Political Skill : เทคนิคร้ายๆ ที่วัยทำงานรู้ไว้ก่อนไม่เสียหาย
คอลัมน์: สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก
เขียน: โอมศิริ วีระกุล
จากประสบการณ์ทำงานมาสิบปี ผมก็พอดูออกว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนน่าคบหาแค่ในเวลางาน และเพื่อนร่วมงานคนไหนที่สามารถปรึกษานอกเหนือจากเรื่องงานได้ ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่าต่างคนต่างเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก รวมถึงเป้าหมายชีวิตก่อนก้าวเข้ามาทำงานในบริษัทเดียวกันด้วย
ถ้าไม่เชื่อลองแอบสังเกตวิธีคิดและวิถีการทำงานหรือถามเป้าหมายชีวิตการทำงานของเพื่อนๆ คุณดูสิ ผมเชื่อว่าจะเห็นความแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งเราจะพบว่ามีเพื่อนร่วมงานหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น
1. คนที่มีความทะเยอทะยาน เอาจริงเอาจัง เพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น
2. คนทำงานแบบกลางๆ แบ่งรับแบ่งสู้
3. คนที่อยู่ไปวันๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอนาคตจนรอนายเตรียมเชือดอยู่ทุกวัน
นี่แหละคือความแตกต่างที่ชัดเจนจากประสบการณ์ของผมที่เชื่อว่ามีคน 3 ประเภทนี้ที่ยังต้องทำงานและอยู่ร่วมกัน
ถามว่าคนทำงานแบบไหนที่ดูร้ายจนกลายเป็น ‘Toxic Employee’ ต่อคุณได้บ้าง ขอบอกตามตรงว่าทุกส่วนมันสามารถเป็น Toxic สำหรับเราได้หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นพวกจริงจัง กลางๆ หรืออยู่ไปวันๆ มันอยู่ที่ว่าเราแมตช์ความสามารถที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ ระดับความรู้ วิธีคิด หรือวิธีการอยู่ร่วม ไปเสริมกับสิ่งที่เราขาดเพื่อเติมให้เต็มได้หรือไม่
หลายคนเอามือทาบอกแล้วร้องว่าบ้าไปแล้ว! ใช่ครับบ้าไปแล้ว เพราะแต่ก่อนผมจะมองว่าคนที่ทำงานไปวันๆ เนี่ยแหละคือ Toxic Employee ตัวจริง แต่พอมาคิดอีกทีนั่นมันมองจากสายตาเชิงองค์กร
แต่ถ้ามองในมุมระดับบุคคลแล้ว บางทีจะพบว่าบุคคลเหล่านี้อาจเป็นมดงานที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีพลังงานด้านลบอยู่บ้าง เช่น แอบเล่นเกม เม้าท์มอยเรื่องละครกันบ้างก็ตาม ส่วนคนที่ทำงานได้หมดประเภทเป็นเป็ดนั้น ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยแก้ไขในเชิงการนำประสบการณ์ที่หลากหลายมาคลี่คลายได้เช่นกัน (นึกถึงตัวเองเลย)
ในขณะคนที่ทะเยอะทะยานก็น่ากลัวในการเอาแต่ใจตัวเอง มี Self – Esteem ล้นเกินหน้าเกินตา จนอาจถูกหมั่นไส้ได้ แต่ถ้าลองมองให้เห็นมุมดีๆ ก็อาจช่วยให้คนเป็นเป็ดอย่างเราได้รู้วิธีคิด วิธีการนำเสนอที่คมๆ จากคนประเภทนี้ได้ดีทีเดียว
ดังนั้น คนทำงานทุกประเภทล้วนมีทั้ง Toxic และ Benefit ที่มีระดับความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันออกไป
คำถามคือเราควรเรียนรู้อย่างไรให้เกิดความก้าวหน้าจากคนที่เป็น Toxic Employee ที่ก้าวหน้าด้วย
คำตอบนั่นคือการมีทักษะแบบ Political Skill ครับ ผมพบเจอคำนี้ในบทความของ Harvard Business Review หัวข้อ Why Do Toxic People Get Promoted? For the Same Reason Humble People Do: Political Skill เขียนโดย Klaus J. Templer ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาองค์กร จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสิงค์โปร
บทความนี้ได้ตั้งคำถามถึงว่าทำไมคนที่ดูร้ายๆ ในสายตาคนทำงานถึงได้รับการโปรโมตเช่นเดียวกับคนที่ถ่อมตัว โดยผลลัพธ์ที่ได้มานั้น มาจากการลงสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานหลากหลายหน้าที่และอุตสาหกรรมในประเทศสิงค์โปรจำนวน 110 คน
มีการนิยาม ‘Political Skill’ ไว้ว่า เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นในการแข่งขันเชิงบวก และสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ มีอิทธิพลต่อคนกลุ่มอื่น มีความกล้าแสดงความคิด มีความจริงใจในการทำข้อตกลงกับผู้อื่น ซึ่งจากการสำรวจนั้นพบว่าคนที่เข้าข่ายจำพวก Toxic นั้นมี Political Skill สูงไปพร้อมๆ กับระดับความสามารถด้วยเช่นกัน
ความน่ากลัวของคนประเภท Toxic Employee หัวก้าวหน้า คือการใช้ Political Skill สร้างให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ในสายตาของเจ้านายรือผู้บังคับบัญชา เรียกได้ว่าเหมือนพวกประเภทรู้จังหวะในการใช้งานคนอื่นๆ ให้หัวหน้าเห็นความมุ่งมั่นไปพร้อมกับผลลัพธ์ที่แตกต่างในทางที่ดีขึ้น คือคูณสองเท่าเลย หน้าก็ได้ งานก็ดี (มันร้าย)
คำถามคือแล้วอย่างนี้มีแนวทางในการป้องกันคนทำงานประเภทแบบนี้บางไหม คำตอบก็คือมีนะแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยนักจิตวิทยาองค์กรแนะนำว่า ก่อนที่เจ้านายจะทำการโปรโมทคนแบบนี้ ควรลงไปสืบสาวราวเรื่องก่อนว่าทั้งต่อหน้าและลับหลัง เขามีมาตรฐานทำงานแบบนี้กับลูกทีมหรือผู้เกี่ยวข้องเหมือนกันหรือไม่อย่างไร จะได้ไม่เกิดการเลือกคนที่คิดเอาแต่เลียอย่างเดียว
คนร้ายๆ ผ่านไปแล้ว ทีนี้มาถึงประเภทคนดี๊คนดี ที่มีความถ่อมตัว (Humble) เป็นพื้นฐาน
จากข้อมูลการสำรวจก็พบว่าคนประเภทนี้ก็มีวิธีการใช้ Political Skill ได้เหมือนกัน แถมยังเห็นผลดีกว่าคนประเภทร้าย (Toxic Employee) ใช้อีกด้วย โดยสามารถใช้กลยุทธ์ Political Skill เนี่ยแหละเจาะเฉพาะกับบุคคลสำคัญในกลุ่มทีเกี่ยวข้องในการทำงานทั้งภายในและภายนอก ด้วยการหมั่นพูดคุยและถามถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจและต้องการ
ยิ่งถ้าเราสามารถซื้อใจพวกเขาได้ เราก็จะมีทีมที่ยอดเยี่ยมที่ค่อยสนับสนุนและรับฟังคำแนะนำของเราได้เสมอ เรียกได้ว่าถ้าเราใช้ Political Skill เป็นมันจะส่งผลดีต่อศักยภาพการทำงานและเป้าหมายของเรา รวมถึงการเติบโตของบริษัทด้วยเช่นกัน
อ่านแล้วภาพแบบนี้มันก็คือเรื่องของการเมืองในที่ทำงานนะ ถ้าเข้าใจแบบแปลตรงตัวและมองไปที่ผลลัพธ์ของผู้ถือครองอำนาจเพื่อต้องการรบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ฉะนั้น ความน่ากลัวจึงไม่ได้อยู่ที่กลยุทธ์ Political Skill แล้ว แต่อยู่ขึ้นอยู่กับปัจจัยของคนที่ใช้กลยุทธ์นี้ว่าเป็นคนแบบไหน ดีหรือไม่อย่างไร รวมถึงตัวเจ้านายเองด้วยว่า เห็นความดีด้วยตาทั้งสองข้างหรือมองเห็นความดีความชอบเพียงด้านเดียว
ทุกอย่างในการทำงานมันมีบวกมีลบ แต่ถ้าองค์กรหรือบริษัทจะอยู่ได้ ผมเชื่อว่ายังไงก็ต้องมีสิ่งดีๆ อยู่มากกว่าสิ่งแย่ๆ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างคงพังหมด แล้วเราทุกคนก็มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน เพราะเราทุกคนล้วนเป็นหมากของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะการหาทางขึ้นไปสู่อำนาจที่อยากครอบครอง
อ้างอิง: https://hbr.org/2018/07/why-do-toxic-people-get-promoted-for-the-same-reason-humble-people-do-political-skill?utm_source=facebook&utm_campaign=hbr&utm_medium=social