แคร์ปัญหาคนอื่นมากไป รองทุกข์ทีมจนใจพังเอง ‘Secondhand Stress’ โรคความเครียดมือสองของหัวหน้าที่ดี
“ตราบใดที่เข็มนาฬิกายังไม่หยุดหมุน พระอาทิตย์ยังไม่เลิกขึ้น และลาลับขอบฟ้า ปัญหาก็มีเข้ามาให้มนุษย์เราแก้กันอยู่เรื่อยๆ …”
หัวหน้าอย่างเราๆ ก็เช่นกัน ที่นอกจากจะต้องปั้นลูกน้องให้เก่ง บริหารงานให้เก่งแล้ว ก็ยังต้องเป็นคนจัดการปัญหา รับฟัง และคอยให้คำปรึกษาปมปัญหาลูกน้องให้เก่งด้วย ทว่า หลายๆ ครั้ง การรับฟังที่มากเกินไป ช่วยพวกเขาแก้ปัญหา เป็นเหมือน ‘ถังน้ำที่คอยรองทุกข์ รองความเครียดในวันที่เจ็บช้ำจากงาน’ ตามพิมพ์เขียวของหัวหน้าที่ดีนั้นก็อาจย้อนศรกลับมาทิ่มแทงตัวเอง นำไปสู่ ‘โรคความเครียดมือสอง (Secondhand Stress)’ โดยไม่รู้ตัว
จูดิต ออร์ลอฟฟ์ (Judith Orloff) จิตแพทย์ และผู้แต่งหนังสือ The Empath Survival Guide เคยกล่าวไว้ว่า เวลาที่ฝ่ายหนึ่งระบายความเครียด ทิ้งเรื่องหนักใจไว้ให้อีกฝ่าย ส่วนใหญ่แล้ว ฝ่ายที่ระบายออกมามักจะรู้สึกดีขึ้น ในทางกลับกัน ฝ่ายที่รับฟังจะรู้สึกแย่ และเหนื่อยล้าแทน เนื่องจาก พวกเขาไม่ทันตั้งตัวว่า จะต้องรับฟังเรื่องราวหนักใจทีละมากๆ ในครั้งเดียว
Secondhand Stress คือคำที่ใช้อธิบายโรคความเครียดที่เป็นผลมาจากการรับฟังสารพัดเรื่องราวปัญหาล้านแปดของผู้อื่นจนเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเครียดนั้น หรือสรุปง่ายๆ ว่า ‘ฟังแล้วอิน เก็บเอาความเครียดที่ลูกน้องระบายให้ฟังมาเป็นของตัวเอง’ นั่นเอง
หัวหน้าจะรับมือกับ Secondhand Stress นี้ไม่ให้ใจพัง จนทีมคนอื่นต้องพังตามได้อย่างไร?
1. ฉีดวัคซีนให้ตัวเอง
ก่อนไปทำงาน ไปเจอลูกน้อง ไปเจอปัญหาคาราคาซัง อันดับแรก ให้เตรียมร่างกาย และจิตใจตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ลองเริ่มต้นเช้าที่สดใสด้วยการสร้าง Mindset เชิงบวก ลิสต์ 3 สิ่งที่รู้สึกอยากขอบคุณในวันนั้นออกมา จดบันทึกเรื่องราวเชิงบวกสั้นๆ ไม่กี่นาที หรืออาจจะออกกำลังกาย นั่งสมาธิสักแป๊บก็ได้
อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ว่านี้เท่านั้น แต่สามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ช่วย Boost พลังบวกให้เรา รวมไปถึงก็เตือนตัวเองบ่อยๆ ให้รับรู้ถึงคุณค่า ความสามารถที่มีอยู่ด้วยว่า ยังไงซะเราก็จัดการกับทุกอย่างที่ถาโถมเข้ามาได้อยู่แล้ว!
2. เข้าใจ แต่ไม่อินเกิน!
ซูซาน เดวิด (Susan David) ผู้ก่อตั้งสถาบันฝึกสอนโรงพยาบาลแมคลีน (Institute of Coaching at McLean Hospital) ในสหรัฐอเมริกา และผู้แต่งหนังสือ Emotional Agility เคยให้คำแนะนำว่า ให้ Step back ออกมามองภาพรวม พยายามทำความเข้าใจว่า ‘จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น?’ มากกว่า ‘การไปเครียดกับความเครียดของอีกฝ่าย’
ในขณะเดียวกัน การห้ามให้ลูกน้องไม่ต้องระบายปัญหาเพื่อที่เราจะได้ไม่เครียดก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่เวิร์กเช่นกัน เพราะถ้าทำแบบนั้น นอกจากจะไม่เข้าใจแล้ว ก็ยังทำให้แก้ต้นตอของปัญหาไม่ได้ด้วย ซึ่งพอถึงจุดหนึ่ง จากปัญหาเล็กๆ ก็อาจลุกลามใหญ่โตจนหัวหน้าอย่างเราเอาไม่อยู่เลยทีเดียว
3. เปลี่ยนวิธีคิดใหม่
แทนที่จะมองว่าความเครียด ปัญหาเป็นภัยคุกคาม เรามีหน้าที่ช่วยลูกน้องในการต่อสู้อย่างดุเดือด เต็มไปด้วยพลังลบ ให้เปลี่ยนเป็นการมองว่า นี่เป็นโอกาสที่จะทำให้พวกเขารับรู้ได้ถึง ‘ความใจดี’ ที่เรามอบให้ผ่านการมองด้วยสายตาแห่งความเข้าใจว่า ‘ทุกปัญหาคือความปกติของชีวิต เดี๋ยววันหนึ่งมันก็จะผ่านไป แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะอยู่ Support พวกเขาตรงนี้เสมอ’ นอกจากนี้ ให้มองว่า เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่เราจะช่วยให้พวกเขาคิดบวกมากยิ่งขึ้นด้วย
4. สร้าง Antibodies เชิงบวกให้ตัวเอง
ในโลกที่เข้าถึงกันได้ง่าย ส่งต่อเรื่องราวกันได้ง่าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากความเครียดมือสองจะยิ่งถูกส่งต่อ แพร่จากลูกน้องมายังเราได้ง่าย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ให้รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น เปลี่ยนจากการทำให้พวกเขาเห็นว่า เราอิน มีอารมณ์ร่วมด้วยการแสดงออกท่าทางเชิงลบอย่างหน้าตาบึ้งๆ เป็นการตอบกลับด้วย ‘รอยยิ้ม หรือการพยักหน้าด้วยความเข้าใจ’ เพื่อเพิ่มพลัง Antibodies เชิงบวกให้ตัวเอง และพวกเขาแทน
การมี Empathy ใส่ใจกับปัญหาของลูกน้องเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อย่าลืมนึกถึงตัวเองด้วย ปล่อยวางให้เป็น มีสติให้มากๆ ไม่ต้องเป็นฟองน้ำที่ดูดซับทุกอย่างเข้ามาหมด แยกให้ออกว่า อันไหนควรเก็บ และไม่ควรเก็บ
“Be there for others, but never leave yourself behind.” จงอยู่เพื่อคนอื่น แต่อย่าทิ้งตัวเองไว้ข้างหลังนั่นเอง
โดดินสกี (Dodinsky)
Sources: https://bit.ly/3yN2R5X