รักเอยอยู่หนใด Tinder แอปหาคนรู้ใจที่เปลี่ยนความรักให้ง่ายขึ้น
ในทฤษฎีลำดับขั้นของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ที่ว่าด้วยความต้องการของมนุษย์ นอกเหนือจากความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) ความต้องการความมั่นคง (Safety Needs) ความต้องการการยกย่อง (Esteem Needs) และความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Self-actualization Needs) แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือ ความต้องการเป็นเจ้าของ และความรัก (Belonging and love)
เนื่องจาก โดยพื้นฐาน มนุษย์ต่างก็อยากได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งกลุ่มเพื่อน ครอบครัว คนรู้จัก หรือแม้กระทั่งคนรักก็ด้วย อย่างไรก็ตาม ปกติแล้ว เรามักคุ้นเคยกับการหาแฟนกันแบบตัวเป็นๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งต่างๆ ถูกพัฒนาให้ล้ำหน้า ทุกวันนี้ เราแทบไม่ต้องเดินไปขอแลกเบอร์ แลกไลน์กันอีกแล้ว แต่เทคโนโลยีได้ทำให้ความรักเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น
แล้วเรื่องมันเป็นยังไง เทคโนโลยีขับเคลื่อนความรักได้จริงหรือ? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูผ่าน Tinder แอปพลิเคชันหาคู่ระดับโลกที่หลายๆ คนใช้ตามหารักแท้กัน
Tinder ทำให้เราเข้าใจว่า ‘รักมันไม่ยากเลย’
“ถ้าสมัยเรียนไม่มีแฟน พอเลยวัยนั้นมาก็หายากแล้ว เพราะพอจบออกมา ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน วงสังคมในออฟฟิศก็แคบลง ดังนั้น ความน่าจะเป็นในการเจอคนที่ใช่ก็น้อยกว่าเดิม”
แม้เนื้อความดังกล่าวที่บางคนคงเคยได้ยินจากคนรอบตัวจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์ที่ผสมโรงให้การเจอคนที่ใช่กลายเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่
แต่การมาของอินเทอร์เน็ต และสมาร์ตโฟนที่เข้าถึงง่ายได้เข้ามาเปลี่ยนมุมมองนี้ให้ไม่เป็นจริงอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีแอปพลิเคชันหาคู่ให้เราเลือกใช้มากมาย และแน่นอนว่า หนึ่งในแอปที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Tinder
Tinder คือแอปพลิเคชันที่ขึ้นชื่อในเรื่องฟีเจอร์การปัดซ้าย ปัดขวา ประกอบด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Boost การลัดคิวแอคเคาท์ขึ้นมาอยู่ลำดับต้นๆ , Superlike การบอกอีกฝ่ายคล้ายการตะโกนว่าชอบดังๆ , Global การหาคู่กับคนต่างชาติ หรือแม้กระทั่ง Passport To Any Location การปักหมุดตามประเทศทั่วโลก เพื่อหาคนคุยมากขึ้น
เพราะฉะนั้น ต่อให้ตัวเราจะนั่งอยู่ในห้องน้ำ นอนอยู่ในห้องนอน หรือให้น้ำเกลืออยู่ที่โรงพยาบาล ก็สามารถเจอคนที่ใช่จากทั่วทุกมุมโลกได้ โดยไม่ต้องรอพรหมลิขิตที่ไม่รู้จะหมุนวนมาเมื่อไรนั่นเอง
ฮิตติดลมจนสายเปย์ยอมควักเงิน
จริงๆ แล้ว Tinder ไม่ได้มีแค่โหมดฟรีเท่านั้น แต่ยังมีการยกระดับบริการถึง 3 โหมดด้วย ได้แก่ Premium, Gold และ Platinum ในทางกลับกัน แม้ค่าครองชีพตอนนี้จะพุ่งสูง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย แต่รายงานระบุว่า ผลประกอบการของเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2022 มีผู้ใช้ยอมเสียเงินซื้อโหมดต่างๆ มากถึง 7 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นรายได้ประมาณ 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
Tinder กามเทพสื่อรักยุค 4.0
บางคนอาจตั้งคำถามว่า รักที่เจอจากโลกออนไลน์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืนสักเท่าไร ทว่า แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะผลการศึกษาของฟิลิปป์ เฮอร์โกวิช (Philipp Hergovich) นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา (University of Vienna) และโจซูเอ ออร์เตกา (Josué Ortega) นักวิจัยจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (The Center for European Economic Research) ระบุว่า คู่รักที่พบกันผ่านเว็บไซต์ และแอปหาคู่มีแนวโน้มจะคบกันนาน พัฒนาความสัมพันธ์ไปจนถึงขั้นลั่นระฆังวิวาห์มากกว่าคู่รักที่พบกันตามปกติ เช่น ออฟฟิศ ผับ บาร์ หรือเพื่อนที่รู้จัก
รวมไปถึงผลงานวิจัยของจอห์น ที. คาชิออปโป (John T. Cacioppo) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างคู่แต่งงานกว่า 19,000 คู่ ก็ยังชี้ให้เห็นว่า คู่ที่เจอกันแบบออนไลน์พึงพอใจในความสัมพันธ์ และมีแนวโน้มจะหย่าร้างน้อยกว่าคู่ที่เจอกันแบบออฟไลน์ด้วย
ถึงจะมีคนเคยบอกเอาไว้ว่า ‘คนที่ใช่ไม่ต้องพยายาม’ แต่ถ้ามัวแต่เหนียมอาย ปล่อยเวลา และโอกาสให้หลุดลอยไป เจ้าหญิงกับเจ้าชายที่ตามหาคนนั้นก็อาจจะไม่มีอยู่จริง และเราเองก็ต้องเป็นฝ่าย ‘นก’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่อยไปก็เป็นได้…
Sources: https://reut.rs/3JTinEz