LOADING

Type to search

หนึ่งคนย้าย หลายคนตาม ‘Quitfluencer’ ปรากฏการณ์ลาออกไม่กี่คน ร้อนๆ หนาวๆ ไปทั้งทีม

หนึ่งคนย้าย หลายคนตาม ‘Quitfluencer’ ปรากฏการณ์ลาออกไม่กี่คน ร้อนๆ หนาวๆ ไปทั้งทีม
Share

ในโลกของการทำงาน การลาออกของใครคนหนึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับแผ่นดินไหวหลายริกเตอร์ ที่พอมีคนแรกตบเท้าก้าวออกมาลาออกปุ๊บ ก็อาจสั่นสะเทือนจนมีคนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ตามมาติดๆ โดยเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Quitfluencer’

ปรากฏการณ์ Quitfluencer คืออะไร เกิดจากเรื่องไหน ยุคนี้มนุษย์ออฟฟิศให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง และการขึ้นเงินเดือนสูงๆ ยังเป็นสิ่งที่เวิร์กอยู่หรือไม่? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

ปรากฏการณ์ Quitfluencer คืออะไร?

quitfluencer 1

Quitfluencer คือปรากฏการณ์ของอินฟลูเอนเซอร์ด้านการลาออกของพนักงานบางคนที่อาจสร้างแรงกระเพื่อมให้พนักงานที่เหลือตัดสินใจลาออกตามไปด้วย โดยก็เป็นสิ่งที่เกิดได้ในออฟฟิศทุกแห่ง แถมคนที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ไม่จำเป็นต้องโด่งดังหรือมีชื่อเสียงด้วย

ปรากฏการณ์ Quitfluencer เกิดจากเรื่องไหน?

ผลสำรวจเรื่อง Global Workforce of the Future Unravelling the Talent Conundrum ของอเด็คโก้ไทยแลนด์ (Adecco Thailand) จากการสำรวจกลุ่มตัวเองมนุษย์ออฟฟิศกว่า 34,200 คน อายุ 18-60 ปี ใน 25 ประเทศทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ความรู้สึกอยากลาออกเป็นมวลหรือพลังงานอย่างหนึ่งที่ส่งไปยังเพื่อนร่วมงานได้

เห็นได้จาก 1 ใน 4 ของพนักงานที่เหลือบอกว่า เตรียมลาออกไปซบบริษัทใหม่ภายใน 1 ปีข้างหน้า 45 เปอร์เซ็นต์บอกว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนการสมัคร และสัมภาษณ์งานใหม่ อีก 55 เปอร์เซ็นต์บอกว่า กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป และ 17 เปอร์เซ็นต์บอกว่า เคยได้รับการชักชวนจาก Recruiter ให้ไปร่วมงานด้วย

นอกจากนี้ ผลสำรวจก็ยังพบด้วยว่า เจนแซด (Gen Z) ถือเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อปรากฏการณ์ Quitfluencer มากที่สุด การที่พวกเขาเห็นคนอื่นลาออกก็ยิ่งมีแนวโน้มจะลาออกมากขึ้นถึง 2.5 เท่า ซึ่งมากกว่าเจนเบบี้บูมเมอร์ (Gen Baby Boomers) ด้วยซ้ำ

สอดคล้องกับรายงานเรื่อง LinkedIn’s Workforce Confidence Index ที่พบว่า เมื่อเทียบกับปี 2019 ทุกวันนี้ เจนแซดเปลี่ยนงานมากขึ้นถึง 134 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับเจนเบบี้บูมเมอร์ที่เปลี่ยนงานน้อยลงกว่า 4 เปอร์เซ็นต์

ยุคนี้มนุษย์ออฟฟิศให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรบ้าง?

ผลสำรวจของอเด็คโก้ไทยแลนด์ระบุว่า Work-Life Balance ที่ดีขึ้นแท่นตัวแปรอันดับหนึ่งชีวิตการทำงานที่ประสบความสำเร็จ รองลงมาคือ การมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน, งานที่มั่นคง รู้สึก Secure, งานที่มีความยืดหยุ่น, เนื้องานที่ตรงกับ Passion และความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าตามลำดับ ส่วนเงินเดือนสูงๆ กลับกลายเป็นอันดับท้ายๆ ที่พวกเขาให้ความสำคัญ

การขึ้นเงินเดือนสูงๆ ยังเป็นสิ่งที่เวิร์กอยู่หรือไม่?

quitfluencer 2
Image by benzoix on Freepik

นอกจากนี้ ผลสำรวจของอเด็คโก้ไทยแลนด์ก็ยังชี้ให้เห็นว่า แม้กลิ่นเงินจะหอมหวนมากแค่ไหน เป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดพนักงานใหม่ได้สำเร็จ และเป็นเหตุผลอันดับ 1 ที่ทำให้หลายๆ คนตัดสินใจเปลี่ยนงาน

แต่สำหรับพนักงานเก่าแล้ว นี่ไม่ใช่ยาแรงชั้นดีที่ใช้ได้ผลนัก สิ่งที่ทำให้พวกเขาเลือกไปต่อกับบริษัท คือการมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน, งานที่มั่นคง รู้สึก Secure, การมี Work-Life Balance ที่ดี, การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี และงานที่มีความยืดหยุ่น หรือพูดง่ายๆ ว่า ชีวิตการทำงานที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีส่วนผสมของ Wellbeing ที่ดีควบคู่ด้วย

Quiet Quitting คำตอบของคนไม่อยากอยู่ แต่ไม่ไปไหน

ผลสำรวจอธิบายว่า แม้จะไม่รักงานสักเท่าไร หมดใจกับงานไปเรียบร้อยแล้ว แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้หลายๆ คนยังไม่กล้าเปลี่ยนงานในช่วงนี้ เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงตัดสินใจทำตามเทรนด์ Quiet Quitting หรือการลาออกแบบเงียบๆ ทำงานตามหน้าที่เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยจนเกินไป

มีพบก็ต้องมีจาก มีคนเดินออกไปจากชีวิต เดี๋ยวก็มีคนใหม่ๆ ก้าวเข้ามา ไม่มีใครยืนอยู่เคียงข้างกันไปตลอดชีวิต ทุกคนต่างก็มีฝันเป็นของตัวเอง สุดท้ายแล้ว วันหนึ่งเราก็ต้องแยกย้ายกันไปเติบโตตามทาง ไปมีชีวิตที่ดีเป็นของตัวเองอยู่ดี นี่คือสัจธรรม…

Source: https://bit.ly/3N0oVke

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like