“อยากให้องค์กรเติบโต แล้วคุณให้เวลาพนักงานมากพอหรือยัง?” คุยเรื่องโจทย์ใหญ่สกิลคนทำงานกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’
เขียนและสัมภาษณ์โดย Piraporn Witoorut
“คุณคิดว่า ในประเทศนี้ชนชั้นกลางมีความฝันแบบไหน?”
“ชนชั้นกลางต้องการมีบ้าน มี work-life balance มีงาน มีเวลาให้ครอบครัว ให้สิ่งสนใจของตัวเอง มีรถยนต์ มีกำลังส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ไปเที่ยวต่างประเทศสักปีละครั้ง มีอากาศดีๆ หายใจ ความฝันง่ายๆ แบบนี้ มีสักกี่คนที่แตะความฝันเหล่านี้ได้”
ธนาธรชวนเราตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์ภาวะสมองไหล (brain drain) จากกระแสการจัดตั้งกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ บทสะท้อนจากกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงการโยนประเด็นว่าด้วยเรื่องย้ายประเทศ ขึ้นมากลางวงสนทนาอย่างโดดๆ เท่านั้น
แต่ภายใต้โจทย์นี้ยังเต็มไปด้วยคำถามที่ว่า เพราะอะไร การย้ายประเทศจึงกลายเป็นความฝันของคนรุ่นใหม่ ทิศทางการพัฒนาของรัฐกับอนาคตของประชาชนสวนทางกันหรือไม่ หรือเกิดจากโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนได้ดีพอรึเปล่า
แต่ก่อนที่จะไปถึงปลายทางของเรื่อง เราชวนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาพูดคุยถึงรากของปัญหา ตั้งแต่การพัฒนาทักษะของคนทำงานในองค์กร ที่เขามองว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมของคนทำงาน แต่ผู้นำแสดงออกและผลักดันคนในองค์กรมากแค่ไหน ลงทุนกับคนอย่างไร มีสายตาเฉียบคมมากพอที่จะดึงศักยภาพคนทำงานออกมาได้เต็มที่แล้วหรือยัง ไปจนถึงโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ที่ประธานคณะก้าวหน้าบอกว่า “ถ้าการเมืองยังไม่มีคุณภาพ เราก็ไม่สามารถพัฒนาประเทศต่อได้”
วิกฤตที่ผ่านมาทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
ผมคิดว่า สิ่งที่การแพร่ระบาดทำให้เปลี่ยนไปคือเรื่อง digital transformation โควิด-19 ทำให้กระบวนการ digital transformation เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน ยกตัวอย่างเช่น การลงทะเบียนเราชนะ เกิดในข้ามปีทั้งหมด หรือการสั่งอาหารออนไลน์ จนถึง work form home แสดงให้เห็นว่า digital transformation ที่เราพูดถึงมีพลังที่ไม่ได้ถูกเอามาใช้เยอะมาก
สมัยผมทำงานบริหารที่ไทยซัมมิท ผมใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อตรวจสอบการทำงานที่ต่างประเทศ ต้องใช้เวลากว่า 1 ใน 3 อยู่ที่ต่างประเทศ แต่วันก่อนผมได้คุยกับผู้บริหารท่านหนึ่ง เขาไม่ได้บินไปดูงานเองก็ไม่มีปัญหาอะไร เลยทำให้กลับมาคิดว่า เพราะแต่ก่อนเราใช้บัดเจ็ตเกินตัวด้วยรึเปล่า ตอนนี้ก็บริหารได้เหมือนกันใช่ไหม ฉะนั้น จะเห็นเลยว่า digital transformation เกิดเร็วและแรงกว่าเดิมมากจากโควิด-19
ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแบบนี้ องค์กรต้องมีส่วนในการซัพพอร์ตคนทำงานด้วยไหม อย่างไรบ้าง
ต้องเปลี่ยนเยอะ ผมคิดว่า ในตัววัฒนธรรมองค์กรควรต้องทำให้เฟรนด์ลี่กับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น อาจจะมีครึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์เป็นสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ ทำให้องค์กรเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ มีทักษะอะไรบ้างที่เราหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วองค์กรสนับสนุนพนักงานมากแค่ไหน
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้นำในการอัปสกิลคนในองค์กรด้วย ตอนผมเข้าไปบริหารไทยซัมมิท ผมเป็นคนรุ่นแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์แลปท็อป ยุคนั้นใครถือแลปท็อปนี่โก้มาก ตอนนั้นจะมีห้องคอมฯ ให้พนักงานเข้าไปใช้งาน วางเรียงกันเป็นตับ ใครอยากใช้ต้องต่อคิวกัน ยกเว้นแต่คนที่ีมีแลปท็อป ไป แต่ก็ไม่สะดวกต้องไปต่อโมเด็มเอา แต่ปัจจุบันมีกันหมดแล้ว ทุกคนมีคนโทรศัพท์ มีระบบ computing power เยอะกว่าสมัยก่อนเสียอีก เราพัฒนาทักษะเรียนรู้กันได้
ผมจะยกตัวอย่างอันหนึ่งซึ่งจะเห็นภาพตรงกันมากขึ้น เป็นตัวอย่างงานดิจิทัลอาร์ตที่ผมทำขึ้นมา เป็นการนำศิลปะกับเทคโนโลยีมาเจอกัน ศิลปะ คือการดึงสิ่งที่ต้องการนำเสนอออกมาในรูปแบบของเราเอง ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็สามารถผลิตซ้ำขึ้นมาได้ หยิบรูปไปทำซ้ำ ทำใหม่ได้ ดึงรูปผู้หญิงไปทำรูปต่อไปได้ หยิบเด็ก ก้อนหิน มาเปลี่ยนพื้นที่ได้ ขยับไปอีกเมตรก็ได้ นี่คือพลังของเทคโนโลยี พลังของดิจิทัลอาร์ต เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์ได้ สามารถเปลี่ยนสี ทำให้เป็นรูปใหม่ๆ ได้ สิ่งนี้คือการ recognization ในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
ตอนเป็นผู้บริหาร เคยเจอปัญหาคนทำงานไม่พร้อมเรียนรู้บ้างรึเปล่า
มีตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดมาก คือการใช้เครื่อง CNC (เครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนวัสดุ ทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์) ที่บริษัทผม แต่ก่อนเจ้าเครื่องนี้ต้องมีพนักงานคุมเครื่องกับคนสั่งเครื่องทำงาน คนคุมเครื่องส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปวช. ปวส. คนสั่งเครื่องอาจจะจบปวส. หรือปริญญาตรี ถ้าพนักงานเขียนโปรแกรมจะมีศักดิ์มากกว่า เพราะมีคุณค่ามากกว่า
สิ่งที่ผมทำตอนนั้นในปี 2008 คือผมใช้เวลา 3 ปี เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำงานตรงนี้ เรามีเครื่อง CNC ในโรงงาน 20-30 เครื่อง ผมมองว่า แล้วทำไมคนคุมเครื่องไม่เขียนโปรแกรมเองล่ะ เพราะมันมี value เยอะกว่า คนคุมเครื่องส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่งเรียนจบ เขาทำมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ปัญหาคือบางคนไม่เคยจับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลยทั้งชีวิต ผมบอกเอาใหม่ ให้เวลา 2 ปี เรียนรู้การเขียนโปรแกรมแล้วผมจะเพิ่มเงินเดือนให้คุณ
ปรากฏว่า ทุกวันนี้ไม่ต้องมีพนักงานแยกกันแล้ว ให้คุมเครื่องและเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง นั่นหมายความว่า คนที่ทำงานไม่เต็มแวลู่ ก่อนอื่นเราต้องเชื่อในศักยภาพของเขา
ผมบอกว่า พวกคุณทำใหม่ ลองเรียนรู้ เรามีหน้าที่ลงทุนให้เขา วันแรกที่จับคอมพิวเตอร์มือเขาสั่นเลย แล้วถึงค่อยๆ เห็นศักยภาพของตัวเอง ส่วนคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ก็กลายเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ นี่คือการสร้าง value คนในองค์กร แล้วมันสำคัญ ถ้าคุณอยากให้คนในองค์กรมีรายได้สูง คนหนึ่งคนต้องสร้าง value ให้ได้เยอะกว่าเดิม
แปลว่า การสร้าง value คนหนึ่งคนในองค์กร นอกจากจะเป็นการพัฒนาศักยภาพตัวเขาเองแล้ว มันยังส่งผลกับภาพรวมขององค์กรทั้งหมดด้วย
ใช่ครับ ที่สหรัฐอเมริกา พนักงาน 1 คน สร้างรายได้ได้ 15 ล้านบาทต่อคน ญี่ปุ่นสร้างได้ 11 ล้านบาทต่อคน แต่บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันกับไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 ล้านบาทต่อคน ตอนผมเริ่มมาทำงานตรงนี้ ผม drive จาก 2 ล้านปลายๆ เป็น 5 ล้านบาท ใช้อินดิเคเตอร์วัด ทำยังไงก็ได้ให้เกิด value เยอะขึ้น คนไทยได้เงินเดือน 15,000 บาท ญี่ปุ่นเงินเดือน 60,000 บาท ถ้าอยากให้เงินเดือนพนักงานเพิ่มขึ้น คุณต้องยกระดับยอดขายต่อหัวให้ได้ 11 ล้านบาทต่อปี ถึงจะจ่ายเงินเดือนได้ 60,000 บาทเหมือนญี่ปุ่น
ปัญหาของเรื่องนี้คือเวลา ผู้บริหารระดับสูงคุณมีเวลาเท่าไร คำตอบคือ 24 ชั่วโมงเท่ากัน แล้วคุณลงทุนไปกับอะไร ให้เวลากับลูกค้าเท่าไร การพัฒนาสินค้า R&D (reseach and development) การ recognized คนเท่าไร เสียเวลาไปกับการประชุมวันละกี่ชั่วโมง นี่คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของผู้บริหาร คุณให้เวลากับพนักงานกี่ชั่วโมง คุณเคยไปฟังคนที่ทำ R&D เองไหม ผู้บริหารต้องเข้าไปเคาะ อยากเปลี่ยนแต่ไม่ลงทุนในเวลามันก็ไม่เกิด ท้ายที่สุดจึงขึ้นอยู่กับเวลาของผู้บริหารที่จะใช้ไปกับอะไร
อย่างประเด็น ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ถ้าเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกับอุตสาหกรรมไทยไหม
มันเป็นภาวะที่ทิศทางการพัฒนาของรัฐกับความฝันไม่ไปด้วยกัน ต้องพูดตรงๆ ว่า การจะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าและความหมายในประเทศนี้ยากมาก คนที่อยู่ระดับชนชั้นกลางระดับบน (Upper Middle Class) ถึงระดับชนชั้นกลาง (Middle Class) ต้องการอะไร มีบ้าน มี work-life balance มีงาน มีเวลาให้ครอบครัว ให้สิ่งสนใจของตัวเอง มีรถของตัวเอง ส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ไปเที่ยวต่างประเทศได้ปีละครั้ง มีอากาศดีๆ หายใจ ความฝันง่ายๆ แบบนี้ มีสักกี่คนที่แตะความฝันนี้ได้
แต่ความฝันแบบนี้ไม่ง่ายแน่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความฝันกับแนวทางที่ไม่สอดคล้อง มันเกิดจากความเห็นแก่ตัวของคนชั้นนำที่มองเห็นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง คุณกำลังเอาความคิดของยุคสมัยคุณมากักขังโลกใบใหม่ไว้ เมื่อคนรู้สึกตีบตันเข้าไม่ถึงโอกาส เขาก็ไม่รู้สึกว่า อยากจะอยู่ในประเทศนี้ สำหรับผมมันเป็นสัญญาณเตือน เป็น wake up call ว่า จะให้ความฝันของคนรุ่นก่อนมากักขังการพัฒนาประเทศ
สัญญาณแบบนี้อาจทำให้เกิด ‘brain drain’ ขึ้นได้?
แน่นอนมันเกิด brain drain ขึ้นแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วปรากฏการณ์คนไทยย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น สมัยก่อนคนไปทำงานต่างประเทศเยอะแยะ แต่ไม่มีครั้งไหนที่คนที่พยายามออกไปจะเป็นที่มีการศึกษาระดับกลางถึงสูง ถ้าไปดูคนทำงานภาคก่อสร้างที่ไต้หวันคือคนไทย ภาคการเกษตรที่อิสราเอลคือคนไทย หรือในสแกนดิเนเวีย ก็เอาคนไทยไปทำการเกษตร
คนที่ออกไปทำงาน หาโอกาสมีเยอะแยะไปหมด แต่ไม่ได้เกิดกับภาคการศึกษาระดับกลางและสูง โดยเฉพาะด้านการแพทย์ การเงินการธนาคาร หรือวิศวกร แต่คนที่มาพูดรอบนี้เปลี่ยนไป ไม่ใช่แรงงานไม่มีทักษะ นี่คือปรากฎการณ์สมองไหล ในแง่หนึ่งก็เป็นชอยส์ของปัจเจก แต่ถ้าคนที่มีศักยภาพไปหมด คนที่จะมาพัฒนาประเทศ คือคนที่ีมีศักยภาพรองลงมา นี่คือความอันตรายที่จะเกิดขึ้น
เรื่องนี้สะท้อนว่า ทิศทางของรัฐกับความฝันของประชาชนมันสวนทางกัน แล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะย้ายได้
ถ้ายังต้องดูแลพ่อแม่อยู่จะย้ายยังไง คนที่มีฐานะยากจนก็ย้ายไม่ได้ แล้วคนที่มีศักยภาพมีรายได้สูง ย้ายไปหมดจะทำยังไง แต่คนส่วนใหญ่ยังย้ายไม่ได้ เพราะไม่มีเครือข่าย ไม่มีเงินทุน ไม่ได้ภาษา โครงสร้างในประเทศไม่ได้เอื้อให้กับพวกเขาสร้างความเป็นสากล คุณไม่ไ่ด้สร้าง infastructure ให้คนทุกคนด้วยซ้ำไป
แต่การย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเลยก็ว่าได้
อาจจะไม่เสมอไป มีเรื่องเล่าหนึ่งคือตอนนั้นผมเรียนมัธยมปลาย เป็นช่วงปิดเทอม ผมเคยไปล้างจานที่อเมริกา เจ้าของร้านอาหารออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ เพราะเขาไม่อยากจ้างคนในประเทศตัวเอง ถ้าเอานักเรียนแบบผมไป ออกค่าตั๋ว ค่าที่พักให้ ถูกกว่าที่เขาจะไปจ้างด้วยมาตรการจ้างงาน ตอนนั้นผมเข้าไปเจอคนไทย 1-2 คน เป็นพ่อครัวกับพนักงานล้างจาน หั่นหมู หั่นผัก คนหนึ่งทำงานเป็นกุ๊ก ตอนนั้นผมอายุ 16 พี่เขาอายุ 30 กว่า แต่พี่คนนี้วีซ่าขาด ไม่ได้มีการศึกษาสูง ทำงานได้สักพักก็มีเงินซื้อรถขับ ซึ่งถ้าอยู่เมืองไทยไม่น่ามีโอกาสนี้ด้วยซ้ำไป จ่ายค่าห้องได้อะไรได้ เขาเป็นโรบินฮู้ด มีลูกอยู่เมืองไทย สามารถส่งเงินกลับบ้านได้มหาศาล นี่คือชีวิตที่ต้องดิ้นรนมาก แต่ก็มีความมั่นคงในชีวิตสูง ถ้าไม่มีญาติมิตร หรือเครือข่ายที่พร้อมสนับสนุนอย่างน้อยๆ ก็ต้องมีเงินหลักล้าน
ตอนนั้นที่ผมไปทำก็ได้เดือนละหมื่นกว่าบาท แต่ก็ทำงานหนักเปิดร้าน 11 โมง อยู่จนถึง 5 ทุ่ม รายได้ผมตอนนั้นถ้าเทียบกับที่ไทยก็ยังเยอะกว่ามาก ย้อนไปหลายสิบปีที่แล้วก็ยังเยอะกว่าไทยตอนนี้อยู่ดี
สำหรับภาคธุรกิจ SMEs ที่น่าจะสาหัสเอามากๆ ในตอนนี้ มีคัมภีร์เอาตัวรอดอะไรที่จะแนะนำบ้าง
คำแนะนำแรกคือ SMEs ที่เกิดปัญหาแบบเดียวกันให้ควบรวมกัน ถ้าสามารถซื้อขายกันได้ ทำให้รูปแบบการแข่งขันมันดีขึ้น การแข่งขันจะรุนแรงน้อยลง อีกอย่างคือเก็บกระแสเงินสดยังเป็นเรื่องสำคัญ ผมมองไม่เห็นว่าธุรกิจจะกลับมาปกติได้เมื่อไหร่ โรงเรียนจะกลับมาเปิดได้ตอนไหน นักท่องเที่ยวปีนี้ถึงสองล้านคนก็เก่งแล้ว กลับมาเร็วที่สุดคงเป็นกลางปีหน้า ต้องอยู่อย่างนี้กันอีกนาน ถือเงินสดให้เยอะที่สุด บริษัทที่พอมีศักยภาพก็เตรียมกลับมาปรับปรุง ยกระดับสินค้าองค์กร พนักงานในธุรกิจให้แตกต่าง
มองเรื่องล็อกดาวน์ (ที่ไม่ล็อกดาวน์) ครั้งนี้ยังไง
ผมไม่ได้ติดขัดเรื่องล็อกดาวน์ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ แต่ถ้าจะทำอย่างนั้น การช่วยหลือดูแลประชาชนต้องได้สัดส่วน ผมไม่ได้ปฏิเสธยาแรง ต้นทุนใหญ่ๆ พวกค่าเช่า ค่าแรง ที่เป็น fix cost ตัวนี้สำคัญ ถ้าไปไม่ไหวก็เลิกจ้าง ซึ่งเลิกจ้างคนก็ตกงาน ยิ่งคนตกงานนานเท่าไร แรงจูงใจจะกลับเข้ามาในระบบจะน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าคุณอายุ 20 กว่า แล้ววันนี้บริษัทเลิกจ้าง โอกาสจะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตน้อยมากแล้วนะ
ภารกิจของรัฐบาลคือทำให้คนถูกเลิกจ้างน้อยที่สุด ออกแบบนโยบายอย่าง ‘job retention scheme’ รัฐออกค่าจ้างแรงงานให้นายจ้างครึ่งหนึ่ง แต่ต้องแลกมากับเงื่อนไขที่ว่า ภายใน 3 เดือนนี้บริษัทต้องไม่เลิกจ้างคนทำงานระดับปกติ และไม่ไล่ออกภายใน 6 เดือน
อีกอันคือการสร้างพันธมิตร บางคนอยากทำตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตัวเอง อยากเปิดหน้าร้านให้มาก ได้ลูกค้าต่างชาติ แต่เงินทุนคุณร่อยหรอลง โอกาสเดินตามความฝันน้อยลง ในภาวะแบบนี้การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจสำคัญมาก กลับมาที่ว่าอะไรคือ core business ของเรา อะไรทำไม่ดีก็เอาออก outsource ไปเลย ถ้าคุณมีแวร์เฮาส์ แวร์เฮาส์จำเป็นไหมในตอนนี้ ถ้าไม่ก็โยนให้ third party (บริษัทภายนอก) ถ้าบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ core process ต้องสร้างพันธมิตร อุดรูรั่วให้ตัวเอง
โจทย์ของเศรษฐกิจไทยในวันนี้มีอะไรบ้าง
ในภาพรวมมีโจทย์เรื่องการเมือง ถ้าการเมืองไม่มีคุณภาพ มันก็สร้างการพัฒนาประเทศที่มีคุณภาพไม่ได้ โจทย์นี้จากการพัฒนาประเทศมันตอบออกมาแล้ว คุณต้องจัดการกับภาคเศรษฐกิจให้ได้ ใครที่พูดแต่เศรษฐกิจ แก้ปัญหาโดยไม่แตะการเมือง สำหรับผมคงแก้ไม่ได้หรอก
ในด้านเศรษฐกิจผมคิดว่ามีปัญหาสองตัวใหญ่ๆ คือจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางยังไง ทำให้มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองยังไง และอีกโจทย์คือ เมื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้แล้ว จะทำให้ดอกผลถูกกระจายให้กับคนในสังคมได้อย่างไร ซึ่งโควิด-19 จะยิ่งทำให้หนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีก