Type to search

ส่องแนวคิดการทำงานแบบ ‘Netflix’ อะไรทำให้ Netflix กลายเป็นบริษัทสตรีมมิงระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้

April 25, 2022 By Witchayaporn Wongsa

ก่อนอื่น เราอยากถามทุกคนว่า จริงๆ แล้ว ที่ทำงานในฝันของทุกคนเป็นแบบไหนกัน?

หลายคนอาจจะอยากให้ที่ทำงานในฝัน ไม่มีกรอบเวลาการทำงานที่กำหนดตายตัว

หลายคนอาจจะอยากให้ที่ทำงานในฝัน เป็นที่ที่สร้างเสียงหัวเราะมากกว่าน้ำตา

ไม่ว่าที่ทำงานในฝันของแต่ละคนจะเป็นแบบไหน มันไม่มีผิดไม่มีถูกหรอกค่ะ เรื่องนี้อยู่ที่ความสบายใจของแต่ละคนมากกว่า แต่ถ้าให้พูดถึงสิ่งที่หลายๆ คนรู้สึกเหมือนกัน และเป็นสิ่งที่อยากได้จากที่ทำงานมากที่สุด ก็คงจะเป็น ‘อิสระในการทำงาน’ ใช่ไหมล่ะคะ

ด้วยความที่ในปัจจุบัน พนักงานรุ่นใหม่ต้องการอิสระในการทำงานมากขึ้น ดังนั้น รูปแบบการทำงานในองค์กรที่เกิดมาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ อย่าง ‘Flat Organization’ จึงถูกนำไปใช้ในหลายๆ บริษัท

แล้ว Flat Organization คืออะไร? ทำไมหลายๆ บริษัทถึงเริ่มใช้รูปแบบการทำงานแบบนี้มากขึ้น?

Flat Organization คือรูปแบบการทำงานที่ทุกคนมี ‘ความเท่าเทียมกัน’ เกือบ 100% ไม่มีลำดับขั้นในการทำงาน ทุกคนมีอิสระในการทำงานของตัวเอง และหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามกับคนที่เราต้องการปรึกษาได้ในทันที ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานไปโดยไม่จำเป็น

แต่ในวันนี้ เราจะพาคุณไปส่องแนวคิดการทำงานของบริษัทที่มีรูปแบบการทำงานพิเศษกว่า Flat Organization ขึ้นมาอีกหนึ่งระดับ ซึ่งบริษัทนั้น ก็คือ ‘เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)’ บริษัทสตรีมมิง (streaming) ระดับโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จักนั่นเอง

ที่บอกว่าแนวคิดการทำงานของเน็ตฟลิกซ์ มีความพิเศษกว่า Flat Organization ก็เพราะว่า เน็ตฟลิกซ์มองลึกลงไปถึงการสร้าง ‘ความหลากหลาย’ นอกเหนือจากความเท่าเทียมในที่ทำงานด้วย

โดยเน็ตฟลิกซ์มองว่า การสร้างความหลากหลายทั้งเรื่องเพศและเชื้อชาติในที่ทำงาน จะทำให้เกิดการปลดล็อกอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถด้านนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ไอเดียและคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลกได้อย่างแท้จริง

จาก รายงานความไม่แบ่งแยก ประจำปี 2021 ของเน็ตฟลิกซ์ ได้ระบุว่า ในปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์มีพนักงานทั่วโลกที่เป็นผู้หญิงถึง 51.7% และมีพนักงานในสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นเพมาจากเชื้อชาติที่ถูกกีดกันในอดีต อย่างชาวเอเชีย ชาวผิวดำ ชาวฮิสแปนิก (Hispanic) หรือลาตินอเมริกา ชาวตะวันออกกลาง ชาวอเมริกันพื้นเมือง มากถึง 50.5%

การที่เน็ตฟลิกซ์สามารถสร้างความหลากหลายของกลุ่มพนักงานได้มากขนาดนี้ คงเป็นเพราะมีการดำเนินงานตามแนวคิด ‘การไม่แบ่งแยกและความหลากหลาย (Inclusion and Diversity)’ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราก็ได้พบประเด็นที่น่าสนใจจากการทำงานตามแนวคิดนี้ ทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่

1. มองผ่านเลนส์ที่ไม่แบ่งแยก
เมื่อในบริษัทมีพนักงานที่มาจากหลายเชื้อชาติ การสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างพนักงานด้วยกัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น เน็ตฟลิกซ์จึงได้มีการสร้าง ‘แหล่งข้อมูลสำหรับพนักงาน (ERG)’ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของเพื่อนร่วมงานในกลุ่มต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายให้พนักงานเกิดความเป็นพันธมิตรต่อกัน และไม่แบ่งแยกด้วยภาษาหรือเชื้อชาติอีกต่อไป

2. สร้างโอกาสการเข้าถึงสำหรับคนเก่งรุ่นใหม่
ปัญหาเชิงระบบและค่านิยมเก่าๆ คือสิ่งที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงและเทคโนโลยีได้ เน็ตฟลิกซ์จึงทลายข้อจำกัดเหล่านั้น และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ผ่านการจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมและการออกแบบ UX/UI บนเว็บไซต์ให้กับนักศึกษาชาวผิวสีของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ฟอล์ก (Norfolk State University) เพื่อเฟ้นหาคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในอนาคต

3. สวัสดิการที่ไม่เฉพาะเจาะจงให้ใครคนใดคนหนึ่ง แต่มีให้สำหรับ ‘ทุกคน’
หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้พนักงานตัดสินใจทำงานกับบริษัทต่อคงหนีไม่พ้น ‘สวัสดิการที่ดี’ อย่างแน่นอน ซึ่งความพิเศษของสวัสดิการที่เน็ตฟลิกซ์มอบให้พนักงานทุกคน คือความไม่แบ่งแยกเพศในการใช้สวัสดิการนั้นๆ ใครๆ ก็สามารถใช้สวัสดิการที่เมื่อก่อนมีไว้ให้แค่เพศใดเพศหนึ่งได้

ตัวอย่างเช่น การลาพักเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยไม่คำนึงถึงเพศของผู้ปกครอง สวัสดิการที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพของพนักงานเพศทางเลือกในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจาก 3 ประเด็นที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในอนาคต เน็ตฟลิกซ์ได้วางแผนที่จะสร้างโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์หน้าใหม่ ผ่านการเรียนรู้ในโครงการ Bootcamp ที่ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาสำหรับชาวฮิสแปนิก (HSI) และมหาวิทยาลัยสำหรับคนผิวสี (HBCU) เพื่อมุ่งหวังที่จะสร้างความแตกต่างอย่างเท่าเทียมในบริษัทต่อไป

จากแนวคิดการทำงานแบบเน็ตฟลิกซ์ที่เราได้นำมาเล่าให้ทุกคนฟังกันในวันนี้ ทำให้เราเห็น ‘ความกล้า’ ที่จะฉีกกรอบรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อหวังผลลัพธ์ที่ดีกว่าในอนาคต

และนี่อาจจะถึงเวลาที่บริษัทในไทย จะนำ Flat Organization หรือแนวคิดการสร้างความหลากหลายในองค์กรมาใช้กับบริษัทของตัวเอง เพราะนอกจากจะให้ผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีมากๆ แล้ว ยังทำให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาล (Governance) ตามแนวคิด ESG ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ด้วยค่ะ

Sources: https://bit.ly/3Ol0NZI

https://bit.ly/3xJlusG

https://bit.ly/3v0DzjU

https://bit.ly/3v0cSMq

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)