LOADING

Type to search

“เป็นพนักงานออฟฟิศต้องอดทน กองงานพุ่งชนต้องไม่เป็นไร” ทำไม ‘การทำงานหนัก’ ถึงเป็นค่านิยมที่ตามติดชีวิตคนทำงาน?

“เป็นพนักงานออฟฟิศต้องอดทน กองงานพุ่งชนต้องไม่เป็นไร” ทำไม ‘การทำงานหนัก’ ถึงเป็นค่านิยมที่ตามติดชีวิตคนทำงาน?
Share

ความเชื่อที่ว่า การทำงานเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของชีวิต ก่อให้เกิดวัฒนธรรม ‘การทำงานหนัก’ ที่ชาวออฟฟิศต้องทำงานแบบ ‘ถวายหัว’ เพื่อแลกกับการเติบโตในสายอาชีพที่ใฝ่ฝัน และการยอมรับในสังคม

แนวคิดของการทำงานหนักที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ทำให้เกิดคุณลักษณะของคนทำงานแบบสุดชีวิตที่เป็นภาพชินตาในหลายองค์กร เช่น

เข้างานคนแรก แต่เลิกงานคนสุดท้ายเสมอ

หอบงานกองโตกลับไปทำที่บ้านต่อทุกวัน

ทำงานแบบ ‘ไร้ข้อจำกัด’ แสตนด์บายคุยงานตลอดเวลา

แม้คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวสู่โลกการทำงาน จะไม่ซื้อไอเดีย ‘ทำงานจนตัวตาย’ และทำงานโดยใช้ความสุขของตัวเองเป็นตัวตั้ง แต่การทำงานหนักยังเป็นค่านิยมที่ฝังลึกในสังคมมานาน รวมถึงองค์กรยังประเมินความสามารถของพนักงานด้วยเป้าหมายที่สูงลิ่ว ทำให้การพิสูจน์ตัวเองผ่านการทำงานหนัก เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การทำงานหนัก จึงเป็นค่านิยมที่ยากจะกำจัดให้หมดไป แม้จะพยายามสนับสนุนให้ชาวออฟฟิศทำงานอย่างมี Work-Life Balance ก็ตาม เพราะความกดดันจากปัจจัยต่างๆ ยังคงรายล้อมอยู่รอบตัว โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรที่เชิดชูการทำงานหนักมากกว่าห่วงในสวัสดิภาพของพนักงาน

เมื่อการทำงานหนักเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร พนักงานจึงต้องทำงานแบบทุ่มสุดตัวภายใต้สายตาอันเฉียบคมของหัวหน้า เพื่อสร้างผลงานตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งพนักงานที่เคยชินกับการทำงานหนัก จะส่งต่อวัฒนธรรมการทำงานไปยังพนักงานรุ่นใหม่ที่ไม่มีทางเลือก นอกจาก ‘เข้าเมืองตาลิ่ว ต้องลิ่วตาตาม’ จนกลายเป็นวัฏจักรการทำงานหนักขององค์กร

อย่างเช่น แนวคิดการทำงานของคนญี่ปุ่นที่ไม่ว่าอยู่องค์กรใด ก็จะอุทิศชีวิตให้กับงานอย่างเต็มที่ การทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายเพื่อแลกกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ถือเป็นการเติมเต็มคุณค่าของชีวิต ทำให้พนักงานบางรายต้องทำงาน 60 – 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โรคภัยรุมเร้า และลาจากโลกนี้ไปตลอดกาล เหลือไว้เพียงบทเรียนที่เรียกว่า ‘คาโรชิ’ (Karoshi) วัฒนธรรม ‘ทำงานจนตัวตาย’ ที่คนรุ่นใหม่ใช้เตือนใจตัวเอง

แม้แต่ ‘Twitter’ ในยุคของ ‘อีลอน มัสก์’ ก็มีวัฒนธรรมองค์กรที่เปลี่ยนไป เมื่อบริษัทประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก และมีหนี้จำนวนมหาศาล บอสคนใหม่จึงไม่มีทางเลือก นอกจากผลักดันให้พนักงานทำงานหนักขึ้นด้วยวิธีสุดโต่งอย่างการสนับสนุนให้พนักงานนอนที่ออฟฟิศ เพื่อสร้างความพร้อมในการทำงานตลอดเวลา และมีผลงานที่พาบริษัทก้าวสู่การทำกำไรในเร็ววัน

Work Hard
Image by yanalya on Freepik

แต่วิถีการทำงานหนักไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเห็นด้วย และเลือกที่จะก้าวไปในเส้นทางนั้น เพราะมองว่า ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยการทำงานหนัก และทุกคนมีบทบาทอื่นในชีวิตนอกจากเป็นชาวออฟฟิศที่ทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำให้คนทำงานในองค์กรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คนที่ขีดเส้นระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวชัดเจน และคนที่อุทิศชีวิตเพื่องาน

เมื่อคนที่สไตล์การทำงานต่างกันสุดขั้วต้องมาทำงานด้วยกัน ย่อมเกิดความขัดแย้งและการส่งต่อ ‘toxic culture’ โดยไม่รู้ตัว เพราะคนที่ทำงานสุดชีวิตจะรู้สึกแคลงใจที่เพื่อนร่วมงานไม่ทุ่มเทเท่าตัวเอง ส่วนคนที่ทำงานอย่างมีขอบเขตจะรู้สึกว่า ตัวเองถูกกดดันให้ทำงานตลอดเวลา ทั้งที่ทำทุกอย่างเสร็จในเวลางาน

ดังนั้น หัวหน้าควรกลับมาทบทวนตัวเองว่า การทำงานหนักเป็นหนทางสู่การสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับองค์กรจริงหรือไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานสั่นคลอน

เมโลดี ไวล์ดิง (Melody Wilding) ที่ปรึกษาด้านการทำงานและคอลัมนิสต์ของ Harvard Business Review ให้คำแนะนำในการทำงานร่วมกับ ‘workaholic’ หรือ ‘คนบ้างาน’ ที่หัวหน้าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารทีมได้ ดังนี้

1. ปรับ mindset การทำงานของทีม

ชาวออฟฟิศแต่ละคนมีเหตุผลในการทำงานหนักต่างกันไป บางคนต้องการรายได้เพิ่มจากการทำงานล่วงเวลา บางคนต้องการเติมเต็มคุณค่าของชีวิต หรือบางคนถืองานในมือมากเกินไป ซึ่งหัวหน้าควรหาสาเหตุการทำงานหนักให้พบ และพูดคุยกับลูกทีมแต่ละคน เพื่อสร้างสมดุลการทำงาน รวมถึงออกแบบวิธีทำงานที่เหมาะสมกับ productivity ของทีมมากขึ้น

2. อย่าเชิดชูพฤติกรรมการทำงานหนัก

“ขอบคุณทุกคนที่ทำงานหนัก จนโปรเจกต์นี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”

“กลับบ้านคนสุดท้ายตลอด ขยันจริงๆ”

ถึงแม้คำพูดเหล่านี้จะเป็นการชื่นชมความสามารถที่หัวหน้าใช้กับลูกทีมโดยไม่คิดอะไร แต่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นยาพิษที่สร้าง toxic culture ให้กับทีม และทำให้คนที่ทำงานตามเวลารู้สึกผิดที่ไม่สามารถทำตามความคาดหวังของหัวหน้าได้

ดังนั้น หัวหน้าควรเลือกใช้คำชมที่เป็นกลาง เช่น “ทุกคนทำได้ดีมาก” หรือ “ทีมเราเก่งจริงๆ” เพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นมิตรกับทุกคน และไม่ส่งต่อค่านิยมที่ทุกคนต้องทำงานเกินตัว

3. เป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานของทีม

“อยากให้ทีมเป็นแบบไหน หัวหน้าต้องทำแบบนั้น”

หน้าที่ของหัวหน้าคือการเป็น ‘หางเสือ’ ที่คอยกำหนดทิศทางและบรรยากาศการทำงานของทีม ถ้าหัวหน้าเป็นคนทำงานละเอียด การทำงานของทีมก็ต้องละเอียดตาม หรือถ้าหัวหน้าเป็นคนทำงานหนัก ก็จะบริหารทีมด้วยการรีด output อย่างเข้มข้น

ถ้าหัวหน้าไม่ต้องการให้ลูกทีมทำงานหนัก หรืออุทิศชีวิตเพื่อการทำงาน หัวหน้าต้องเป็นตัวอย่างให้กับทีมผ่านการทำงานอย่างมีขอบเขต และขีดเส้นคั่นระหว่าง ‘งาน’ กับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ อย่างชัดเจน

บางคนมองว่า การทำงานหนักไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะความสำเร็จในชีวิตต้องแลกมาด้วยความพยายาม แต่ถ้าคุณสามารถออกแบบชีวิตการทำงานโดยไม่ต้องฝืนตัวเอง และมีเวลาให้กับบทบาทอื่นๆ ในชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุล คงเป็นทางเลือกที่ทำให้มีความสุขมากกว่าแน่นอน

Sources: http://bit.ly/3RGdwbK

http://bit.ly/40BmVVI

http://bit.ly/3lfNJef

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like