ยุ่งจนไม่มีเวลา? มองหา ‘เศษเวลา’ ที่จะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ปี 2023 แล้ว มีอะไรที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำบ้าง หนังสือที่ยังอ่านไม่จบ เพลงที่ยังไม่ได้ฟัง หนังที่ยังไม่ได้ดู หรือทักษะที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มฝึกเสียที รู้สึกเหมือนว่า เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน ยุ่งกับงานจนไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ และวันหยุดก็น้อยเกินกว่าจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
แน่นอนว่า เราไม่สามารถ ‘เพิ่ม’ เวลาให้มากขึ้นได้ แต่ต้อง ‘บริหาร’ เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพที่สุด
“อย่ารอให้มีเวลามากเพียงพอ แต่ต้องนำเศษเวลาที่พอมีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เพราะเศษเวลามียิบย่อยมาก ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์และอย่าพูดจนติดปากว่า ยุ่งจนไม่มีเวลา!
นั่นคือคำแนะนำของ ‘คิมรันโด’ อาจารย์ประจำภาควิชาการบริโภค คณะเคหศาสตร์ มหาวิทยาลัยโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’
แม้จะใช้คำว่า ‘เศษเวลา’ แต่แท้จริงแล้ว เศษเวลาดังกล่าวไม่ได้ไร้ค่าอย่างที่คิด แต่คือ เวลามีค่าที่ถูกตัดย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่ต่อเนื่องกัน คั่นด้วยกิจกรรมหรือภาระบางอย่างในชีวิต หรือก็คือ ‘เวลาว่าง’ ที่มีหรือเกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต
ตัวอย่างเช่น ในการเดินทางไปทำงาน อาจมีเศษเวลาเกิดขึ้น 5 – 15 นาที ระหว่างรอรถเมล์ หรือเดินทางบนรถไฟฟ้า หรือช่วงกินข้าวกลางวัน อาจมีเศษเวลาเกิดขึ้นระหว่างรออาหารมาเสิร์ฟ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมและเงื่อนไขชีวิตแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนอาจมีเวลาว่างมากกว่าหรือน้อยกว่า สิ่งที่ต้องทำคือ มองหา ‘เศษเวลา’ เหล่านั้น และนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
พอจินตนาการภาพออกหรือไม่ “แล้วจะเอาเศษเวลาไปใช้อะไร ?” มาลองดูสักหนึ่งตัวอย่างกัน
เศษเวลาที่เกิดขึ้นระหว่างวันหรือระหว่างกิจกรรมหลักนั้น อาจเกิดขึ้นครั้งละ 1 – 5 นาที วันละ 3 – 5 ครั้ง ตามแต่ชีวิตของแต่ละคน เราอาจนำมาใช้ได้ในบางกิจกรรม เช่น อ่านบทความ หรืออ่านหนังสือ
สมมติว่า ในหนึ่งวันทำงาน (ไม่รวมวันหยุดต่างๆ) มีเศษเวลาเกิดขึ้น 5 นาที จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็น 20 นาทีต่อวัน หากหนึ่งปี ทำงานประมาณ 260 วัน จะเกิดเศษเวลา 5,200 นาที หรือประมาณ 86 ชั่วโมง เลยทีเดียว
เวลา 86 ชั่วโมง ที่ไม่ต่อเนื่องกันนี้ หากเราอ่านบทความหรือข่าวสั้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 – 4 นาทีต่อหนึ่งบทความ แปลว่า หนึ่งปีเราจะสามารถอ่านบทความหรือข่าว ได้ถึง 1,300 – 2,600 เรื่อง เลยทีเดียว
หากเป็นหนังสือ สมมติว่า 2 นาที สามารถอ่านหนังสือได้ 1 หน้า แปลว่า หนึ่งปีเราจะอ่านหนังสือได้ถึง 2,600 หน้า หรือประมาณ 11 – 12 เล่ม (คิดเฉลี่ยเล่มละ 220 หน้า)
บทความ (หรือข่าว) 1,300 – 2,600 เรื่อง หรือหนังสือ 11 – 12 เล่มต่อปี ดูไม่น้อยเลยทีเดียว และเป็นการอ่านที่มาจากการใช้เศษเวลา ไม่รวมเวลาที่เราใช้เพื่ออ่านโดยเฉพาะ ยิ่งดูเหมือนว่าจะเยอะใช้ได้ทีเดียว
หากบทความ ข่าว หรือหนังสือเหล่านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง หรือข่าวสารในแวดวงอาชีพของเรา แปลว่า เราได้เพิ่มทักษะ ความรู้ แนวคิด หรือข่าวสาร ให้เราพัฒนาไปอีกขั้น ซึ่งสามารถส่งผลไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของเศษเวลาคือ เวลาที่มีไม่มาก และอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งรบกวนมาก หากใช้เศษเวลาเพื่ออ่านหนังสือที่ต้องใช้สมาธิสูง เช่น ตำราความรู้ หรือต้องการความต่อเนื่องด้านอารมณ์ เช่น นิยาย หรือสารคดีขนาดยาว อาจจะอ่านไม่รู้เรื่องหรือไม่สนุก จนกลายเป็นยิ่งอ่านยิ่งทำให้เสียเวลาไป
ฉะนั้น ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม เช่น อ่านบทความหรือข่าวสั้นที่สามารถอ่านจบได้ในรวดเดียว หรืออ่านหนังสือรวมบทความที่ไม่ยาวมาก และเข้าใจไม่ยาก เป็นต้น
ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็ต้องเลือกสรรให้เหมาะสมเช่นกัน เช่น อาจดูคลิปความรู้สั้นๆ แทนคลิปขนาดยาว หรือทบทวนสิ่งที่ต้องทำระหว่างวัน หรือเขียนบันทึกสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ เป็นต้น
เศษเวลาที่เกิดขึ้นระหว่างวัน มีค่าและทรงพลังมากกว่าที่คิด หากเราตั้งเป้าหมายเพื่อบรรลุอะไรบางอย่าง เศษเวลาเหล่านี้จะเป็นดั่งตัวช่วยเล็กๆ ที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายที่ตั้งใจอย่างที่คาดไม่ถึง
ลองหันมาใส่ใจเศษเวลาที่มีอยู่ และใช้ไปกับสิ่งที่เราต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่หวัง และจงเริ่มตั้งแต่วินาทีนี้ !
เขียนโดย : Phoothit Arunphoon
Source: หนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ของ คิมรันโด สำนักพิมพ์ springbooks