กำลังจะหมดไฟ แต่ไม่รู้จะแก้ยังไงดี ลองใช้ ‘TTI Success Insights’ แก้ Burnout ในแบบฉบับของคุณเอง
ปัญหาอาการหมดไฟหรือ Burnout ในการทำงาน ยังคงเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปอยู่เสมอในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยปัจจัยมากมายที่ทำให้เราเหนื่อยล้า เครียดสะสม สูญเสียความมั่นใจ รวมถึงวิธีการทำงานแบบใหม่ อย่างการ Work from home ด้วย ซึ่งวิธีการหลีกเลี่ยงจากภาวะนี้ของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า ตัวเองจะหลีกเลี่ยงอาการหมดไฟเพราะอะไร? ทาง TTI SUCCESS INSIGHTS ก็ได้มีแบบทดสอบสไตล์การสื่อสารของตัวเอง เพื่อให้เรานั้นได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และยังได้แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงอาการหมดไฟของแต่ละสไตล์เอาไว้ด้วย โดยแบบทดสอบนั้นประกอบด้วยคำถามทั้งหมด 24 ข้อ มีการขอข้อมูลส่วนตัวเล็กน้อย และถึงจะเป็นคำถามที่ออกแบบมาสำหรับคนที่ทำงานที่บ้านเป็นหลัก แต่คนที่ทำงานในรูปแบบอื่นๆ ก็สามารถทำ และนำไปปรับใช้ได้เช่นกัน (เข้าไปทำแบบทดสอบได้ที่นี่ : https://bit.ly/3avsgce)
แบบทดสอบจะใช้เวลาในการทำประมาณ 10-15 นาที ซึ่งเราจะต้องพยายามตอบให้เป็นตัวเองมากที่สุด ไม่ต้องคิดนาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จ ก็จะได้รู้ว่า เรานั้นอยู่ในกลุ่มใด มีสไตล์การสื่อสารแบบไหน? รวมถึงวิธีรับมือ และหลีกเลี่ยงอาการหมดไฟของแต่ละสไตล์ด้วย โดยจะมีทั้งสิ้น 8 ประเภท ดังนี้
1. Direct Communicators | High D
สำหรับคนในกลุ่มแรกนี้ จะมีสไตล์การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ตัดสินใจรวดเร็ว ชัดเจน มีแบบแผน จริงจัง และทุ่มเทกับงานเป็นอย่างมาก โดยมักจะตอบสนองงานที่ได้รับมอบหมายในทันที อีกทั้ง อาจจะจมอยู่กับงานทั้งวันโดยไม่รู้ตัว ทำให้มีเวลาพักของตัวเองน้อย และอาจทำให้คนรอบข้างรู้สึกกดดันตาม นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มจะละเลยการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานด้วย
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
จัดตารางเวลาใหม่แล้วพยายามหาเวลาพักให้ตัวเองระหว่างวันเพื่อดึงจังหวะชีวิตให้ช้าลง และอย่าลืมที่จะหาเวลามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในที่ทำงานด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลองชวนเพื่อนร่วมงานคุยเรื่องเบาสมอง เรื่องตลก หรือเรื่องที่พวกเขาสนใจเหมือนกับเรา
2. Reflective Communicators | Low D
ตามปกติ คนกลุ่มนี้จะมีสไตล์การพูดที่น้อย ถ่อมตัว ให้ความร่วมมือ และช่วยเหลือผู้อื่นได้ดี ใครไหว้วานงานอะไรก็ไม่ค่อยเกี่ยง มักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และความขัดแย้ง เมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน ก็ยิ่งเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเขา เนื่องจาก ไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้อื่นมากนัก แต่ก็อาจมีปัญหาในการสื่อสารได้ เพราะด้วยความที่พูดน้อยอยู่แล้ว บางครั้งเลยอาจทำให้การสื่อสารคลาดเคลื่อน
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
ควรรู้จักที่จะปฏิเสธผู้อื่นบ้าง กล้าแสดงความคิดเห็น หรือสิ่งที่ต้องการจะพูดให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในการทำงาน ที่ประชุม หรือแม้กระทั่งการพูดคุยทั่วไป เพื่อให้การสื่อสารนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความเหนื่อยล้าในการสื่อสารที่ยากลำบาก และทำให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงความคิดของเราด้วย
3. Outgoing Communicators | High I
คนในกลุ่มนี้มีสไตล์การสื่อสารที่กระตือรือร้น ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ชอบทำงานเป็นทีม ซึ่งก็อาจเรียกได้ว่า ‘ไม่เจอคน งานไม่เดิน’ เลยทีเดียว เมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน คนกลุ่มนี้จะมีปัญหาเป็นอย่างมาก เพราะไม่ได้เจอ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เป็น ‘แหล่งพลังงานชั้นดี’ ของพวกเขานั่นเอง
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
พยายามสนใจตัวงานที่ต้องทำให้มากขึ้น พอทำเสร็จแล้วค่อยเอาเวลาไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเต็มที่ หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘Work hard, play harder’ ทั้งนี้ อาจใช้เทคนิคการแบ่งเวลาแบบโพโมโดโร (Pomodoro ทำงานครั้งละ 25 นาที แล้วพัก วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ได้ เพราะจริงๆ แล้ว การโฟกัสกับงานเป็นเวลานานนั้นไม่ดีต่อร่างกายนัก
3. Reserved Communicators | Low I
คนกลุ่มนี้ มีสไตล์การสื่อสารที่ไม่ค่อยแสดงออกมาก ชอบความสงบ และไม่ชอบเป็นจุดสนใจ การทำงานจากที่บ้านหรือการเว้นระยะห่างทางสังคม จึงเป็นเซฟโซน (Safe zone) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ในทางกลับกัน เมื่อต้องประชุม พวกเขามักจะไม่ค่อยพูดโต้ตอบสักเท่าไร ชอบฟังมากกว่าแสดงความคิดเห็นออกไป ซึ่งทำให้อาจมีปัญหาอย่างการขาดการปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงาน การสื่อสารที่คลาดเคลื่อนที่เป็นปัญหาร้ายแรงของการทำงานเป็นทีมได้
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
พูดโต้ตอบหรือแสดงความคิดเห็นออกไปในที่ประชุมบ้าง เพื่อลดปัญหาการสื่อสาร ปัญหาในการทำงานเป็นทีมลง และเป็นการรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอีกด้วย นอกจากนี้ การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรทำเช่นกัน
4. Predictable Communicators | High S
คนกลุ่มนี้ มีสไตล์การสื่อสารที่รอบคอบ ใจเย็น คิดก่อนพูดหรือแสดงอะไรออกไปอยู่เสมอ ชอบช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือกับผู้อื่นได้ดี แถมยังเป็นที่ปรึกษาได้ด้วย รวมไปถึงก็มักจะทำตามกฎระเบียบ และแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งส่งผลให้ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นจนอาจนำไปสู่การกดดันตัวเองได้ในที่สุด
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
พยายามเพิ่มความยืดหยุ่นให้ตัวเอง ลดความกดดันในตัวเองลงโดยการอะลุ่มอล่วยในการทำตามแผน และกฎระเบียบที่วางไว้ให้มากขึ้น ลองแบ่งปันความคิดเห็นกับผู้อื่นบ้าง หรืออาจจะจดบันทึกความสำเร็จของตัวเองเพื่อสร้างความมั่นใจเวลาที่รู้สึกกดดันก็เป็นวิธีง่ายๆ ที่เวิร์กเช่นกัน
5. Dynamic Communicators | Low S
Dynamic Communicators เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีสไตล์การสื่อสารที่กระตือรือร้น ร่าเริง ปรับตัวเก่ง สามารถยืดหยุ่นเวลาการทำงาน และมีความสามารถในการเบี่ยงเบนความสนใจของคนอื่นได้ดี แต่สิ่งที่ตามมาคือ พวกเขามักจะสมาธิสั้น ไม่สามารถโฟกัสงานเป็นเวลานานๆ ได้มากนัก
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
พยายามค้นหาเครื่องมือ เทคนิคที่ทำให้ตัวเองสามารถมีสมาธิหรือโฟกัสกับงานได้นานขึ้น และควรตระหนักว่า รูปแบบการทำงานที่ตัวเองทำอยู่นี้ ไม่ใช่รูปแบบระยะสั้น แต่เป็นระยะยาว ไม่ใช่สิ่งที่มาแล้วก็ไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มความรอบคอบมากยิ่งขึ้น
6. Compliant Communicators | High C
คนกลุ่มนี้จะมีสไตล์การสื่อสารที่มีเหตุผล และหนักแน่นเสมอ มีวินัย ช่างสังเกต รอบคอบ ชอบคิดวิเคราะห์ ชอบใช้เหตุผล ชอบทำตามขั้นตอน แบบแผนที่วางไว้ หรือสรุปง่ายๆ ว่า พวกเขามักจะทำตามสิ่งที่ตัวเองแน่ใจว่าถูกต้องเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม แม้ Compliant Communicators จะมีข้อดีมากมาย สามารถจัดการงานได้อย่างราบรื่น แต่จริงๆ แล้ว พวกเขาก็มีความเสี่ยงที่จะลงเอยด้วยการทำงานทั้งวันโดยไม่หยุดพัก และวิตกกังวลว่า สิ่งต่างๆ จะไม่เป็นไปตามที่วางแผนเอาไว้ด้วย
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
พยายามวางแผนการทำงานใหม่โดยคำนึงถึงเวลาพักของตัวเอง หากกังวลว่า จะมีอะไรมาแทรกในแผนที่วางเอาไว้ เช่น มีคนมาขอไหว้วานให้ช่วยทำบางอย่าง ก็ให้ปฏิเสธไป ตระหนักรู้ และเคารพในขีดจำกัดของตัวเอง
7. Pioneering Communicators | Low C
เราสามารถนิยามคนกลุ่มนี้ได้ว่า ‘เป็นพวกรักอิสระ’ มีรูปแบบการทำงานที่ไม่อยู่ในกรอบ หรือแบบแผนเดิมๆ ไม่ชอบความเอื่อยเฉื่อย มีรูปแบบการคิดที่มีวิสัยทัศน์ ชัดเจน และวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นสูง มักจะชอบเริ่มขั้นตอน วิธีการ หรือโปรเจกต์ใหม่ๆ อยู่ตลอด ซึ่งการกระโดดไปๆ มาๆ ในการทำงานนั้นนอกจากจะทำให้งานเดิมไม่เสร็จแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าสะสมตามมาด้วย
วิธีหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ
พยายามอดทนกับความตื่นเต้นของตัวเอง และสิ่งต่างๆ ภายนอกที่จะมาดึงความสนใจจากงานที่อยู่ตรงหน้าให้มากขึ้น ลองจัดการวางแผนการทำงานค่อยๆ ทำให้เสร็จไปทีละอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหางานค้างสะสมที่อาจสร้างความเหนื่อยล้าเอาได้
แม้ว่า คนแต่ละกลุ่มจะมีสไตล์ และวิธีการป้องกันอาการหมดไฟที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เหมือนกันก็คือ ‘การสื่อสารกับผู้อื่นให้ดี’ เพราะการทำงานโดยที่ไม่ได้เจอหน้ากันนั้นอาจทำให้กุญแจสำคัญอย่างการเชื่อมต่อกับผู้อื่นในที่ทำงานขาดหายไป ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาอีกเพียบ และอาการหมดไฟ ดังนั้นแล้ว การสื่อสารกับผู้อื่นจึงมีความสำคัญอย่างมากในการทำงานแบบ Work from home ด้วยเช่นกัน