[Work & Life] ‘Gen Z 40% เชื่อว่าเส้นทางความสำเร็จเลี่ยงเบิร์นเอาท์ไม่ได้’ รับมือการทำงานอย่างไร เมื่อภาวะหมดไฟเป็นเรื่องปกติ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เพิ่มภาวะหมดไฟลงในมาตรฐานการจัดกลุ่มโรคระหว่างประเทศฉบับปรับปรุงครั้งที่ 11 (11th Revision of the International Classification of Diseases: ICD-11) โดยจัดเป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน (Occupational phenomenon) ซึ่งเกิดจากความเครียดเรื้อรั้งจากการทำงานที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ มี 3 ลักษณะ ดังนี้
– ความรู้สึกหมดเรี่ยวแรง เหนื่อยล้า พลังชีวิตหดหาย (Emotional Exhaustion)
– ความรู้สึกไม่อยากทำงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องานที่ทำ (Cynicism)
– ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง (Professional Efficacy)
คุณกำลังรู้สึกอย่างที่กล่าวไปบ้างหรือไม่?
[ Gen Z กว่า 40% เชื่อว่า ความรู้สึกหมดไฟเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางความสำเร็จ ]
แคนดี เวียนส์ (Kandi Wiens) นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะหมดไฟ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่าภาวะหมดไฟส่งผลกระทบต่อคนทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย โดยการสำรวจความเครียดในอเมริกาเผยให้เห็นว่า คนอายุ 18 – 34 ปี 67% คิดว่าความเครียดทำให้พวกเขาโฟกัสสมาธิได้ยาก และ 58% เห็นว่าในแต่ละวันของพวกเขาเต็มไปด้วยความเครียด และเกือบครึ่งบอกอีกว่า บางวันความเครียดสูงจนไม่สามารถทำงานได้
ด้าน Gallup บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ประเมินว่า ภาวะหมดไฟทำให้การมีส่วนร่วมของพนักงานอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสียหายกว่า 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 9% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า ภาวะหมดไฟนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผู้คนเห็นว่าแปลก โดยคนทำงาน Gen Z กว่า 40% เชื่อว่า ความรู้สึกหมดไฟ เหนื่อยหน่ายกับงาน เป็นส่วนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเส้นทางความสำเร็จ
หนังสือ Burnout Immunity ของ เวียนส์ อธิบายว่า บางครั้งภาวะการหมดไฟก็ค่อยๆ มาเยือนอย่างเงียบๆ จนไม่รู้ตัวว่าเรากำลังเป็น จนกระทั่งร่างกายป่วย แรงจูงใจหาย หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งคาดว่าจะเกิดมากขึ้นทั่วทั้งโลกอย่างช้าๆ
[ คำแนะนำ 7 ข้อ รับมือภาวะหมดไฟ ]
ต่อไปนี้คือ 7 ข้อแนะนำ สำหรับหาจุดสมดุลที่เหมาะสมของความเครียด ผ่อนคลาย สงบ และตื่นตัว ที่เวียนส์แนะนำ ดังต่อไปนี้
1. ระบุภาวะที่ทำให้เครียด
นึกดูว่าเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้รักษาสภาวะที่สงบผ่อนคลายเอาไว้ได้ เช่น การนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย เป็นต้น จากนั้นนึกดูว่า อะไรที่จำเป็นต้องใช้เพื่อรักษาแรงจูงใจหรือสิ่งที่ต้องเลี่ยง เช่น เมื่อต้องพูดในที่ประชุมต้องมีเวลาเผื่อสำหรับการซ้อม หรือก่อนพูดต้องหลีกเลี่ยงคาเฟอีนเพราะทำให้รู้สึกกระวนกระวายใจ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ช่วยลดความเครียดได้
2. ควบคุมอารมณ์
การควบคุมอารมณ์จะช่วยให้สามารถจัดการอารมณ์ในสถานการณ์ที่เครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการหนึ่งที่ช่วยได้ดีคือ การฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ตระหนักถึงความคิดและอารมณ์ของตนเอง ตอบสนองต่อความเครียดน้อยลง
3. พักผ่อนจากงาน
หันมาให้ความสำคัญกับการพักผ่อนจากการทำงาน ซึ่งการพักสั้นๆ ทุกวันจะช่วยลดความเครียดไม่ให้สะสมมากเกินไป โดยต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวันจนเป็นนิสัย เช่น การพักประจำชั่วโมง พักกลางวัน ผ่อนคลายหลังเลิกงาน เป็นต้น
4. สิ่งที่ทำให้ดีขึ้น
ลองนึกถึงสิ่งที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ เช่น การมอบหมายหรือกระจายงาน การขอเลื่อนกำหนดเวลา ขอความช่วยเหลือ หรือการปรับตารางในการดำเนินงาน เพื่อควบคุมสถานการณ์ตรงหน้าให้ดีขึ้น สามารถลดภาวะทางอารมณ์เชิงลบได้
5. ขอความช่วยเหลือ
เพื่อนร่วมงานเป็นผู้ที่สนับสนุนทั้งเรื่องงานและบรรยากาศที่การทำงาน ช่วยลดความเครียดได้ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่กันไว้ การช่วยเหลืออาจมาในรูปแบบช่วยทำงาน ปรึกษา ให้คำแนะนำ หรือแบ่งปันความรู้สึก เป็นต้น
6. นึกถึงคุณค่า
นึกถึงคุณค่าในตนเองและค่านิยมที่ตนยึดถือ และจงเลี่ยงสิ่งที่ขัดแย้งหรือทำให้คุณค่าและค่านิยมเหล่านี้ลดลง เช่น หากคุณเป็นคนใส่ใจเรื่องคุณภาพของชิ้นงาน แต่ทำงานไม่ทัน อย่าเพิ่งเผางานแบบไม่มีคุณภาพส่ง ให้ขอความช่วยเหลือหรือขอปรับเลื่อนกำหนดเวลาก่อน เป็นต้น
7. พบผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อเกิดความรู้สึกเครียดจนกลายเป็นภาวะหมดไฟ เหนื่อยหน่ายการทำงาน จนความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัด ที่ปรึกษา หรือจิตแพทย์ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนี้กัดกินเป็นเวลานาน
[ ส่งท้าย ]
ด้วยสถานการณ์ที่ผันผวน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่แน่นอน และเปราะบางในปัจจุบัน ส่งผลต่อความอยู่รอดของโลกธุรกิจ และส่งผลต่อการทำงานของแรงงานโดยตรงเช่นกัน
ความคาดหวังและข้อเรียกร้องต่อคนทำงานสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทักษะใหม่ๆ ที่ต้องเรียนรู้ ข้อมูลมากมายที่ต้องทำความเข้าใจ หรือเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ต้องตามให้ทัน ส่งผลให้คนทำงานเกิดความเครียดในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งในการทำงาน
ความรู้สึกหมดไฟ เบื่อหน่ายกับการทำงาน สะท้อนถึงความเครียดเรื้อรังที่เกิดขึ้นของคนทำงานยุคนี้ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ ต้องหันมาให้ความสำคัญและรับมือตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากการสำรวจตัวเองและลองทำตามคำแนะนำที่กล่าวไป
Sources:
How Burnout Became Normal — and How to Push Back Against It https://hbr.org/2024/04/how-burnout-became-normal-and-how-to-push-back-against-it
Understanding the WHO Burnout Definition https://ambr.company/blog/understanding-the-who-burnout-definition/#:~:text=According%20to%20the%20WHO%2C%20burnout,to%20excessive%20stress%20at%20work.
BURNOUTหมดไฟในการทำงาน ภาวะคุกคามคุณภาพชีวิตแห่งโลกยุคใหม่ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/burnout/