“ถ้าวันหนึ่งเราทำพลาด ทุกคนจะเหยียบซ้ำไหม?” เมื่อความสำเร็จและการเป็น ‘over-achiever’ อาจไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
เราอาจคิดว่า ความสำเร็จคือเป้าหมาย คือทั้งหมดของชีวิต ถ้าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งได้เราก็คงจะมีความสุข ทว่า เมื่อพิชิตเส้นชัยในสนามแรกได้สำเร็จคุณกลับพบว่า นี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายแน่นอน ถ้าอย่างนั้น แล้วความสุขของความสำเร็จจะสิ้นสุดตรงไหน ปลายทางของความสำเร็จจะพาเราไปสู่ความสุขได้จริงๆ ใช่ไหม
ถ้าเราเลือกตามหาความหมายและ ‘ทั้งหมด’ ของชีวิตด้วยการฝากไว้ที่ชื่อเสียง เงินทอง หน้าที่การงาน เมื่อไรกันที่ชิ้นส่วนเหล่านั้นจะถูกนำมาประกอบร่างจนครบองค์สักที
ความสำเร็จและการเป็นคนเก่ง คือเป้าหมายของแทบทุกคนเลยก็ว่าได้ ไม่มีใครอยากเป็น ‘loser’ และพ่ายแพ้แม้กระทั่งเป้าหมายที่ทดไว้ในใจตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าความเก่งของคุณได้ ‘shining’ ออกไปให้ทุกคนรับรู้เป็นวงกว้าง มันก็จะยิ่งสร้าง ‘self-worth’ ให้กับคุณมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เพราะความเป็นนามธรรมของความสำเร็จนี่แหละค่ะที่หลายคนอาจไม่ได้คิดถึง
มันหอมหวานเวลาเราทำได้ แต่ขณะเดียวกัน ความสำเร็จที่ขึ้นอยู่กับเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เหล่านี้ก็อาจย้อนกลับมาตั้งคำถามและเล่นงานเราในวันที่ไปไม่ถึงจนสร้างความยุ่งยากในชีวิต ชวนให้สงสัยในตัวเองว่า หรือจริงๆ เราเก่งแบบที่เคยเชื่อมาตลอดหรือเปล่า?
อาจจะยกเป็นกรณีศึกษาก็ได้ว่า ผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่เคยมีช่วงเวลาแห่งความสำเร็จจากคอลัมน์ที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่นี่แหละค่ะ ช่วงปลายปี 2020 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2021 คอลัมน์ ‘Office Life’ ได้รับความนิยมอย่างมาก การได้รับยอดแชร์ 1,000-2,000 แชร์กลายเป็นเรื่องปกติ 10,000 แชร์ขึ้นไปไม่ได้สร้างความตื่นเต้นอะไรให้กับชีวิตมาก และเรื่องนี้ก็ทำให้เราภูมิใจในตัวเองมาก รวมถึงคำชื่นชมจากคนรอบข้างเองก็พลอยให้อมยิ้มไปกับความสำเร็จนี้ด้วย
แต่มีขึ้นย่อมมีลง ความสำเร็จไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ช่วงหลังมานี้ยอดการเข้าถึงโพสต์ การมีส่วนร่วม และแชร์ลดลงไปมาก แม้จะหาทางแก้ไข-ปรับโซลูชันร่วมกับทีมมาตลอด แต่ก็ไม่เห็นทางที่จะกลับไปแตะไมล์ความสำเร็จเดิมได้สักที จนถึงตอนนี้ได้ 1,000 แชร์ก็ถือเป็นยอดที่เยอะมากแล้ว หรือไปถึง 500 แชร์ก็นับเป็นความสำเร็จเล็กๆ ในช่วงเวลานี้แล้วค่ะ
ช่วงเวลาแห่งการล้มลุกคลุกคลานนี้ทำให้ดิฉันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งว่า เรามีอะไรบกพร่องหรือเปล่า เราเลือกหัวข้อไม่ดี ไม่เข้ากับช่วงเวลาไหม หรือเป็นเพราะบรรยากาศสังคม พฤติกรรมการเสพย์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เฟซบุ๊กลดการมองเห็น ฯลฯ พยายามเท่าไหร่ก็ไม่เจอคำตอบที่แน่ชัด
นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า ในวันที่ความสำเร็จไม่ใช่สิ่งคงทนและอยู่กับเราไปตลอด วันหนึ่งมันจะกลับมาเล่นงานเราและทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้นอีกครั้ง ทั้งส่วนของความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนรอบข้าง รวมถึงการมี ‘self-perception’ กับตัวเอง
แมรี่ ลาเมีย นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เขียนหนังสือ ‘What Motivates Getting Things Done’ อธิบายว่า คนที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนมักจะรู้สึกว่า ตนเองกำลังเดินไปมารอบๆ เป้าหมาย รอวันที่จะได้สวมใส่มันอีกครั้ง และก็บ่อยครั้งเช่นกันที่พวกเขารู้สึกว่า อย่างไรเป้าหมายใหม่ๆ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมหรอก
นอกจากตัวคุณเองแล้ว คนรอบข้างที่เคยชื่นชม-ให้กำลังใจมาก่อนก็ต้องการเห็นสิ่งที่คุณเคย ‘มี’ เหมือนกัน ในบทความนี้ใช้คำว่า “They don’t see you as who you are anymore – they see you as what they want” และที่อาจจะฟังดูน่ากลัวไปมากกว่านั้นก็คือ หลายครั้งผู้คนไม่ได้เพียงมีความสุขจากการเห็นคุณสำเร็จ แต่บางคนยังได้รับความสุขจากการเห็นคุณร่วงหล่นลงมาอยู่ในระนาบเดียวกับพวกเขาด้วย
สิ่งที่ต้องคอยย้ำเตือนกับตัวเองตลอดนับจากนี้ไปไม่ใช่การมุ่งหาความสำเร็จด้วยการกดดันตัวเอง แต่ต้องรู้ทันสิ่งต่างๆ ที่ห่อหุ้มคุณไว้ด้วยว่า หน้าตาความทะเยอทยานของคุณจะไม่มีวันเพียงพอ วันนี้คุณอาจมีเป้าหมายเป็นบ้านราคาสิบล้าน เมื่อได้มาแล้วคุณก็อยากจะ ‘get bigger’ ไปเรื่อยๆ
คุณคิดว่ารถปอร์เช่เป็นความฝันสูงสุดในชีวิต แต่นั่นอาจจะยังไม่พอในวันที่คุณได้มันมาแล้ว คุณมองว่าเฟอร์รารีต่างหากคือเป้าหมายที่แท้จริง แต่สูตรความสำเร็จแบบนี้ไม่มีวันตายตัว ทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จ สมองจะเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มาตรฐานความสำเร็จนั้น
เมื่อถึงจุดที่รู้สึกเหนื่อยกับการเอาชนะความ ‘suffer’ นี้ ลองใจเย็นลงแล้วนั่งพักดูก่อน เรียนรู้ที่จะรับรู้ความไม่สบายใจเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเอง เปลี่ยนเส้นทางของความสุข ตัดแบ่ง-กระจายชิ้นส่วนไปยังแง่มุมอื่นๆ ของชีวิตบ้าง
การตั้งเป้าความสำเร็จทั้งหมดไว้ที่ตัวคุณคนเดียว จะทำให้ชีวิตสุขและสนุกน้อยลง ลองแบ่งปันความสำเร็จนั้น แล้วพาคนข้างๆ ไปกับคุณบนเส้นทางนั้นด้วย จัดการกับหลุมพรางความสำเร็จให้ได้ แล้วชีวิตคุณจะสุขกว่านี้แน่นอน