Type to search

‘Royal Canin’ สร้าง ‘S-Curve’ ใหม่อย่างไร ในวันที่ทาสแมวเต็มบ้าน ทาสหมาเต็มเมือง

May 13, 2023 By Witchayaporn Wongsa
royal-canin-new-s-curve

“หมาแมวอยู่กับเราอย่างน้อย 10 ปี พอเลี้ยงแล้วก็รัก ไม่มีทางทิ้งกันง่ายๆ ต้องดูว่า อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ถึง 10 ปีข้างหน้าอยู่บนเทรนด์นี้ (Pet Parents) แน่นอน”

จดล สุวรรณฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรยัล คานิน (ประเทศไทย) จำกัด (Royal Canin) กล่าวกับสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการสัมภาษณ์พิเศษในงาน Pet Expo 2023 อย่างตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นว่า เทรนด์ ‘Pet Humanization’ หรือการเลี้ยงสัตว์ราวกับเป็นสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง ยังคงดำเนินไปอีกนานแสนนาน แม้การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายแล้วก็ตาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิถีชีวิตแบบ New Normal ให้กำเนิดคนที่เลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parents) จำนวนมาก ซึ่งการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงแสนรักประหนึ่ง ‘แก้วตาดวงใจ’ ทำให้เจ้าของต้องสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดมาดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง และผลักดันให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงโกยรายได้มหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีรายงานว่า สามารถสร้างการเติบโตสูงกว่า GDP ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์

โรยัล คานิน หนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงแบบ ‘ซูเปอร์พรีเมียม’ (Super-premium Brands) ก็มองเห็นโอกาสจากเทรนด์ Pet Parents เช่นกัน และสร้าง ‘S-Curve’ ใหม่เพื่อต่อยอดจุดยืน (Positioning) ให้เป็นมากกว่าแบรนด์อาหารสัตว์ โดยเป็น ‘ผู้นำด้านสุขภาพ’ ที่มุ่งหวังให้สัตว์เลี้ยงสุขภาพดีด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง

“โรยัล คานิน มีมิชชันคือ ‘Health to Nutrition’ ไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องโภชนาการอีกต่อไป แต่จะเป็นผู้นำด้านสุขภาพของน้องหมาน้องแมว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังนำเสนอไม่ใช่แค่อาหาร แต่จะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย เพื่อช่วยให้เจ้าของเข้าใจชีวิตประจำวันของน้องๆ มากขึ้น”

แล้วกลยุทธ์ที่ช่วยให้ ‘โรยัล คานิน’ สร้าง S-Curve ใหม่ได้สำเร็จคืออะไร? Future Trends จะพาไปสำรวจในประเด็นต่างๆ พร้อมๆ กัน

Royal Canin

สร้าง ‘Ecosystem’ ที่แข็งแกร่งด้วย ‘Dog & Cat Personalization’

หนึ่งในจุดเด่นสำคัญที่ทำให้หลายคนนึกถึงโรยัล คานิน คือสูตรอาหารที่ครอบคลุมความหลากหลายของสายพันธุ์และการเลี้ยงดู ไม่ว่าจะสุนัขพันธุ์เล็ก สุนัขพันธุ์ใหญ่ แมวรูปร่างอ้วน หรือแมวเลี้ยงในบ้าน เจ้าของก็สามารถเลือกสูตรอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้จากตัวเลือกที่มีวางจำหน่าย

จดลกล่าวกับสื่อมวลชนขณะเยี่ยมชมบูธของโรยัล คานินในงานฯ ว่า อาหารทุกสูตรจะพัฒนาตามหลักโภชนาการที่แต่ละสายพันธุ์ควรได้รับหรือตามลักษณะการเลี้ยงดู รวมถึงมีการวิจัยรูปทรงของเม็ดอาหารให้เข้ากับฟันและรูปปากของสัตว์เลี้ยงแต่ละสายพันธุ์ ถือเป็นการใช้กลยุทธ์ ‘Personalization’ ในการทำธุรกิจรูปแบบหนึ่ง

นอกจากการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจะตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่าง ยังเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อวิจัยตลาด (Market Research) และศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น สายพันธุ์ยอดนิยม ช่องทางการจัดจำหน่าย ความถี่ในการซื้ออาหาร เป็นต้น

แบรนด์จะทำการเก็บข้อมูลจากช่องทางต่างๆ รวมถึงแอปพลิเคชัน ‘Royal Canin Club’ และนำไปใช้ในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business Strategy) เพื่อพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหารสัตว์เลี้ยง (Non Pet Foods) และสร้าง Ecosystem การเป็นผู้นำด้านสุขภาพให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“โรยัล คานินอยู่ในกลุ่มธุรกิจของ Mars Petcare ทางบริษัทมีมิชชันที่จะสร้าง ‘Pet Ecosystem’ เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง และเป็นมากกว่าแบรนด์ที่ดูแลเรื่องโภชนาการ”

“ถ้าตอนนี้มี Apple Watch ของคน Mars ก็มีผลิตภัณฑ์คล้ายๆ Apple Watch ของสุนัข เพื่อดูว่าพฤติกรรมของน้องผิดปกติไหม รวมถึงพัฒนาสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหารสัตว์เลี้ยง เช่น Test Kit ตรวจหาความผิดปกติต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเชื่อมกันเป็น Ecosystem ด้วยข้อมูลที่ส่งผ่านถึงกัน ถ้าผู้ใช้งานสร้าง Pet Profile ในแอปฯ Royal Canin Club เราก็จะรู้ว่า สายพันธุ์ยอดนิยมคืออะไร รวมถึงโรคยอดนิยมที่น้องๆ เป็นกันบ่อยด้วย”

Persian Cat

ตอบรับ ‘เมกะเทรนด์’ มาแรง และทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ความเป็น ‘ดิจิทัล’

การสร้าง S-Curve ใหม่ของโรยัล คานินไม่ได้มีเพียงการสร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีการทรานส์ฟอร์มองค์กรเข้าสู่เทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) และใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการผลิต

“เมื่อพูดถึงความยั่งยืน ต้องกลับไปส่วนที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือ ‘วัตถุดิบ’ การผลิต เราไม่ได้ดูแค่ต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่เราดูเรื่องคุณภาพด้วย เพราะอาหารทุกสูตรของโรยัล คานินใช้วัตถุดิบแบบ ‘Human Grade’ ต้องมองในระยะยาวด้วยว่า ซัพพลายเออร์ (Supplier) แต่ละเจ้าเขาปลูกอย่างไร เลี้ยงอย่างไร เพื่อให้ทุกขั้นตอนอยู่บนความยั่งยืน รวมถึงโรยัล คานิน ยังมีเป้าหมายที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดเป็นแบบ ‘Recycle Packaging’ ภายในปี 2026”

“ส่วนการทำงานในโรงงาน เราเอา AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพการผลิต จริงๆ เรียกว่าใช้ ‘Digital Technology’ ดีกว่า อย่างตอนนี้ เราสามารถติดตามเรือขนส่งสินค้าได้ หรือแม้แต่การวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ก็ทรานส์ฟอร์มเป็นดิจิทัลหมดแล้ว เพื่อใช้คนน้อยลง และเอาระบบอัตโนมัติมาทำงานในธุรกิจมากขึ้น”

นอกจากนี้ โรยัล คานินยังนำ AI มาใช้ใน ‘Vet Service’ หรือบริการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการจากสัตวแพทย์ที่มี AI ช่วยวิเคราะห์ความต้องการของสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว โดยสัตวแพทย์จะแนะนำสูตรอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพและไลฟ์สไตล์ของน้องๆ ถือเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการขยายฐานลูกค้าด้วยบริการใหม่ที่ต่อยอดจากจุดแข็งของแบรนด์

แต่ Vet Service เป็นเพียงก้าวแรกของการสร้าง S-Curve ใหม่ เพราะจดลกล่าวเพิ่มเติมว่า ทีม Global R&D ของโรยัล คานิน พัฒนาฟีเจอร์ที่ยังไม่ได้ปล่อยออกมาอีกเพียบ เช่น การตรวจสอบคุณภาพของอุจจาระผ่านการสแกนในแอปฯ ซึ่งระบบจะวิเคราะห์ผลจากตัวอย่างที่เก็บในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

แนวทางการสร้าง S-Curve ใหม่ของโรยัล คานิน สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในภาคธุรกิจใด ก็สามารถสร้าง S-Curve ใหม่ได้เสมอ และสิ่งที่จะทำให้การต่อยอดทางธุรกิจประสบความสำเร็จ คือการที่ปัจจัยทางธุรกิจ เช่น คุณภาพของสินค้า กลยุทธ์การตลาด และบริการหลังการขาย ส่งเสริมกันราวกับเป็น ‘จิ๊กซอว์’ ชิ้นเล็กๆ หลายๆ ชิ้นมาต่อกันจนเกิดภาพที่สมบูรณ์

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)