Type to search

ไปต่อยังไง เมื่อท่องเที่ยวตาย ส่งออกติดลบ : ความเป็นไปได้ของสร้าง Tech Startup Hub กับเหม็ง-สมโภชน์ แห่ง KT Venture

May 26, 2021 By Future Trends

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หลัก 3 ตัว ได้แก่ การท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการท่องเที่ยวไทยที่ทำรายได้เข้าประเทศด้วยเม็ดเงินมหาศาล คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วอยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อจีดีพี แต่ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่ผ่านมา ทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากตรงนี้ไปมาก และก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า อีกนานเท่าไรกว่าที่ท่องเที่ยวและการส่งออก จะกลับมาผงาดเป็นหัวเรือใหญ่ในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศอีกครั้ง

จากสถานการณ์ข้างต้น รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปลี่ยนไป ทำให้เริ่มมีการผุดไอเดียเรื่องของการสร้างเทค สตาร์ตอัป ฮับ ขึ้นมา ในวันที่หลายประเทศหันหน้าเข้าสู่การปั้นเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง สร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีเสถียรภาพทางการเงิน มากกว่าการพึ่งพิงจากปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว นี่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทยได้หรือไม่

ข้อเสนอนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ประเทศไทยยังขาดอะไรกว่าจะไปถึง แม้ว่าที่ผ่านมาวงการสตาร์ตอัปจะคึกคักอยู่ไม่น้อย แต่จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่มี ‘ยูนิคอร์น’ ตัวแรกของไทยอยู่ดี Future Trends ต่อสายหาเหม็ง-สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ CEO KT Capital Venture พูดคุยถึงความเป็นไปได้ในวงการสตาร์ตอัปไทยต่อจากนี้กัน

องค์กรขนาดใหญ่จะค้นหานวัตกรรมได้อย่างไร พบกรณีศึกษาดีแทคที่งาน Techsauce  Summit | Techsauce
เหม็ง-สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ CEO KT Capital Venture

ที่ผ่านมาสถานการณ์ของสตาร์ตอัปไทยเป็นอย่างไรบ้าง

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา มีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยที่ล้มหายตายจากไปก่อน แต่ส่วนที่เป็น Series A, Series B เจ้าไหนที่ยังรอดมาได้ เราจะได้เห็นเขาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็รอดมาแบบสะบักสะบอม ใครรอดมาได้ก็แบ่งเป็นสองส่วน คือกลุ่ม Seed Funding หรือ Pre-Series A หายไป 40 เปอร์เซ็นต์ กลุ่ม Series A กับ Series B จะมีรันเวย์แยกคือ ในระยะเวลา 12-18 เดือนนี้ จะหายไปประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ มี 75 เปอร์เซ็นต์ที่รอดมาได้ ภาพรวมยังคงโตต่อเนื่อง มันก็มีดีลใหญ่ๆ ที่สอดคล้องกัน ดีลเล็กยังไม่ค่อยเกิด แต่ช่วงนี้อาจจะต้องรอฝุ่นหายตลบก่อน แล้วมาดูกันอีกทีว่าใครรอด 

กฎเกณฑ์ของภาครัฐเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของสตาร์ตอัปไหม หรือมีอะไรนอกเหนือจากนี้

แต่ละประเทศมีปัญหาที่ไม่ได้หนีกันเท่าไร ถามว่าเกี่ยวไหม มองอย่างนี้ว่า หลักๆ ที่สตาร์ตอัปไทยยังไม่สามารถเติบโตได้มากเท่าประเทศอื่นๆ เพราะเราเริ่มช้า หนึ่งคือเรื่อง ‘global mindset’ ถามว่าเรามีไหม มี แต่เรามักจะไปโฟกัสที่ภายในประเทศ ดูส่วนที่เป็นโลคอลซะเยอะ กะว่าจะทำให้เป็นที่หนึ่งในประเทศแล้วค่อยขยับ แต่เอาเข้าจริงพอถึงเวลาอยากขยาย มันเหมือนเราต้องดับเพลิงในประเทศตลอดเวลาไปด้วย กว่าจะประคองภายในประเทศไปได้ คนอื่นก็ทำไปหมดแล้ว เป็นภาพประมาณนี้ การโฟกัสในประเทศช่วง day1 น่ะใช่ แต่ execution มันไม่ day1 ถ้าทำไป 2-3 ปี จะเริ่มมีปัญหา

ต่อมาคือเรื่อง ‘เทค ทาเลนต์’ บ้านเราถ้าเทียบแล้วยังน้อยกว่าอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ซึ่งมันสำคัญมาก เทค ทาเลนต์ เขาเยอะมหาศาล และต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรามีคนที่เรียนจบเพื่อจะเข้ามาพัฒนาตรงนี้ค่อนข้างน้อย เด็กที่เรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์เนี่ย สมมติจบมา 150-160 คน มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่มาทำเทค สตาร์ตอัป บางคนก็ไปเรียนต่อเมืองนอกกัน แล้วจากนั้นก็เข้าไปทำพวกกูเกิล เฟซบุ๊ก ยิ่งมีกระแสย้ายประเทศอีกก็ยิ่งชัด เด็กที่เก่งเขาก็อยากทำอะไรที่ท้าทายกว่า เทค คอมปานีใหญ่ๆ ของไทยไม่มี พอไม่มีก็ไปทำที่อื่นแทน เทค ทาเลนต์ แบบนี้มันก็ไหลออกเรื่อยๆ พอทรัพยากรน้อย สตาร์ตอัปที่จะแข็งแรงในประเทศก็เกิดยาก จะไปถึงการเป็นยูนิคอร์นต้องอาศัยเรื่องนี้ประกอบกัน

แต่เรื่องกฎเกณฑ์ที่เริ่มช้าก็มีส่วน อย่างสิงคโปร์ จีน หรือสหรัฐอเมริกา กฎระเบียบที่วางไม่ได้เพิ่งเกิด เขาวางมา 10-20 ปีแล้ว ทั้งเรื่องมาตรการภาษี การถือหุ้นของต่างชาติ ให้เฟซบุ๊ก (Facebook) กูเกิล (Google) ฟรีภาษีได้ พอสำนักงานไปตั้งมันก็ดึงดูดคน มีเทค ทาเลนต์ สร้าง ecosystem ให้เกิดขึ้น ถามว่าเราเริ่มหรือยัง ตอนนี้ภาครัฐก็กำลังพยายามทำกันอยู่ คงต้องให้เวลาเขาหน่อย

อย่างนี้โอกาสที่จะเกิด Tech Startup Hub ในไทยพอจะเป็นไปได้ไหม

เป็นบางเซคเตอร์ อาจจะได้พวกแนว AgriTech, Food BioTech, Heath, Travel แต่ก่อนเราเป็นประเทศส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง ตอนนี้น่าจะเป็นอันดับสาม ถึงอย่างนั้นด้านเกษตรกรรมก็ยังชัดอยู่ ส่วนด้านสุขภาพหมอไทยเก่งๆ เยอะมาก ประเทศอาหรับกับเกาหลีใต้บินมาใช้บริการด้านสุขภาพที่ไทยเยอะเพราะราคาถูก แล้วถ้าผสานเรื่องนี้เข้ากับท่องเที่ยว แบบนี้ก็ทำได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นอีคอมเมิร์ซสายรีเทลอาจจะเผาเงินสู้ต่างชาติไม่ได้ ไม่ใช่ทาง ถ้าเป็นแนว AgriTech ได้อยู่ ส่วนเรื่องฟินเทค (FinTech) สิงคโปร์เอาไปกินแล้ว หรือถ้ามองไกลถึงขั้นเป็นฮับแบบซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) คิดว่าไม่น่าเกิด ภาพใหญ่ไป แล้วองค์ประกอบเราไม่พร้อมเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงกว่า

ทำไมเรามักจะเห็นสตาร์ตอัปวนเวียนอยู่กับการเขียนแพลตฟอร์ม หรือระบบหลังบ้าน มากกว่ากระโดดไปสนามอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่าง AgriTech หรือการสร้าง Medical Hub

มันย้อนกลับไปที่เรื่องเทค ทาเลนต์ การจะไปทางอื่นมันต้องใช้ deep tech ทั้งนั้น ใช้ทรัพยากรมนุษย์คนละแบบ ถ้าอยากรู้ว่าสตาร์ตอัปไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ให้ดูสหรัฐฯ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว บ้านเขามีแอมะซอน (Amazon) ก่อน จากนั้น บ้านเราก็มี ชอปปี้ (Shopee), ลาซาด้า (Lazada) บ้านเขามีเอ็กซ์พีเดีย (Expedia) บ้านเรามีอะโกด้า (agoda) แล้วพอเขามีพวกฟินเทคเราก็มีโอมิเซะ (Omise) มีฟินโนมีนา (FINNOMENA) บ้านเขามีคอยน์เบส (Coinbase) เรามีบิตคับ (Bitkub) 5 ปีที่แล้วฟินเทคบูมที่สหรัฐฯ มากๆ

มาวันนี้สหรัฐฯ มี Healthcare อีก 3-5 ปี ผมทำนายเลยว่า บ้านเราก็ต้องเป็นพวก Healthcare แน่นอน ซึ่งตอนนี้ เราก็เริ่มเห็นคุณหมอบางท่านลาออกจากการทำงานประจำ มาทำสตาร์ตอัปเอง เหมือนยุคหนึ่งที่มีฟินโนมีนา คนที่ทำงานในสถาบันการเงินเขาตัดสินใจทิ้งเงินเดือน 6-7 หลักออกมาเลย เราเริ่มเห็นภาพนี้ในสายสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทำนายได้เลยว่าจะเกิดขึ้นต่อไป

เกี่ยวกับเรื่องการให้ทุนด้วยหรือเปล่า ความหลากหลายของสตาร์ตอัปบ้านเราเลยน้อย

ผู้ใหญ่จะให้ทุนคนนั้นคนนี้ผมมองว่า เป็นเรื่องของผลที่ตามมา อย่างตอนนี้เห็นเรื่องฟินเทคเขาก็เข้าใจ รู้ว่ามันทำงานแบบไหน ถ้าใครพรีเซนต์สิ่งที่เขาเข้าใจ เขาก็ให้ได้ง่าย หรืออะไรที่ล้ำมากจนแมสไม่ได้เขาก็อาจจะไม่ให้ทุนก็ได้ เป็นเรื่องของช่วงเวลามากกว่า ต้องใช้เวลาทำทุกอย่างตามคลื่น ถ้า 10 ปีที่แล้วพูดเรื่องฟินเทค โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ใช้คิวอาร์ โค้ด สแกนจ่าย ก็คงไม่มีใครนึกภาพออก ขอทุนสิบล้านมาพัฒนาเขาก็ไม่ให้ แต่วันนี้ภาพมันต่างกัน เป็นเรื่องไทม์มิงของแต่ละประเทศ 

เหมือนกับเวลาเราเลือกแฟนสักคน ถ้าคบคนนี้แล้วไม่ใช่ คนที่รออยู่ข้างหน้าอาจจะใช่ก็ได้ แล้วถ้าเราไม่ไปต่อเราจะเจอคนที่ใช่ไหม สตาร์ตอัปก็เช่นกัน ถ้าทำเรื่องนี้แล้วไม่สำเร็จสักทีก็เปลี่ยนไปทำอีกเรื่อง เป็นเรื่องที่ไทม์มิงมันเชื่อมโยงกัน

ในซีรีส์เกาหลี ‘Start-Up’ มีตอนหนึ่งบอกว่า การเติบโตของสตาร์ตอัปเข้ามาทำลายตำแหน่งงานบางส่วนให้หายไป อย่างเช่นระบบออโตเมชันที่ทำให้คนงานบางส่วนถูกปลด มองเรื่องนี้ยังไง

ผมกลับมองว่า สตาร์ตอัปเข้าไปช่วยมากกว่า อย่าลืมว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมเราสูงมาก การที่มีเทคโนโลยีเข้าไปมันทำให้เกิดรายได้ ถ้ามองแบบนี้จะเห็นว่า อัปไซด์สูงกว่าดาวน์ไซด์มาก เราอยู่ในตลาดที่ใช้แรงงานในภาคบริการค่อนข้างเยอะ ช่องว่างตรงนี้ถ้าเราสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ มันจะสร้างงาน สร้างรายได้มหาศาลแค่ไหน ถ้ามีเอดูเคชัน เทค เด็กจะสามารถเข้าถึงการศึกษา เติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพได้

เหมือนกับเรื่องฉีดวัคซีนที่คนกลัวผลข้างเคียง อาจเสียชีวิตหรือเกิดโรคแทรกซ้อนได้ แต่อย่าลืมว่า ดาวน์ไซด์ของการไม่ฉีดมันหนักกว่า โอกาสติดโรคมีมาก มีโอกาสตายได้อีก เหมือนกับสตาร์ต อัป การมีอยู่ของการเติบโตแบบนี้มันสร้างรายได้มากกว่า ลองนึกถึงแอปเปิล (Apple) แอมะซอน (Amazon) ตอนแรกคนก็มองว่าพวกนี้จะมาดิสรัปต์หรือเปล่า แต่กลายเป็นไม่ใช่ แอมะซอนจ้างงานคนตั้งกี่แสนคน แอปเปิลทำให้เด็กมีเทคโนโลยีด้านการศึกษาเยอะมาก เข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ต้องมอง ‘holistic view’ คนที่ไม่เคยเข้าถึงก็เข้าถึงได้ แต่ก่อนการศึกษาไปไม่ถึง ตอนนี้เทคโนโลยีทำได้

หากเกิดยูนิคอร์นตัวแรก จะช่วยยกระดับวงการสตาร์ตอัปไทยไหม

แน่นอน ถ้าเมืองไทยมียูนิคอร์นตัวแรก แลนด์สเคปของสตาร์ตอัปไทยจะเปลี่ยน เหมือนอยู่ดีๆ ไทยไปแข่งแชมป์เปียนส์ลีกแล้วได้แชมป์ ซึ่งในที่นี้คือ VC ของไทยที่เป็นยูนิคอร์น คนภายนอกก็จะเริ่มเข้ามาสนใจมากขึ้น เหมือนการปักธง ปักเรดาร์ จะมีผู้เล่นเวิลด์คลาสเข้ามา มีแมวมองเพิ่มมากขึ้น

มองอนาคตและภาพรวมของสตาร์ตอัปไทยหลังจากนี้อย่างไรบ้าง

ผมมองแบบออปติมิสติก (optimistic)  ทุกวันนี้โควิด-19 เข้ามาก็มี accelerator เช่นเรื่องเอดูเคชัน ก่อนหน้านี้ พูดเรื่องเทค เอดูเคชัน มาหลายปีไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันเหมือนไฟล์ตบังคับ แล้วพอคนเริ่มชินกับพฤติกรรมมันจะไม่เปลี่ยนกลับแล้วนะ หลังจากนี้ ถ้าโควิด-19 หมดน่าจะเทรดออฟมหาศาล เรื่องท่องเที่ยวด้วย ถ้าเปิดประเทศได้เมื่อไหร่เม็ดเงินมหาศาลแน่นอน แต่คนที่ตายต้องรีบกลับมานะ ไปฟื้น ไปหาตัวใหม่แล้วรีบกลับเข้ามา ถ้าเรื่องเดิมไปต่อไม่ไหวไปทำเรื่องอื่นเลย หรือทำเรื่องเดิมแต่เปลี่ยนวิธีการใหม่ ทีมของเราอาจจะไปทำเรื่องใหม่ไหม เราจะไปจอยกับใครได้บ้าง 

เขียนโดย Piraporn Witoorut