เมื่อ Valve ใส่ใจคุณมากกว่ารัฐบาล: Steam ปกป้องผู้ใช้จากภาษีดิจิทัล ด้วยการไม่ขึ้นราคาแม้แต่บาทเดียว
นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2021 ประเทศไทยได้เริ่มบังคับใช้ พรบ. eService ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น Facebook, Google, Twitter, Netflix และอื่น ๆ จำเป็นจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7%
ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทผู้ให้บริการด้านดิจิทัล หรือ eService ต่าง ๆ ส่วนมากไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย และทำให้เกิดช่องว่าที่ทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีจากผู้ประกอบกิจการดิจิทัลในไทยจากต่างประเทศได้
หลังจากที่มีการประกาศ พรบ.eService นี้ ก็เกิดความกังวลจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ว่าจากนี้ไปเราจะต้องใช้บริการเดิมที่เคยมี ในราคาที่แพงขึ้น ตัวอย่างแรก ๆ ที่เราได้เห็นคือการประกาศเงื่อนไขใหม่ให้กับผู้ใช้บริการโฆษณา ของ Facebook เพื่อรวมค่า VAT 7%เข้าไปในค่าบริการ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/futuretrends.th/posts/1469077486792025)
แต่ในความจริงนโยบายในการจัดการกับภาระด้านภาษีของผู้ให้บริการดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายนั้นไปสู่ผู้ใช้บริการเพียงอย่างเดียวเสมอไป
ในความจริง การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นการเรียกเก็บจากรายได้ของผู้ให้บริการอยู่แล้ว และขึ้นอยู่กับนโยบายและการตัดสินใจของผู้ให้บริการ ว่าจะทำอย่างไรกับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้คิดค่าภาษีเหล่านี้ไว้ในต้นทุนธุรกิจ เลือกที่จะให้ผู้ใช้บริการ หรือผู้ซื้อเป็นคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ โดยแจกแจงเพิ่มเข้าไปในใบเสร็จ แต่ผู้ใช้งาน Steam แพลตฟอร์มบริการเกมของบริษัท Valve ก็ได้สังเกตเห็นว่าหลังจากที่พรบ. eService ถูกบังคับใช้แล้ว แต่ราคาของเกม ซอฟแวร์ และบริการต่าง ๆ บน Steam ก็ไม่ได้ขึ้นราคาแต่อย่างใด
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนโยบายในการจ่ายภาษีของ Steam ซึ่งให้บริการในรูปแบบของ Marketplace หรือตลาดซื้อ-ขาย ภาระด้านภาษีบน Steam มีนโยบายว่าจะไม่ทำการจับเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม โดยผู้รับภาระด้านภาษีจะเป็นของ Valve เเละ ผู้พัฒนาที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มแทน ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่า “ราคา” ของสินค้าบน Steam ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้จะมีการจัดเก็บ VAT 7% แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้หมายความว่าการจัดเก็บภาษี eService จะไม่สร้างผลกระทบอะไรให้เเก่ผู้ใช้ Steam เลย เพราะในท้ายที่สุดผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีนอกจาก Valve เองแล้วก็ยังมีผู้พัฒนาเกมที่จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านภาษีส่วนนี้ไว้ด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้มาตรฐานการกำหนดราคาเกมสูงขึ้น จากต้นทุนที่มากขึ้น หรือการจัดโปรโมชันส่วนลด (ที่คนใช้รู้กันอยู่แล้วว่าเกมบน Steam ลดหนักกันแค่ไหน) ก็อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ประเด็นที่สำคัญจริง ๆ ในเรื่องของการจัดเก็บภาษี eService ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ว่าสินค้าแพงขึ้นแค่ไหน ใครได้รับผลกระทบ เพราะที่จริงแล้วการจัดเก็บภาษีนี้ก็ยังมีส่วนช่วยอุดช่องว่าง ให้การจับจ่ายที่เกิดขึ้นบนออนไลน์ มีการหมุนเวียนกลับเข้ามาเป็นต้นทุนในการ “พัฒนาประเทศ” ต่อไป
สิ่งสำคัญที่แท้จริงหลังจากนี้คือการบริหารจัดการภาษี ที่จะไม่ทำให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนกลับเข้ามา ทั้งจากการจัดเก็บจากผู้บริการ และจากการที่ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าบริการหลายอย่างในราคาแพงขึ้น ไม่กลายเป็นสิ่งสูญเปล่า
และนี่คือเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง ที่เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการจับตามอง