‘Radium Girls’ บทเรียนราคาแพงเกี่ยวกับธุรกิจ ‘รังสี’ และด้านมืดของ ‘นายทุน’
#ซีเซียม137 กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ เมื่อหลายฝ่ายต้องติดตามข่าวการสูญหายของ ‘ซีเซียม-137’ จากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี อย่างใกล้ชิด เพราะซีเซียม-137 คือวัตถุกัมมันตรังสี หรือวัตถุที่มีความสามารถในการแผ่รังสี เนื่องจากนิวเคลียสของอะตอมไม่เสถียร
ถ้าพูดถึง ‘รังสี’ ในมุมของอดีตนักเรียนสายวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง คงจะบอกว่า แม้รังสีจะมีคุณูปการต่อวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์เพียงใด แต่ก็มีอันตรายเกินกว่าจะประเมินค่าได้เช่นกัน เพราะวัตถุกัมมันตรังสีแต่ละชนิดมีค่า ‘ครึ่งชีวิต’ (Half Life) ต่างกัน บางชนิดต้องใช้เวลานับพันปีในการสลายตัว ทำให้วัตถุประเภทนี้ยังสามารถแผ่รังสีได้ แม้จะเกิดการเปลี่ยนผ่านหลายชั่วรุ่นก็ตาม
หรือในมุมคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตตามปกติในแต่ละวัน แค่ได้ยินคำว่า ‘รังสี’ ก็รู้สึกถึงอันตรายแล้ว เพราะในประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวความสูญเสียจากรังสี โดยเฉพาะ ‘เชอร์โนบิล’ (Chernobyl) หรือการระเบิดครั้งใหญ่ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกในยูเครน ที่มีวัตถุตั้งต้นเป็นซีเซียม-137 (วัตถุชนิดเดียวกับที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในไทย)
ความเสียหายจากวัตถุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นในอดีต นับเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับมวลมนุษยชาติที่ทำให้เกิดการตระหนักถึงอันตรายจากการใช้รังสีเป็นแกนหลักในการทำธุรกิจ โดยหนึ่งในบทเรียนน่าสลดใจที่สะท้อนถึงภัยของรังสีและความหละหลวมของนายทุนได้อย่างดีคือ ‘เรเดียมเกิร์ล’ (Radium Girls) สาวโรงงานนับร้อยที่ถูกคร่าชีวิตด้วย ‘เรเดียม’
นับตั้งแต่ ‘ปิแอร์ และมารี คูรี’ (Pierre & Marie Curie) ค้นพบธาตุเรเดียมในปี 1898 ก็มีการนำมาใช้ในการวิจัยและการรักษาโรคด้วยรังสี ก่อนที่ ‘ซาบิน วอน โซช็อกกี’ (Sabin von Sochocky) นักวิจัยคนหนึ่งจะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยนำธาตุเรเดียมมาผสมกับสังกะสีซัลไฟด์ จนเกิดเป็นสารเรืองแสงที่เรียกว่า ‘Undark’
การค้นพบสาร Undark ทำให้ซาบินตัดสินใจเบนเข็มมาสู่เส้นทางนักธุรกิจเต็มตัว และจัดตั้งบริษัท ‘US Radium Corporation’ ที่มีจุดมุ่งหมายในการทำเงินจากสาร Undark โดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทนี้ประกอบธุรกิจจากการเพนต์หน้าปัดนาฬิกาเรืองแสงจนเป็นที่นิยมในหมู่ทหารสหรัฐฯ ก่อนจะเริ่มรับงานจากทางการสหรัฐฯ ในการเพนต์ยุทโธปกรณ์ที่ใช้ออกรบ เพราะช่วงที่บริษัทเติบโตเป็นช่วงเดียวกับที่โลกรู้จัก ‘สงครามโลกครั้งที่ 1’ พอดี
เมื่องานของ US Radium Corporation มีล้นมือจนเกินกำลัง การจ้างงานจำนวนมากผ่านเงินเดือนสูงลิ่วจึงเกิดขึ้น ด้วยความที่ลักษณะงานต้องใช้ความละเอียดอ่อนขั้นสูง เป้าหมายของการจ้างงานครั้งนี้จึงเป็น ‘ผู้หญิง’ วัยแรกรุ่นที่พร้อมเข้าสู่โลกการทำงานด้วยการเป็น ‘สาวโรงงาน’ โดยผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทแห่งนี้จะได้รับการขนานนามว่า ‘เรเดียมเกิร์ล’ ในอนาคต
การทำงานใน US Radium Corporation เต็มไปด้วยฉากหน้าที่สวยหรู เพราะนอกจากจะเป็นงานที่สบายและรายได้ดีแล้ว เหล่าเรเดียมเกิร์ลยังสามารถแต่งตัวสวยๆ ออกไปทำงาน พร้อมทั้งแต่งแต้มเสื้อผ้าด้วยสาร Undark เพื่อให้ชุดของพวกเธอเรืองแสงในที่มืดราวกับเป็นตัวละครในเทพนิยาย โดยที่ไม่รู้เลยว่า พิษของรังสีค่อยๆ กัดกินชีวิตของพวกเธอทีละนิด
นอกจากเรเดียมเกิร์ลจะค่อยๆ รับพิษจากรังสีผ่านสาร Undark ที่เปรอะเปื้อนตามเสื้อผ้าแล้ว ต้นทุนของสาร Undark ที่แพงหูฉี่ยังเป็นปัจจัยในการรับพิษจากรังสีอย่างร้ายแรง เพราะบริษัทต้องการงานที่สมบูรณ์แบบและผิดพลาดน้อยที่สุด ทำให้เหล่าเรเดียมเกิร์ลใช้วิธีเดียวกับการสนเข็มเย็บผ้าอย่างการเอาพู่กันใส่ปากและลู่หัวแปรงด้วยน้ำลาย เพื่อให้ลายเส้นจากการตวัดฝีแปรงคมชัดยิ่งขึ้น
จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายเดือน เรเดียมเกิร์ลทยอยล้มป่วยด้วยอาการประหลาดที่แม้แต่แพทย์ก็ไม่สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้ เช่น ปวดฟันอย่างรุนแรง ขากรรไกรเริ่มผิดรูป กระดูกสันหลังแตก เป็นต้น
มอลลี มาเจีย (Mollie Maggia) คือหนึ่งในเรเดียมเกิร์ลที่มีอาการป่วยอย่างหนัก เธอเริ่มปวดฟันจนต้องถอนฟันทั้งหมด จากนั้นอาการติดเชื้อในช่องปากและหูก็รุนแรงขึ้น จนทำให้เธอเสียชีวิตในวัยเพียง 24 ปี เมื่อเดือนกันยายน ปี 1922
การเสียชีวิตของมอลลี สร้างแรงกระเพื่อมให้เรเดียมเกิร์ลคนอื่นๆ ที่ล้มป่วยด้วยอาการคล้ายกัน ลุกขึ้นมาเอาผิดกับ US Radium Corporation ที่ปกปิดความจริงเกี่ยวกับอันตรายของสาร Undark โดยแกนนำคนสำคัญที่ต้องการเปิดโปงความจริง คือ ‘แคทเธอรีน เชาบ์’ (Katherine Schaub) อดีตพนักงานของบริษัทแห่งนี้
แต่พลังแห่งการเรียกร้องกลับพ่ายแพ้พลังแห่ง ‘เงิน’ ที่บริษัทจ่ายเพื่อปิดปากทุกคนที่รู้เห็นเกี่ยวกับอันตรายของสาร Undark ทำให้เหล่าเรเดียมเกิร์ลและ ‘โจเซฟ เนฟ’ (Joseph Knef) แพทย์ที่พยายามรักษามอลลีผู้ล่วงลับ ต้องต่อสู้ด้วยการฟ้องร้องและยื่นหลักฐานที่เป็นประจักษ์ในชั้นศาลหลายครั้ง โดยหนึ่งในหลักฐานชิ้นสำคัญ คือผลชันสูตรของมอลลีที่แม้จะเสียชีวิตไปแล้วหลายปี แต่ก็ยังพบเรเดียมจำนวนมากในร่างไร้ลมหายใจ
หลังจาก US Radium Corporation พยายามยื้อการตัดสินในชั้นศาลมาแรมปี การตัดสินคดีก็จบลงโดยเรเดียมเกิร์ลเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ และบริษัทต้องมอบเงินชดเชยจำนวน 140,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินบำนาญตลอดชีวิตให้กับอดีตพนักงานที่ต้องเจ็บป่วยจากเรเดียมในสาร Undark
จุดจบของ ‘เรเดียมเกิร์ล’ ถือเป็นบทเรียนทางธุรกิจอันเจ็บปวดที่สะท้อนปัญหาในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะการสร้างสุขภาวะในที่ทำงาน หากบริษัทจัดเตรียมอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยและให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของสาร Undark ตั้งแต่แรก เรเดียมเกิร์ลจะทำงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะเกิดอาการเจ็บป่วยน้อยลงตามไปด้วย
อีกทั้งการเป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์จากภัยสงคราม (War Profiteering) ยังทำให้ผู้บริหารของ US Radium Corporation กลายเป็น ‘นายทุน’ ที่หลงใหลในผลประโยชน์จนไม่ลืมหูลืมตา และไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของพนักงานที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเอง
Sources: https://bit.ly/3Z3ExYB