Type to search

กล้าลองผิดลองถูก จนกลายเป็นที่จดจำ ‘แป้งเย็นตรางู’ แบรนด์ที่เริ่มต้นจากร้านขายยาสมัย ร.5 ถึงการปรับปรุงสูตรแป้งเย็น

September 21, 2022 By Witchayaporn Wongsa
snake-brand

ความใกล้ชิดกับเส้นศูนย์สูตร ทำให้สภาพอากาศของประเทศไทยมีแต่คำว่า ‘ร้อน’ ไม่ว่าจะเป็นร้อนเฉยๆ ร้อนมาก ร้อนอบอ้าว หรือร้อนชื้น ถึงแม้จะมีฤดูฝนและฤดูหนาวเข้ามาแซมบ้างประปราย แต่ก็ไม่อาจต้านความร้อนของพระอาทิตย์ที่ส่องแสงทุกวันได้อยู่ดี

ยิ่งต้องเผชิญกับอากาศร้อนมากเท่าไร ยิ่งต้องสรรหาวิธีการคลายร้อนมากขึ้นเท่านั้น

ผู้คนพยายามพัฒนาวิธีการคลายร้อนสารพัดรูปแบบตามยุคสมัยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บน้ำฝนใส่โอ่งดินเพื่อรักษาความเย็น และดื่มดับกระหายยามที่อากาศร้อน จนกระทั่งเวลาล่วงเลยผ่านไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดพัฒนานวัตกรรมใหม่อย่างพัดลมมือถือที่พกพาสะดวกและให้ความเย็นได้ตามที่ต้องการ

แต่หนึ่งในวิธีการคลายร้อนที่ยังคงได้รับความนิยมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นการใช้ ‘แป้งเย็น’ ที่ทาแล้วเย็นซ่าไปถึงขั้วหัวใจ ยิ่งใช้หลังอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ ยิ่งเย็นแบบทวีคูณ

เมื่อพูดถึงแป้งเย็น ภาพในหัวของใครหลายๆ คนคงเป็นภาพของแป้งในกระป๋องเหล็กสีขาวทรงสี่เหลี่ยมสูงประมาณ 1 ฟุต ตกแต่งด้วยลายดอกกุหลาบทุกด้านทุกมุม และมีสัญลักษณ์รูปงูถูกลูกศรปักหัวเด่นสง่าอยู่ด้านหน้า และนั่นก็คือภาพของ ‘แป้งเย็นตรางู’ ต้นตำรับแป้งเย็นไทยที่มีอายุถึง 130 ปี

ด้วยความที่แป้งเย็นตรางูผ่านร้อนผ่านหนาวในโลกธุรกิจมากว่า 1 ศตวรรษ ทำให้องค์กรมีมิติของการผสมผสานระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยม (Conservative) กับความเป็นนวัตกรรม (Innovative) ที่น่าสนใจ และยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอายุมากกว่า 100 ปีเพียงไม่กี่แห่งในไทยที่ดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับความสำเร็จของ ‘แป้งเย็นตรางู’ คืออะไร?

ทำไมถึงเป็นองค์กรที่มีการผสมผสานระหว่าง 2 แนวคิดที่ต่างกันสุดขั้วได้อย่างลงตัว? Future Trends จะมาชวนทุกคนพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน

จากร้านขายยาสมัยรัชกาลที่ 5 สู่การเป็นต้นตำรับแป้งเย็นไทย

Snake Brand

จุดเริ่มต้นของ ‘แป้งเย็นตรางู’ มาจากร้านขายยาของหมอฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ส่งไม้ต่อการบริหารงานมาที่ตระกูล ‘ว่องวานิช’ จนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2435 นายแพทย์โทมัส เฮย์วาร์ด เฮย์ (Thomas Heyward Hays) และ ดร.ปีเตอร์ กาแวน (Peter Gawan) ร่วมกันลงทุนเปิดร้านขายยาที่มีชื่อว่า ‘British Dispency’ ด้วยความตั้งใจที่ต้องการให้มียาดีๆ ไว้ใช้รักษาผู้ป่วย แต่ชื่อภาษาอังกฤษของร้านกลับไม่เข้าปากคนไทยสมัยนั้น และสัญลักษณ์ของร้านที่เป็นงูมีลูกศรปักก็ทำให้เกิดการเรียกชื่อใหม่เป็น ‘ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู)’ แทน

หลังจากที่ดำเนินกิจการมากว่า 30 ปี ก็เกิดการเปลี่ยนมือผู้บริหารมาเป็น ‘ล้วน ว่องวานิช’ หรือ ‘หมอล้วน’ ชายหนุ่มผู้ที่ศึกษาด้านการแพทย์จนมีความชำนาญ เขาได้เปลี่ยนให้ห้างขายยาอังกฤษ (ตรางู) เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศอย่างอลิซาเบธ อาร์เดน (Elizabeth Arden) หรือคริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ด้วย

และในปี พ.ศ. 2490 สินค้าระดับตำนานอย่างแป้งเย็นตรางู ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการพัฒนาสูตรแป้งที่ผสมสารให้ความเย็น เพื่อรักษาอาการผดผื่นของทนายความคนหนึ่ง ซึ่งการรักษาก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี ทำให้แป้งเย็นตรางูมีชื่อเสียงนับแต่นั้นเป็นต้นมา และนำไปสู่ซิกเนเจอร์กระป๋องเหล็กอันโดดเด่นที่พัฒนาขึ้น เพื่อกักเก็บความเย็นของแป้งให้ได้นานที่สุด

ปัจจุบัน ชื่อเสียงและความนิยมของแป้งเย็นตรางูยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย แต่เวลาที่หมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรใหญ่วัยคุณทวดต้องปรับตัวอย่างหนัก เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จนเกิดการผสมผสานแนวคิดที่ต่างกันสุดขั้ว อย่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เป็นแกนหลักในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และความเป็นนวัตกรรมที่ไม่หยุดพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

กล้าลองผิดลองถูก จนเป็น ‘แป้งเย็นตรางู’ ในทุกวันนี้

“เบื้องหน้าเป็นองค์กรเก่าแก่ แต่เบื้องหลังเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”

ภายใต้ความเก่าแก่ขององค์กร แป้งเย็นตรางูพยายามพัฒนาจุดยืนของแบรนด์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย และทางเลือกที่ดีที่สุด คือการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ตั้งแต่ทุ่มงบเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Research and Development หรือ R&D) การบุกตลาดต่างประเทศ ไปจนถึงการทำการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการลองผิดลองถูกอย่างมีชั้นเชิง เพื่อที่แบรนด์จะได้มีโอกาสพบกับแนวทางที่เหมาะสมที่สุด

ถึงแม้ว่า แป้งเย็นตรางูจะยังคงมีภาพลักษณ์เป็นแป้งกระป๋องเหล็กเฉกเช่นในอดีต แต่เบื้องหลังการพัฒนาสินค้า แบรนด์เองก็เคยเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบพลาสติก เพื่อพลิกโฉมสินค้าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ได้ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะลูกค้าคิดว่าเป็นสินค้าปลอม และแบรนด์ก็ต้องยอมกลับมาใช้กระป๋องเหล็กเช่นเดิม

เมื่อแบรนด์ต้องกลับมาใช้กระป๋องเหล็กเท่ากับว่า แบรนด์ต้องยอมสูญเสียคุณสมบัติด้านการพกพาที่พยายามพัฒนาขึ้นมาให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความเร่งรีบ

ดังนั้น ทางเลือกใหม่ของแบรนด์ คือการพัฒนาสินค้าในรูปแบบใหม่ที่ยังคงอัตลักษณ์ ‘ความเย็น’ ในแบบฉบับของแป้งเย็นตรางู และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เช่น คูลลิง มิสต์ หรือสเปรย์ให้ความเย็น และทิชชู่เย็น เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว ถ้าแบรนด์ไม่ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน (Comfort Zone) และไม่มีการลองผิดลองถูกเลย ก็คงไม่มีทางที่จะพบกับทางเลือกใหม่ที่ทำให้แบรนด์เติบโตยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ เช่นเดียวกับชีวิตของคนเรา ถ้าไม่เคยลองผิดลองถูกเลยจะทราบได้อย่างไรว่า ทางไหนคือทางที่ใช่สำหรับตัวเอง

Sources: https://bit.ly/3Lwrn1a

https://bit.ly/3S9tpWQ

https://bit.ly/3Bt20IJ

https://bit.ly/3BoO2rn

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)