มีเป้าหมายชัด แต่ไม่ตรงกับที่บริษัทต้องการ ‘Visionary Leader’ ทำไมผู้นำแบบมีวิสัยทัศน์ถึงไม่เวิร์กอีกต่อไป
หากเอ่ยถึงเบื้องหลังความสำเร็จอันสวยหรูของยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างเทสล่า (Tesla), แอปเปิล (Apple), เฟซบุ๊ก (Facebook) และอาลีบาบา (Alibaba) แล้ว หลายคนน่าจะนึกถึงบรรดา ‘ผู้นำแบบมีวิสัยทัศน์ (Visionary Leader)’ อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอีลอน มัสก์ (Elon Musk), สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs), มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) หรือแม้กระทั่งแจ็ค หม่า (Jack Ma) ก็ด้วย
อีกทั้งกูเกิล (Google) ยังเคยทำการวิจัยชื่อ ‘Project Oxygen’ ในการหาคำตอบว่า อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของผู้จัดการที่ดี (Great Manager) ? โดยก็ใช้เวลาศึกษานานถึง 10 ปีด้วยกัน ผลปรากฏว่า การมีวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่ชัดเจนนั้นติดหนึ่งใน 1 ใน 10 คุณสมบัติสำคัญที่ผู้จัดการที่ดีควรมี ดังนั้น จึงเกิดเป็นความเข้าใจว่า Visionary Leader เป็นกุญแจสำคัญในยุคนี้ เพราะช่วยกำหนดทิศทาง และสร้างแรงบันดาลใจกับทีมไปสู่ความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย
ทว่า ในความเป็นจริง ผู้นำประเภทนี้อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบไปทั้งหมด มีความหนึ่งบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า แม้ Visionary Leader จะมีวิสัยทัศน์ที่น่าทึ่งในการพาทีมประสบความสำเร็จ แต่ก็สามารถล้มเหลวได้อย่างเหลือเชื่อเช่นกัน
แล้วทำไม Visionary Leader กับการมีวิสัยทัศน์ที่น่าทึ่งถึงไม่เวิร์ก แถมบางทีก็ยังเป็นเนื้อร้ายที่ค่อยๆ ทำร้ายองค์กร ในบทความนี้ Future Trends จะมาเล่าด้านมืดของผู้นำประเภทนี้ให้ฟังกัน
เมื่อวิสัยทัศน์คนละทางกับองค์กร ก็เป็นดาบสองคม ‘ทิ่มแทง’ โดยไม่รู้ตัว
ผู้นำก็เหมือนกัปตันที่นำทางกะลาสีในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ คอยชี้ คอยบอกว่า ควรเดินเรือไปทิศทางไหน แน่นอนว่า ถ้าผู้นำมีวิสัยทัศน์เป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์กร ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจาก จะเป็นพลังบวก และกำลังสำคัญให้ทีมก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆ ได้ ในทางกลับกัน หากวิสัยทัศน์ที่มีนั้นคนละทางกับองค์กร สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นดาบสองคมที่ย้อนศรกลับมาทำร้ายองค์กรโดยไม่รู้ตัว
ถ้านึกเร็วๆ ก็คล้ายกับสามีภรรยาที่ไม่ลงรอยกัน คนหนึ่งจะไปซ้าย ส่วนอีกคนหนึ่งจะไปขวา ซึ่งพอทิศทางไม่ตรงกัน ก็อาจทำให้บางคู่ถึงกับต้องแยกทางกันในที่สุด… ผู้นำแบบมีวิสัยทัศน์ก็เช่นกัน แต่อาจจะหนักกว่าเคสนี้ด้วยซ้ำ เพราะมีเรื่องอำนาจ และการสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมเข้ามายึดโยงเป็นแก่นสำคัญด้วย
โดยจากผลการศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่าง 2 องค์กรการบริการในยุโรปตะวันออกของนูเฟอร์ ยาซิน อาเทส (Nufer Yasin Ates), มูรัต ตารักชี (Murat Tarakci), จีนีน พี พอร์ก (Jeanine P. Porck), ดาน ฟาน คนิปเพนเบิร์ก (Daan van Knippenburg) และแพททริค โกรเนน (Patrick Groenen) ผู้เขียนบทความเรื่อง Why Visionary Leadership Fails บนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิวพบว่า เมื่อผู้จัดการระดับกลางมีวิสัยทัศน์ที่ไม่สอดคล้องกับผู้บริหารระดับสูง ก็อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ขององค์กร ‘ล้มเหลวหรือช้าลง’
ทั้งนี้ ยิ่งพวกเขาพยายามแสดงความเป็นผู้นำมากเท่าไร ด้านมืดอย่างความไม่สอดคล้องของวิสัยทัศน์ก็ยิ่งสะท้อนให้ทีมเห็นชัดมากขึ้นตาม ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางความมุ่งมั่นรวมของทีม แถมยังสร้างความสับสนขึ้นในองค์กรอีกด้วย
ไม่มีทีมคนไหนอยาก Go Go Go แบบ 365 วันต่อปี ไม่มีพัก
ถึงโลกจะคอยผลิตซ้ำความเชื่อว่า ความสำเร็จนั้นหอมหวน ทุกคนต้องเดินไปข้างหน้า มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) มากแค่ไหน แต่ลึกๆ แล้ว ไม่ว่าใครก็รู้สึกเหนื่อยด้วยกันหมด การมีผู้นำแบบมีวิสัยทัศน์ที่คอยกรอกหูตลอดเวลาว่า พุ่งไปทางนั้น พุ่งไปทางนี้ ที่แม้จะช่วยกระตุ้นเอนเนอจี้ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดได้ดี ทว่า ในทางตรงกันข้าม การกระทำ คำพูดในก้าวเล็กๆ พวกนี้ก็อาจบั่นทอนทีมไปพร้อมกัน
โดยในบล็อกต่างประเทศได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ก็เหมือนกับที่เรารักดิสนีย์แลนด์มาก แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครอยากอยู่ที่ดิสนีย์แลนด์ตลอดไป เช่นเดียวกัน เหมือนกับงานที่ต่อให้เรารักมาก แต่ก็คงก็ไม่มีใครอยากมุ่งมั่นกับงานตลอดทั้งปี
การจะเป็นผู้นำที่ดีได้นั้นต้องรู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบาบ้าง การกระหายความสำเร็จ พุ่งแบบสุดแรงเกิด ทะยานไปสุดขอบฟ้าเหมือนดาวหางอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีสุด เพราะถึงแม้จะเร็วแรงแค่ไหน แต่ก็เต็มไปด้วยแรงเสียดทาน
จงเป็นดั่ง ‘ดวงอาทิตย์’ ที่คอยให้ความสว่าง และความอบอุ่นรอบๆ จงเป็นดั่ง ‘ออกซิเจน’ อากาศดีๆ ให้ทีมได้หายใจ มิใช่ดาวหางที่หันมาแล้วปราศจากคนข้างกาย…
Sources: https://bit.ly/3LKGPpy
https://bit.ly/3FgaK6F
https://bit.ly/3vJFsBS