ ซึ่งเป็นคุณค่าแท้จริงที่ทำให้เราสามารถทำงานต่อไปได้ทุกวัน (อ่านเรื่อง ‘อะไรทำให้เรามีความสุขกับงาน แก่นแท้ของการทำงานคือสิ่งใด?’ ได้ที่ http://bit.ly/3K5FknR)
เขียนโดย: Phoothit Arunphoon
Sources: http://bit.ly/3K5FknR
หนังสือ ‘HBR AT 100’ (The Most Influential and Innovative Articles from Harvard Business Review’s First Century) โดย Harvard Business Review, Michael E. Porter, Clayton M. Christensen, W. Chan Kim และ Renee A. Mauborgne แปลโดย ณัฐยา สินตระการผล สำนักพิมพ์ Expernet