เมื่อภาวะโลกร้อนกำลังเดินหน้าสู่จุดที่แก้ไขไม่ได้ ‘Net Zero’ อาจเป็นฮีโร่ ในการช่วยคืนสภาพอากาศโลก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้เห็นสภาพอากาศในหลายประเทศเริ่ม ‘แปลก’ ขึ้นทุกที หรือที่เราเรียกกันว่า ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยเราจะเห็นได้ว่าภัยพิบัติทั่วโลกมีความรุนแรงขึ้น และกินระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ ที่พัดถล่มภาคใต้เป็นครั้งแรกในรอบ 68 ปี หรือคลื่นความร้อนในสหราชอาณาจักรที่กินระยะเวลายาวนานขึ้นถึง 2 เท่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
เมื่อภาวะโลกร้อนเริ่มเข้าใกล้จุดวิกฤตเต็มที หลายประเทศทั่วโลกจึงเริ่มมีท่าทีจริงจังต่อปัญหานี้มากขึ้น อย่างเช่นใน EU ที่ได้กำหนดมาตรการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่เรียกกันว่า CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ขึ้น โดยเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU เช่น เหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอลูมิเนียม
นอกจากนี้หลายประเทศทั่วโลกต่างเร่งผลักดันนโยบายอื่นๆ เพื่อกู้คืนสภาพอากาศของโลก ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญอีกข้อที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ คือ ‘Net Zero GHG Emission’ หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านสองรูปแบบ คือ การใช้พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด รวมไปถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง หรืออีกวิธีคือการกำจัดก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนจากอากาศ
จุดเริ่มต้นความร่วมมือของมนุษยชาติเพื่อกู้คืนสภาพอากาศโลก ผ่านนโยบาย ‘Net Zero GHG Emission’
ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP 21 ณ กรุงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ประชุมเห็นชอบในมติ ‘ความตกลงปารีส’ มีเป้าหมายในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม
เพราะเมื่อดูจากสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1.02 องศาเซลเซียส (ค.ศ.1880-2020) ธารน้ำแข็งลดลง 13.10% (ค.ศ.1979-2020) ระดับน้ำทะเลสูง ขึ้น 97 มิลลิเมตร (ค.ศ.1993-2021) เสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังเช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นลมรุนแรง คลื่นความร้อน พายุรุนแรง ดินถล่ม เป็นต้น
เพื่อหยุดยั้งสิ่งที่เกิดขึ้น และผลกระทบจากสถานการณ์อื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC กล่าวว่าโลกของเราจะต้องเร่งการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด และลดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมได้ผลชัดเจน ในอีก 20 ปีหลังจากนี้ การรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ หรือต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จะเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว
แล้วไทยมีท่าทีกับนโยบายฟื้นฟูสภาพอากาศโลกอย่างไร?
ในการประชุม COP 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า จะทำทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2065
ผลที่ได้คือ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการค้าระหว่างประเทศที่เคร่งครัดเรื่องการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงระหว่างขั้นตอนการผลิตได้อีกด้วย ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ส่องกลยุทธ์ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ‘Net Zero 3P’ จาก ปตท.
สำหรับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ พยายามเต็มความสามารถเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emissions) ของประเทศ และมีความตั้งใจจะเร่งดําเนินการเพื่อบรรลุผลให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ
โดยมีการกําหนดเป้าหมาย ทิศทางการลงทุนระยะยาว ทิศทางกลยุทธ์ตลอดจนแผนวิสาหกิจเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกสําคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ผ่านนโยบาย ‘Net Zero 3P’ ซึ่งประกอบไปด้วย
Pursuit of Lower Emissions – ‘Clean Growth’
การดําเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% จากปี 2020 ภายในปี 2030 ผ่านการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมากมาย เช่น
1. การดําเนินโครงการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS)
2. การใช้พลังงานทดแทน
3. การใช้พลังงานไฮโดรเจน
4. การดําเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน
5. การนําก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ (CCU)
6. การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต
Portfolio Transformation – ‘Business growth & Green Portfolio’
ทุ่มงบประมาณสัดส่วนกว่า 32% เพื่อลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานเป็นแกนหลักในการลงทุน รวมถึงการเพิ่มกําลังการผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 12 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030
Partnership with Nature and Society – ‘Reforestation’
การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูก และบํารุงรักษาป่าไม้ รวมถึงพื้นที่สีเขียวต่างๆ ทั่วประเทศร่วมกับภาครัฐ และชุมชนในพื้นที่ โดยทาง ปตท. มีแผนจะปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่าต่อปี
‘ดำเนินธุรกิจที่เป็นพลังงานขับเคลื่อนชีวิต’ คือจุดมุ่งหมายในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. และในวันนี้ที่โลกของเรากำลังต้องการความช่วยเหลือ ทาง ปตท. จึงไม่รอช้าในการดำเนินการผ่านนโยบายต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อคืนสภาพอากาศที่ดีให้กับโลกอีกครั้ง และยังมุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเติบโตเป็นธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต พร้อมกับเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน
Sources: