ในยุคที่ ‘ถุงพลาสติก’ กลายเป็นตัวร้ายทำลายโลก และ ‘กระเป๋าผ้า’ กลายเป็นของจำเป็นที่คนต้องมีไว้ติดตัวเวลาออกนอกบ้านไปทำงาน เที่ยวเล่น หรือจับจ่ายซื้อของ ธุรกิจห้างร้านต่างทำกระเป๋าผ้าออกวางขายหรือแจกจ่าย เพื่อสนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายบ้านมีกระเป๋าผ้าเก็บไว้มากมายเอาออกมาใช้แทบไม่ทัน
นั่นคือเหตุผลสำคัญที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิตกว่า กระเป๋าผ้าอาจกลายเป็น ‘ขยะยุคใหม่’ ที่เข้ามาแทน ‘ถุงพลาสติก’ ซึ่งถูกแบนไปแล้วในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นเหตุผลที่ต้องออกมารณรงค์ให้คนเข้าใจการใช้กระเป๋าผ้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
กระเป๋าผ้าส่วนใหญ่ทำจาก ‘ฝ้าย’ (cotton) ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรมากมายในการเพาะปลูก เนื่องจากเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก รวมทั้งใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ซึ่งอาจก่อให้เกิดสาร ‘ไนเตรต’ ตกค้างสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ กลายเป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก
จากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่า กระเป๋าผ้าฝ้ายต้องนำมาใช้ซ้ำใบละ 50 – 150 ครั้ง จึงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
แต่หากคำนวณอย่างละเอียดโดยใช้ตัวชี้วัดของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก กระเป๋าผ้าฝ้ายต้องนำมาใช้งานอย่างน้อยใบละ 7,100 ครั้ง จึงจะคุ้มค่าต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม หากเทียบกับถุงพลาสติกตามซูเปอร์มาร์เก็ตแบบเก่า ซึ่งมักนำมาใช้ซ้ำแค่ครั้งเดียวเป็นถุงขยะแล้วนำไปทิ้ง
ข้อมูลชิ้นเดียวกันยังระบุว่า หากผ้าฝ้ายที่นำมาใช้ทำกระเป๋าเป็น ‘ออร์แกนิก’ อัตราการใช้ซ้ำเพื่อชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งสูงขึ้นไปเป็น 20,000 ครั้งต่อใบ เนื่องจากฝ้ายออร์แกนิกให้ผลผลิตต่ำกว่า ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าฝ้ายที่ปลูกแบบปกติเมื่อนำมาใช้ในปริมาณเท่ากัน
รายงานของเดนมาร์ก อ้างอิงตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 15 ข้อ รวมถึงเรื่องสภาวะโลกร้อน การทำลายชั้นโอโซน มลพิษทางอากาศ การใช้ทรัพยากรดินและน้ำ อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสแค่ผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว รายงานของเดนมาร์ก ที่เผยแพร่ในปี 2018 แนะนำให้ใช้กระเป๋าผ้าซ้ำอย่างน้อย 52 ครั้ง เท่าๆ กับข้อมูลของ UNEP
นอกจากกระเป๋าผ้าแล้ว รายงานของ UNEP ซึ่งเผยแพร่ในปี 2020 ยังพูดถึงถุงพลาสติกชนิดหนาแบบใช้ซ้ำที่ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตมักนำมาขาย หากลูกค้าไม่พกกระเป๋าผ้าหรือถุงมาใส่ของ โดยระบุว่า ถุงพลาสติกหนาที่ทำจากโพลีโพรพีลีน (PP) ต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 10 – 20 ครั้ง แต่ถ้าเป็นถุงโพลีเอทิลีน (PE) ซึ่งบางกว่า ควรใช้ซ้ำ 5 – 10 ครั้ง จึงจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้จริง
เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun
Source: https://bit.ly/3FJfhz6