‘มาม่า’ ปรับขึ้นราคาจากห่อละ 6 บาท เป็น 7 บาทอย่างเป็นทางการ
‘นมดิบ’ ปรับขึ้นราคาจากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 20.50 บาท ในรอบ 8 ปี
‘ซอสมะเขือเทศ’ อาจมีการปรับขึ้นราคา เพราะภัยแล้งครั้งใหญ่ทำผลผลิตขาดแคลน
ช่วงนี้ หลายๆ คนคงเห็นข่าวคราวเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหารถี่ขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่งผลให้ราคาอาหารยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ถึงแม้ค่าแรงจะไม่มีการปรับขึ้นมาแล้วหลายปี) และมีทีท่าว่า เราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องแบกรับราคาอาหารที่แพงหูฉี่กันไปจนถึงสิ้นปี 2022
ตั้งแต่เข้าปี 2022 มา คนไทยต้องรับมือกับราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูที่เปรียบเสมือนโดมิโนตัวแรกที่ล้ม แล้วทำให้วัตถุดิบชนิดอื่นๆ พลอยมีการปรับขึ้นราคาไปด้วย แต่เมื่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มทวีความรุนแรง ประกอบกับการมาของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบที่ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวสูงขึ้นอีกเท่าตัวแบบยกแผง
จากการรวบรวมข้อมูลและสรุปออกมาเป็นงานวิจัยของมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) ผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลก ชี้ว่า ราคาอาหารจะมีการปรับตัวขึ้นสูงสุดในปี 2022 และจะเริ่มปรับตัวลงในปี 2023 ซึ่งราคาอาหารในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้าแล้วถึง 65 เปอร์เซ็นต์ และวิกฤตการณ์ของโลกในปี 2022 ก็ดันราคาอาหารให้สูงขึ้นอีก 12 เปอร์เซ็นต์กันเลยทีเดียว
ถึงแม้การที่ราคาอาหารจะเริ่มปรับตัวลงในปี 2023 จะยังเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่า ตอนนี้จะไม่มีสัญญาณของแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เกิดขึ้นเลย เพราะดัชนีต้นทุนอาหารโลกของสหประชาชาติ (United Nation หรือ UN) ลดลงเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนถึงแนวโน้มของราคาอาหารที่เริ่มปรับตัวลงบ้างแล้ว
แต่แนวโน้มที่ว่านี้ เป็นเพียงสัญญาณที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ หากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน ราคาอาหารก็มีโอกาสกลับมาดีดตัวสูงขึ้นได้อีกเช่นกัน
แล้วสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องรับมือกับ ‘ราคาอาหารแพง’ ไปจนถึงสิ้นปียังมีอะไรจากที่เรากล่าวถึงไปแล้วบ้าง? เราจะพาทุกคนไปไล่เรียงพร้อมๆ กัน
3 เหตุผลที่คนไทยต้องรับมือกับ ‘ราคาอาหารแพง’ ไปจนถึงสิ้นปี
ต้องยอมรับว่า จุดเริ่มต้นของการที่ราคาอาหารแพงขึ้นเกิดจากการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ มหันตภัยร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน และคัดผู้ประกอบการบางรายออกจากโลกธุรกิจอย่างโหดร้าย
การระบาดของโควิด-19 ทำให้การผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเท่าเดิมหรืออาจจะมีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก’ (Global Supply Chain Crisis) ในปี 2021
ลำพังห่วงโซ่อุปทานโลกก็มีความบอบช้ำอยู่แล้ว เกิดปัญหาความขาดแคลน และกลไกตลาดก็ดันราคาวัตถุดิบให้พุ่งสูงเกือบเท่าตัว ยิ่งมีวิกฤตการณ์โลกในปี 2022 เข้ามาตอกย้ำ ก็ยิ่งเป็นเหมือนการราดแอลกอฮอล์ใส่แผลสดให้รู้สึกเจ็บแสบมากขึ้น
แล้วผลพวงจากวิกฤตการณ์โลกที่เป็นเหมือนแอลกอฮอล์ที่ตอกย้ำความเจ็บแสบมีอะไรบ้าง?
1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน
“ถึงแม้จะมีการผ่อนคลาย แต่ก็ยังตึงเครียดอย่างหนัก”
สงครามที่ดำเนินมากว่า 6 เดือน ส่งผลกระทบกับผู้คนบนโลกมากมาย โดยเฉพาะเรื่อง ‘อาหาร’ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต เนื่องจาก รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก คิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศ ก็คือรัสเซียไม่สามารถส่งออกได้ เพราะมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศต่างๆ ส่วนยูเครนก็ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะรัสเซียบุกยึดท่าเรือที่สำคัญของตัวเอง
เมื่อสงครามเดินทางมาถึงช่วงที่เริ่มผ่อนคลาย รัสเซียและยูเครนสามารถบรรลุข้อตกลงการเปิดท่าเรือของยูเครนร่วมกันในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชสำคัญอย่างข้าวสาลีและข้าวโพดได้ ทำให้ความตึงเครียดของห่วงโซ่อุปทานลดลง และส่งผลให้ราคาวัตถุดิบเริ่มปรับตัวลงด้วย
แต่ “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” เพราะตอนนี้สถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงมีความตึงเครียดและความไม่แน่นอนอยู่ หากสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดที่รุนแรง การปิดท่าเรือก็อาจจะกลับมาอีกครั้ง ทำให้ราคาวัตถุดิบสามารถดีดตัวกลับขึ้นไปได้
2. ราคาวัตถุดิบต่ำลง แต่ราคาพลังงานสูงขึ้น
ถึงแม้ว่า ราคาวัตถุดิบจะเริ่มปรับตัวจากจุดสูงสุดลงมาบ้าง แต่ราคาพลังงานที่เป็นหัวใจสำคัญของภาคการผลิตกลับปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลายปี เนื่องจาก รัสเซียที่เป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติและน้ำมันรายใหญ่ของโลก ตัดสินใจลดปริมาณการส่งออก เพื่อต่อกรกับมาตรการคว่ำบาตรของประเทศต่างๆ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานในยามที่มีสินค้าน้อยลง ดันราคาพลังงานให้สูงขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น ต่อให้ต้นทุนของวัตถุดิบจะต่ำลง แต่ถ้าต้นทุนพลังงานยังคงสูงขึ้น ราคาอาหารก็ไม่มีทางที่จะถูกลงได้
3. ‘ภัยแล้ง’ ที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายร้อยปี
การที่ปริมาณของผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สืบเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายร้อยปี ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ในปัจจุบัน พื้นที่ทั่วโลกมีความแห้งแล้งมากขึ้นจากปี 2000 ถึง 29 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำฝนน้อยลงกว่าปีก่อนๆ
เมื่อปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร พืชก็ไม่สามารถผลิดอกออกผลได้ตามปกติ ทำให้ผลผลิตมีปริมาณน้อยลง และไม่สัมพันธ์กับความต้องการของผู้บริโภคที่มีเท่าเดิม
เมื่อราคาวัตถุดิบต่ำลง ราคาอาหารจากภาคธุรกิจจะมีการปรับลงหรือไม่?
กลไกราคาอาหาร เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับทุกคนมากที่สุด ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจถึงปัญหาที่ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเท่าตัว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการขึ้นราคาสินค้า เพื่อความอยู่รอดของผู้ผลิต แต่เมื่อราคาวัตถุดิบต่ำลงหรือเข้าสู่ภาวะปกติ โอกาสที่ราคาจะปรับลงมามีมากน้อยเท่าใด?
จากการรวบรวมข้อมูลและติดตามสถานการณ์ราคาอาหารในไทยมาได้สักระยะหนึ่ง คงต้องบอกว่า โอกาสที่จะไม่ปรับลงมีมากกว่าโอกาสที่ปรับลง ต่อให้ราคาวัตถุดิบจะเข้าสู่สภาวะปกติได้ แต่องค์ประกอบในการผลิตอาหารไม่ได้มีแค่ปัจจัยจากวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ยังคงมีเรื่องของการขนส่งและบรรจุภัณฑ์ด้วย หากราคาพลังงานและพลาสติกไม่ปรับลง ต้นทุนที่ผู้ผลิตต้องแบกรับก็ยังสูงอยู่ดี
และอีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ก็คือลักษณะการปรับราคาของผู้ผลิตในไทยไม่ได้มีแค่ปัจจัยจากต้นทุนและกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ราคาของคู่แข่ง การรักษาความพึงพอใจของลูกค้า การรักษามูลค่ากำไรต่อชิ้น ดังนั้น ต่อให้ราคาวัตถุดิบจะต่ำลง แต่หากพิจารณาส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย ผู้ผลิตก็มีสิทธิ์ที่จะคงราคาไว้ดังเดิม
สุดท้ายแล้ว เราในฐานะผู้บริโภคก็คงต้องติดตามข่าวสารและจับตาดูสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อราคาอาหารอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป
แล้วทุกคนคิดว่า แนวโน้มของราคาอาหารจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต จะแพงขึ้นจากเดิม หรือใกล้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว?
Sources: https://mgstn.ly/3Cv9nBB
https://bloom.bg/3TcErMB
https://econ.st/3KlwDE6
https://bit.ly/3pJVA2H
https://bit.ly/3AQ3Kgn
https://bit.ly/3dXiZee