ไม่พอใจ แต่ไม่ยอมบอกตรงๆ ‘Passive-Aggressive’ คนทำงานแบบการกระทำสวนทางกับคำพูด
คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เช่นเดียวกับสังคมการทำงานที่หลายๆ ครั้งเราอาจจะเลือกไม่ได้ที่จะเจอคนแบบไหน บางคนโชคดี รายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานดีๆ ก็ดีไป ในทางกลับกัน บางคนก็อาจจะโชคร้ายเจอเพื่อนร่วมงาน Toxic ที่นอกจากจะขี้เกียจแล้ว ยังพาลให้อารมณ์บูดไปทั้งวันด้วย
อย่างเช่น เพื่อนร่วมงานประเภท Passive-Aggressive ที่เวลาไม่พอใจอะไรก็มักจะใช้วิธีประชดประชัน เหน็บแนม ผ่านคำพูด สีหน้า ท่าทางอยู่ตลอด อารมณ์เดียวกับ ‘ทีเล่นทีจริง’ ปากบอกล้อเล่น แต่จริงๆ ก็แฝงไปด้วยเจตนาไม่ดี พอถามไปตรงๆ ก็บ่ายเบี่ยงกลับมาว่า ‘ไม่มีอะไร เราคิดมากไปเอง’ ทั้งที่ก็เห็นอยู่ว่ามีความคับข้องใจกับเรา
เว็บไซต์ Preply.com กล่าวถึงผลการศึกษาหนึ่ง เรื่องการสื่อสารและพฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive ไว้อย่างน่าสนใจว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันมากกว่า 1,200 คน พบว่า 20 เปอร์เซ็นต์บอกว่า เพื่อนร่วมงานของตนมีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมบ่อยกว่าเพื่อนในชีวิตจริงกับคนในครอบครัว และ 73 เปอร์เซ็นต์บอกว่า เคยเจอพฤติกรรมนี้จากเพื่อนร่วมงานมาแล้ว
อีกทั้ง 52 เปอร์เซ็นต์ก็บอกเช่นกันว่า พวกเขาเจอสงครามจิตวิทยานี้ทุกสัปดาห์ รวมไปถึงยังมีการให้คะแนนการสื่อสารด้วยว่า การโยนความผิดถือเป็นสิ่งที่แย่ที่สุด รองลงมาคือ การสั่งสอน และอันดับสุดท้ายคือ การบอกว่าไม่โกรธ ส่วนพฤติกรรมที่แย่ที่สุดก็หนีไม่พ้นการเสแสร้ง แกล้งทำตัวเป็นมิตร รองลงมาคือ การเสแสร้ง แกล้งทำตัวว่าไร้เดียงสา และอันดับสุดท้ายคือ การใช้ความเมตตาเป็นอาวุธ หลอกใช้ให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วย
สันกาล ชาตูวิดี (Sankalp Chaturvedi) ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรแห่งโรงเรียนธุรกิจอิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College Business School) อธิบายว่า “พฤติกรรมดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้านลบ อาจแพร่กระจายจากพนักงานคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง และสร้างสภาพแวดล้อมเชิงลบให้ทุกคนได้ ในแง่มุมของบริษัท อาจส่งผลเสียต่อ Productivity, พฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน และวัฒนธรรมการทำงานแบบสะสม”
ซึ่งหลักๆ แล้ว ก็มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่คอยพร่ำบอก สอนเราตั้งแต่เด็กว่า ความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี ต่อให้จะรู้สึกแย่มากแค่ไหนก็ต้องกด ต้องซ่อนเอาไว้ เพื่อความเป็นมืออาชีพ หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมในวัยเด็กก็ด้วย
โจชัวร์ คลาเพล (Joshua Klapow) นักจิตวิทยาคลินิก และนักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมบอกว่า ตามปกติ พฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive มักมีรากฐานมาจากการขาดความภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem), ความกลัวความขัดแย้ง, การเผชิญหน้า และการปฏิเสธ เพราะการเสียดสีนั้นแสดงความคับข้องใจ ความโกรธ หรือความผิดหวังได้โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้าความเป็นจริง
คำถามถัดมาคือ หากการลาออกไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แล้วถ้าเราเจอคนที่เป็นมลพิษทางการทำงานประเภทนี้เข้าต้องทำยังไง จะรับมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
อย่างแรก ทำใจร่มๆ เข้าไว้ การ Toxic มา Toxic กลับไม่โกงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะยิ่งเอาคืนอีกฝ่ายมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงมากเท่านั้น คารา มารี แมนรี (Carla Marie Manly) นักจิตวิทยาคลินิคอธิบายว่า “บางครั้งวิธีที่ดีที่สุดในการตอบโต้คือการเพิกเฉย”
อย่างที่สอง อย่าเพิ่งรีบแปะป้าย ติดฉลาก ตัดสินทันที ให้มองให้ลึกลงไปถึงสาเหตุแล้วพยายามทำความเข้าใจ ‘ทุกอย่างมีเหตุและผลของมันเสมอ’ ลองดูว่า จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการสื่ออะไร แฝงอะไรรึเปล่า มีความกลัวซ่อนอยู่ไหม?
อย่างที่สาม เอมี ซู ผู้แต่ง ‘Own the Room’ เสริมว่า ให้ลองถามตัวเองกลับว่า เรากำลังมีส่วนทำให้เกิด ‘Dynamic’ นี้หรือไม่? เพราะถึงที่สุดแล้ว เราอาจจะเป็นเจ้าของเรื่องนี้ครึ่งหนึ่งก็เป็นได้ และย้อนกลับมาสำรวจตัวเองด้วยว่า ได้เป็นฝ่ายเริ่ม หรือกำลังทำพฤติกรรมเช่นเดียวกันรึเปล่า?
อย่างที่สี่ หลักฐานต้องพร้อม! เข้าไปคุยตรงๆ อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล บอกพวกเขาให้ชัดเจนว่า พฤติกรรมไหนบ้างที่ทำให้เรารู้สึกแย่? อาจจะมีการเตรียมโน้ตไว้ล่วงหน้าก่อนการพูดคุยจริงด้วยก็ได้
จากนั้น ขอคำอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมดู โจชัวร์เสริมว่า หลายๆ ครั้ง บางคนก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังทำพฤติกรรมนี้อยู่ การเข้าไปพูดคุย แบ่งปันกันเป็นเหมือนการสะกิดความคิดของพวกเขาอีกครั้ง
อย่างที่ห้า ให้สร้างพื้นที่ปลอดภัยระหว่างกัน ทั้งเพื่อนร่วมงานกับเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้ากับลูกน้อง เนื่องจาก การมี Safe Zone ในการแสดงความคิดเห็นจะทำให้คนประเภทนี้กล้ายอมรับตรงๆ ว่า ไม่พอใจมากขึ้น นำไปสู่การลดพฤติกรรมแบบ Passive-Aggressive ลงในที่สุด
และอย่างสุดท้าย ถ้าลองทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่ได้ผล ให้ปรึกษาหัวหน้า อย่าเก็บความรู้สึกเหล่านี้ไว้คนเดียว เดินเข้าไปแบบสวยๆ แล้วออกมาแบบสวยๆ ด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช่การเม้าท์มอยอย่างสนุกปาก เล่าให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนร่วมงานคนนั้นอาจจะเป็นจริงๆ หรือบางทีเราอาจจะคิดไปเองก็ได้
ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงานที่มีตำแหน่งใหญ่โตมากแค่ไหน ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาความรู้สึกแย่ๆ ไปลงกับคนอื่นอยู่ดี ถ้าไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยก็บอกไปตรงๆ เคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
อยู่ให้เขารัก จากไปให้เขาคิดถึงย่อมดีกว่าอยู่แล้วเนอะ 🙂
แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยเจอเพื่อนร่วมงานแบบ Passive-Aggressive รึเปล่า รับมือด้วยวิธีไหนบ้าง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!
Sources: https://bbc.in/3d3GEcW
https://bit.ly/3Dtx2mL
https://bit.ly/3DcGmLy
https://bit.ly/3eFQthq
https://bit.ly/3L571f1
https://bit.ly/3RxaghT