Type to search

ลางานเพราะสูญเสียคนรัก อกหักยังทำใจไม่ได้ ทำไมสวัสดิการลาพักใจ ‘Bereavement leave’ จึงสำคัญกับคนทำงาน

June 20, 2022 By Future Trends

แม้จรรยาบรรณของความเป็นมืออาชีพจะบอกเราว่า ไม่ควรให้เรื่องส่วนตัวมามีผลกับการทำงาน หากทำไม่ได้ก็จะถูกบอกว่าไม่เป็นมืออาชีพ แต่ในบรรดาเรื่องส่วนตัวที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนๆ หนึ่งนั้น แต่ละเรื่องก็มีระดับของผลกระทบที่แตกต่างกัน บางเรื่องก็เล็กน้อยจนไม่มีผลอะไรกับการทำงาน แต่บางเรื่องก็มากจนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบในชีวิตด้านอื่นๆ รวมถึงการทำงานด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนรักไป ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็ต้องใช้เวลาในการจัดการอะไรกับตัวเองและเรื่องอื่นๆ เมื่อมีความสูญเสียเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในประทศไทยนั้น บริษัทหรือองค์กรหลายๆ แห่งก็ยังคงไม่มีนโยบายที่รองรับการลากิจในกรณีแบบนี้ ทำให้พนักงานหลายคนไม่กล้าหรือไม่สบายใจที่จะขอลาเมื่อมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ถึงอย่างนั้น บริษัทหรือองค์กรก็สามารถช่วยสนับสนุนพนักงานในกรณีแบบนี้ได้ โดยในต่างประเทศนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Bereavement leave’ หรือการลาไว้ทุกข์เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพนักงานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

Bereavement leave คืออะไร?

Bereavement leave เป็นวันประเภทหนึ่งที่มีไว้ให้กับพนักงานในกรณีที่มีสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเสียชีวิต โดยในช่วงเวลานี้ บริษัทหรือองค์กรจะจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงินค่าจ้างก็ได้ตามแต่ดุลยพินิจหรือที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับกรณีนี้ (ถ้ามี) โดยขอบเขตของบุคคลที่ถือว่าเป็นครอบครัวหรือคนใกล้ชิดในที่นี้นั้น ในระดับแรก ประกอบไปด้วยสมาชิกในครอบครัว (บิดา มารดา บุตร) เครือญาติ รวมถึงพ่อแม่บุญธรรมหรือบุตรบุญธรรมด้วย ในขณะที่คนใกล้ชิดที่สนิทสนมแต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดนั้น ก็สามารถลาได้เช่นกัน

ในส่วนของระยะเวลาในการลานั้น อาจเริ่มต้นที่ 3 วันต่อหนึ่งครั้งเพื่อที่จะจัดการเรื่องต่างๆ อย่างการจัดงานศพ ร่วมงานศพ การจัดการเรื่องมรดก การปฏิบัติตามธรรมเนียมของครอบครัว และการไว้ทุกข์ส่วนตัว โดยอาจลาเพิ่มอีก 2 วันได้หากต้องเดินทางไกล หรือถ้าหากมีเรื่องซับซ้อนที่ต้องใช้เวลาในการจัดการเพิ่มขึ้นอีกนอกเหนือจากนี้ก็อาจลาเพิ่มโดยไม่รับค่าจ้างได้เช่นกัน

โดยที่การยื่นขอลาของพนักงานในเบื้องต้นนั้นอาจไม่ต้องใช้หลักฐานใดๆ (ลา 3 วัน) แต่ถ้าหากต้องการวันลาเพิ่มเพื่อเดินทางหรือจัดการเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในการลาเบื้องต้น ก็อาจจะต้องใช้หลักฐานเพื่อยืนยัน นอกจากนี้ ก็อาจมีนโยบายการลงโทษทางวินัยสำหรับหัวหน้าหรือผู้จัดการที่ปฏิบัติไม่เหมาะสมต่อการสูญเสียของพนักงาน เช่น ไม่อนุมัติให้ลาไว้ทุกข์ในขั้นเบื้องต้น (3 วัน) เป็นต้น

แล้วทำไมนโยบายนี้ถึงจำเป็น?

ในยุคที่วัฒนธรรมการทำงานมีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พนักงานหลายๆ คนนั้นเริ่มให้ความสำคัญกับการ Work-Life Balance หากบริษัทหรือองค์กรใดที่ไม่มีนโยบายที่สนับสนุนตรงนี้ ก็อาจทำให้ไม่สามารถรั้งหรือดึงดูดให้พนักงานอยู่กับบริษัทหรือองค์กรนานๆ ได้ ซึ่งนโยบายการลาเพื่อไว้ทุกข์ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการ Work-Life Balance เช่นกัน

นอกจากนี้ การมีนโยบายลาเพื่อไว้ทุกข์ ยังเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจกับพนักงานในฐานะมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อมุมมองที่พนักงานมีต่อบริษัทหรือองค์กร พนักงานจะรู้สึกว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีและได้ความเคารพ ซึ่งจะส่งผลต่อ engagement และ productivity ของพนักงานโดยตรง ยิ่งพวกเขามีความรู้สึกในเชิงบวกที่ดีต่อองค์กรหรือบริษัทมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งมี engagement และ productivity ให้กับบริษัทหรือองค์กรมากเท่านั้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ

ดังนั้นแล้ว นโยบาย Bereavement leave หรือการลาไว้ทุกข์นี้ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับบริษัทหรือองค์กรในยุคปัจจุบันนั้นประสบความสำเร็จได้มากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด มันคือการปฏิบัติ และให้ความเคารพต่อพนักงานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนนั้นควรพึงกระทำกันอยู่แล้ว

Sources: https://bit.ly/3O6KbnX

https://bit.ly/39GWjx9