Type to search

“ยอมไม่ขึ้นเงินเดือนก็ได้ ขอแค่อยู่ตำแหน่งเดิมก็พอ” เพราะการเป็น ‘หัวหน้า’ อาจไม่ใช่เป้าหมายที่ใช่ของทุกคน

July 18, 2022 By Chompoonut Suwannochin

ในยุคสมัยที่สังคมให้ค่า เอาแต่ถามหาความสำเร็จ คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากหลายๆ คนจะโดนชุดความคิด โปรแกรมบางอย่างกรอบให้อยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

โลกรอบตัว เทรนด์การพัฒนาตนเอง (Self-Development) ที่คอยผลิตซ้ำ กรอกหูผ่านสื่อต่างๆ ให้เราต้องเก่งขึ้น ทำงานให้ดีขึ้น ผลักดันตัวเองไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จบสร้างความรู้สึกในหัวหลายๆ คนว่า การไม่อยากเติบโต การไร้ซึ่ง Growth Mindset นั้นเป็นเรื่องผิดแปลก

แต่ว่ากันตามตรง สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่ใช่ของทุกคนเสมอไป และน่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่มีความคิดขั้วตรงข้ามกับบรรทัดฐานของสังคม เคยมีกระทู้หนึ่งในเว็บไซต์พันทิป (Pantip) ตั้งคำถามถึงประเด็นดังกล่าวในแง่มุมเดียวกันว่า ‘ผิดมากมั้ย ที่ไม่อยากเติบโตในหน้าที่การงาน แค่อยากใช้ชีวิตได้เที่ยว ได้นอนดู netflix กับแมวที่บ้าน’

เพราะลึกๆ แล้ว เขาอยากใช้ชีวิตแบบเรียบๆ ไม่ได้อยากแข่งทำผลงานเพื่อได้เลื่อนขั้น ขึ้นตำแหน่งใหม่เหมือนคนอื่น ไม่ได้รู้สึกฮึกเหิมว่า ตัวเองต้องทำให้ได้บ้าง ซึ่งคนที่บ้านของเจ้าของกระทู้ก็บอกว่า แปลก แถมตัวเขาเองก็ดันรู้สึกแบบนั้นด้วย

ทว่า วิธีคิดแบบนี้อาจจะดูเหมารวมไปหน่อย จริงๆ แล้ว เขาอาจจะเป็นแค่คนกลุ่มน้อย และก็ไม่ได้แปลว่า จะเป็นแกะดำต่างจากคนอื่น สำหรับบางคน การได้ก้าวหน้าแค่ตำแหน่งลูกน้อง เติบโตอยู่ในตำแหน่งแห่งที่เดิม โดยไม่ต้องขึ้นบังเหียนเป็นหัวหน้าที่รับผิดชอบชีวิตคนเยอะๆ ก็เป็นความพอใจที่ดีที่สุด และรู้สึกประสบความสำเร็จแล้ว

จากรายงานทาเลนต์ เทรนด์ 2022 (Talent Trends 2022) หัวข้อเดอะ เกรต เอ็กซ์ (The Great X) ของบริษัทจัดหางาน ไมเคิล เพจ ประเทศไทย (Michael Page Thailand) ชี้ให้เห็นว่า ถึงเงินเดือน และโบนัสที่ดีจะเป็นแรงจูงใจอันดับต้นๆ ในการทำงาน แต่ 69 เปอร์เซ็นต์ของลูกจ้างไทยยอมไม่ขึ้นเงินเดือน และเลื่อนตำแหน่ง เพื่อแลกกับความสุข และคุณภาพชีวิต (Work-Life Balance) ที่ดีขึ้น กล่าวคือ พวกเขากำลังมองหาสมดุลชีวิตมากกว่าภาระงานที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

เช่นเดียวกับเรื่องราวของ Candidate คนหนึ่งกับสตีฟ ไคเดอร์ (Steve Crider) รีครูตเตอร์ชาวต่างชาติ เขาเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ตนเจอโปรไฟล์ของ Candidate คนนี้แล้วรู้สึกว่า เหมาะสมกับตำแหน่งที่กำลังมองหา จากนั้น เขาจึงไม่ลังเลที่จะโทรไปเชิญมาสัมภาษณ์ โดยก็ได้เสนอตำแหน่ง และเงินเดือนที่สูงกว่าเดิมให้

แม้ตำแหน่ง และเงินเดือนจะดีกว่าเดิมหลายเท่า แต่สตีฟก็ถูก Candidate คนนั้นปฏิเสธกลับ ด้วยความสงสัย เขาจึงถามต่อว่า เพราะอะไร? Candidate ตอบกลับมาว่า I already made it to the top. หรือแปลเป็นไทยตรงๆ ว่า ‘ตนได้ถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงานแล้ว’

คำตอบนี้ไม่ได้คลายความสงสัยของสตีฟแต่อย่างใด แต่กลับทำให้สงสัยมากกว่าเดิมอีก สตีฟดูเรซูเม่ใหม่อีกครั้ง แล้วก็พบว่า Candidate คนนั้นไม่ได้ทำงานในตำแหน่งสูงๆ รวมไปถึงก็ไม่ได้อยู่ในระดับผู้จัดการด้วยซ้ำ

Candidate คนนั้นอธิบายต่อว่า จุดสูงสุดในหน้าที่การงานที่ว่าหมายถึง การที่ตนได้รักงานที่ทำในแต่ละวัน ได้รักบริษัทที่ทำงานอยู่ ได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ ได้เงินเดือนมากพอจะอยู่ได้อย่างสบายใจ ได้สวัสดิการที่ยอดเยี่ยม ได้ความยืดหยุ่นในการทำงาน และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่เคยพลาด Little League เกมแข่งเบสบอลของลูก การแสดงที่โรงเรียน ประชุมผู้ปกครอง วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน และวันสำคัญของครอบครัวเลยสักครั้ง

เขารู้ดีว่า การก้าวขึ้นไปอีกขั้นในหน้าที่การงานหมายถึง ‘การต้องใช้เวลา การต้องเดินทาง และการต้องเสียสละมากขึ้น’ ซึ่งส่วนตัวมองว่า อะไรแบบนี้ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องแลก หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ Candidate คนนั้นนิยามชีวิตตัวเองว่า ไม่ได้มีแค่เรื่องงาน เรื่องเงิน และก็ไม่ได้อยากแค่ Lucky in game. ตามบรรทัดฐานสังคม แต่เขากลับอยาก Lucky in love หรือ Lucky ในชีวิตจริงไปพร้อมๆ กัน

เพราะทุกทางเลือกมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ ในถนนแห่งความก้าวหน้า เส้นทางของการเติบโตในหน้าที่การงานก็เช่นกัน

ดังนั้น ชุดความคิดที่ชอบบอกให้เราเร่งสปีดตัวเอง รีบเติบโต ต้องก้าวหน้าในหน้าที่การงานจึงไม่ใช่คำตอบที่เวิร์กนัก แน่นอนว่า ถ้าเราเป็นแบบ Candidate คนนั้นอาจจะพอตอบปัดได้ แต่ถ้าเกิดหัวหน้าดันเล็งเห็นศักยภาพ หยิบยื่นความก้าวหน้า โอกาสดีๆ มาให้ แต่เราไม่อยากได้ เกิดความรู้สึกอีหลักอีเหลื่อในหัวว่า จะทำยังไงให้ไม่เสียความรู้สึกทั้ง 2 ฝ่าย และไม่ถูกมองในแง่ลบล่ะ

แพทริเซีย ทอมป์สัน (Patricia Thompson) ที่ปรึกษาผู้บริหารที่คร่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนานได้เขียนบทความให้คำแนะนำบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ไว้ว่า อันดับแรก ให้เริ่มต้นด้วยการ ‘หาเวลาคุยกับตัวเอง Self-Reflection’ ก่อน ย้อนกลับมาถามถึงเหตุผลแท้จริงแบบละเอียดที่ทำให้ไม่ต้องการเลื่อนขั้น

เรากลัวไม่ประสบความสำเร็จ กลัวความท้าทายรึเปล่า หรือจริงๆ แล้ว เราแค่รู้สึกว่า สิ่งที่ต้องแลกไปนั้นไม่คุ้มค่าเหมือนเช่น Candidate คนนั้น งานในตำแหน่งที่ต้องก้าวขึ้นไปเหมาะกับเป้าหมายชีวิต สิ่งที่เรากำลังตามหาหรือไม่? ทั้งนี้ อาจจะลองถามคนอื่นอีกทางด้วยว่า ในสายตาพวกเขามองเราว่า เป็นยังไง?

ถ้าคนอื่นบอกว่า มั่นใจในตัวเรา บางทีก็บ่งบอกได้ว่า เราอาจจะประเมินตัวเองต่ำเกิน อย่าเพิ่งด้อยค่า ด้อยความสามารถตัวเองลง สุดท้ายแล้ว ช่วงแรกที่ก้าวขึ้นไปก็มีเวลาให้เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่ดี ลองคิดไกลๆ ว่า ถ้าอีก 10, 20 หรือ 30 ปีหลังจากนี้ มองย้อนกลับมาแล้วจะรู้สึกยังไง ความสำเร็จของเราจะรออยู่ตรงนี้ไหม? ไม่มีอะไรผิดหรือถูก ความพึงพอใจของแต่ละคนต่างกัน เพราะฉะนั้น ไม้บรรทัดเดียวของสังคมก็ไม่อาจใช้ได้กับทุกคน

อย่างสุดท้าย เมื่อคำตอบชัดเจนในใจแล้ว ก็ให้เดินเข้าไปคุยกับหัวหน้าตรงๆ กล่าวขอบคุณที่เขาเชื่อมั่นในความสามารถ เล็งเห็นศักยภาพของเรา หลังจากนั้น ให้อธิบายเป้าหมาย ความต้องการที่มองหาออกไป โดยอาจจะบอกว่า เราเองก็ยังสนใจจะเติบโต แต่อาจไม่ใช่ตอนนี้ เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่เกิดความรู้สึกแง่ลบ เข้าใจ สนับสนุนเราในหน้าที่การงานตามเส้นทางที่ตรงกัน และเผื่อว่า ในอนาคตความสนใจ หมุดหมายในชีวิตของเราเกิดเปลี่ยนตามกาลเวลาขึ้นมาด้วย

ว็อนจีซู ได้บอกเล่าใจความหนึ่งในหนังสือ ‘ยังไม่ทันเข้างานก็อยากกลับบ้านแล้ว’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “การเป็นพนักงานออฟฟิศที่ไม่ได้มีเป้าหมายเป็นการไต่เต้าในองค์กรนั้นไม่ได้แปลว่า คุณไร้คุณค่า เพราะไม่ใช่ทุกคนจะใฝ่ฝันถึงความสำเร็จในชีวิตในรูปแบบเดียวกัน”

ฉะนั้น วาทกรรมลำบากวันนี้ สบายวันหน้าจึงอาจไม่ใช่วาทกรรมที่ถูก ที่ควรอีกต่อไป ความพอใจ ความสุข ความสำเร็จ และเป้าหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะอยากทำงานในตำแหน่งสูงๆ มีเงินเยอะๆ ไว้ปรนเปรอตัวเองกับคนที่รัก

ในทางกลับกัน บางคนอาจจะพอใจ ณ จุดที่ยืนอยู่ตอนนี้ แค่ได้แฮปปี้กับการทำงาน ได้เลิกงานไปใช้ชีวิต ได้เที่ยว ได้นอนดูเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ไปพร้อมกับแมวที่บ้าน ได้เล่นเกม ได้ใช้เวลาท่ามกลางคนที่รักทุกวันก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

มันไม่ผิดตรงไหนเลยที่เราจะอยากมีชีวิตเหมือนกับดาวค้างฟ้าที่ส่องแสงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ดาวหางที่พุ่งทะยานสุดแรงเกิดไปเร็วๆ ต้องแลกบางสิ่ง และปราศจากคนข้างกาย หยุดเอาบรรทัดฐานสังคมมายึดโยงเป็นที่ตั้ง ชีวิตทุกคนต่างกัน ปรอทความสำเร็จก็ไม่เท่ากัน ชีวิตจะเป็นยังไง มีคุณค่าแค่ไหน ก็อยู่ที่แต่ละคนจะเลือก และนิยามมันเท่านั้นเอง

Sources: https://bit.ly/3P4PJ2l

https://bit.ly/3nHoob1

https://bit.ly/3NLuHoy

https://bit.ly/3OIsnjo

หนังสือยังไม่ทันเข้างานก็อยากกลับบ้านแล้ว เขียนโดย ว็อนจีซู

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง