Type to search

เน้นวิจารณ์เป็นงานหลัก ไอเดียเยอะ แต่ไม่เคยลงมือทำ NATO ผู้นำแบบ ‘ดีแต่พูด’ ที่ใครๆ ก็ร้องยี้!

June 24, 2022 By Chompoonut Suwannochin

ในโลกของการทำงาน ประโยคหยอกล้ออย่าง “คนลาออกเพราะคน” อาจไม่ใช่เรื่องเกินจริงสักเท่าไร เพราะกับคนบางคนก็ไม่ควรค่าต่อการเสียเวลาชีวิตด้วยนัก ไม่ว่าจะเป็นคนกลับกลอก คนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ คนที่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น หรือแม้กระทั่งคนแบบนาโต้ (NATO) ก็ด้วย

แล้ว NATO คืออะไร ใช่ NATO ที่เป็นองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือแบบที่บางคนเข้าใจหรือไม่ ผู้นำแบบนี้มีพฤติกรรมยังไง และตัวเราอาจกำลังเข้าข่ายเป็นหนึ่งในนั้นโดยไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า? ในบทความนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกัน

NATO คืออะไร ย่อมาจากคำไหน?

ตามปกติ เรามักจะเคยชินกับคำว่า NATO ที่ย่อมาจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หนึ่งในความร่วมมือทางด้านการทหารของประเทศในทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปยุโรปที่ทำหน้าที่ปกป้อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และคลี่คลายปมปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก

ซึ่ง NATO ที่ในบทความนี้ก็ไม่ใช่องค์การทำนองนี้ แต่เป็นคำล้อแกมเสียดสีที่เอามาเปรียบเทียบกับผู้นำที่ใครๆ ก็ไม่อยากร่วมงานด้วย และเป็น ‘ตัวถ่วงความเจริญ’ ขององค์กรต่างหาก โดย NATO ก็ย่อมาจากคำว่า No Action, Talk Only แปลเป็นไทยว่า ‘ไม่ทำสักอย่าง เอาแต่พูดอย่างเดียว’

กล่าวคือ ผู้นำประเภทนี้แทบไม่ต่างจาก Seagull Manager ผู้นำยอดแย่สายพันธุ์นกนางนวลมาก ที่หลักๆ แล้วจะชอบบินมาเมื่อเกิดปัญหา, ส่งเสียงเพื่อเอาหน้า, ทิ้งของเสียเอาไว้แล้วบินจากไปเมื่อทุกอย่างจบลง… ซึ่งพวกเขาก็เป็นหนึ่งในคนที่วันๆ ใช้ปากทำงานมากกว่ามือ ชอบส่งเสียง เป็นมนุษย์ที่เจ้าหลักการ หลักการ และหลักการเช่นกัน

หรือสรุปง่ายๆ ว่า คนเหล่านี้มี ‘คำพูดต้มยำการกระทำต้มจืด’ ตรงกับสำนวนไทยอย่าง ‘ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก’ ที่หมายถึง ดีแต่พูดนู่นนี่ แต่ไม่ทำอะไรเลยนั่นเอง

4 พฤติกรรมที่ถ่วงทั้งคน ถ่วงทั้งองค์กรของ NATO

ส่วนใหญ่แล้ว ผู้นำแบบ NATO จะมี 4 พฤติกรรมเด่นๆ ด้วยกัน ออฟฟิศปัจจุบันของเรากำลังเป็นฐานทัพใหญ่ของคนประเภทนี้ และเราอาจกำลังเข้าข่ายเป็นหนึ่งในนั้นโดยไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า? มาลองสำรวจตัวเองคร่าวๆ กัน

1. เอะอะ ‘ชอบให้ตั้งคณะกรรมการ’ ทำการศึกษา

จากที่เล่าไปก่อนหน้าว่า ผู้นำประเภทนี้จะชื่นชอบการใช้ปากเป็นอย่างมาก ในเคสนี้ก็ไม่ต่างกัน เพราะผู้นำแบบ NATO ก็ชอบให้คนอื่นใช้ปากเหมือนตัวเองด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าเรื่องราวที่เผชิญอยู่จะเล็ก ใหญ่ หรือเป็นปัญหามากแค่ไหนก็ตาม พวกเขาก็มักจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการศึกษาก่อนเสมอ

ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นี่ก็ถือเป็นความรอบคอบที่ดี แต่แท้จริงแล้ว การตั้งไว้ก่อนของพวกเขาแล้ววนลูปประชุมไปเรื่อยๆ หาทางออก วิธีแก้ไม่เจอ หาคำตอบไม่ได้ มัวแต่ตรวจสอบไม่จบไม่สิ้น ซื้อเวลาจนพาทุกคน ‘ไปสู่หายนะ’ มากกว่าที่คิด

2. เอะอะ ‘ชอบประชุม’

ถ้าออกกำลังกายเป็นกิจวัตรประจำวัน การประชุมก็เปรียบเสมือน ‘ขนมหวานจานโปรด’ ของพวกเขาเช่นกัน เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะวันไหน เวลาไหน? ผู้นำแบบ NATO ก็มักจะนึกถึงการประชุมเป็นอย่างแรกๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมที่มีดราม่า คนเถียงกันเยอะๆ พวกเขายิ่งถูกใจเข้าไปใหญ่

ในทางกลับกัน ถึงการประชุมที่ดูเผินๆ แล้วจะดี มีเวทีพวกเขาได้พูด มีเวทีให้ทีมคนอื่นแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนไอเดีย แต่แท้จริงแล้ว พวกเขากลับเลือกที่จะสื่อสารด้วย ‘คำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ ใช้แต่อารมณ์ ไม่ใช้เหตุผล’ รวมไปถึงประเด็นสุดคลาสสิกอย่างการ ‘จ้องแต่จะเอาชนะกัน’ ก็ด้วย

3. เอะอะ ‘ติเก่ง! วิจารณ์เก่ง!’

ถึงการวิจารณ์จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ดี ทำให้ลูกน้องได้นำฟีดแบ็คไปปรับปรุงตัวเอง และผลงานชิ้นต่อไป แต่การวิจารณ์ของผู้นำแบบ NATO ก็เป็นเรื่องที่ไม่เวิร์กอย่างแรง เพราะมันกลับเต็มไปด้วยมวลลบ ความไม่สร้างสรรค์เหมือนกับที่พวกเขาชอบปาระเบิดสิ่งนี้ทิ้งไว้ในการประชุม

สมมติว่า ถ้าเราเสนอให้เดินไปทางซ้าย พวกเขาก็มักจะหาเหตุผลต่างๆ นานามาแย้งว่า ทางซ้ายไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่ครั้นพอเสนอให้เดินไปทางขวาแทน พวกเขาก็จะหาเหตุผลมาแย้งว่า ทางขวาไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีก แต่ที่หนักที่สุดคือ นอกจากจะบอกว่าไม่ดีแล้ว พวกเขาก็ตอบไม่ได้เช่นกันว่า ควรเดินไปทิศทางไหน มีข้อเสนอแนะให้ทำอย่างไรต่อ?

ดังนั้น การมัวแต่วิจารณ์ ความ ‘รู้ดีไปหมดซะทุกเรื่อง’ เหล่านี้เลยทำให้ในหลายๆ ครั้ง ลูกน้องรู้สึกว่า ‘ทำทรงแต่ไม่ลงมือทำ ทำทรงแต่ไม่รู้อะไร ทำทรงแล้วเดินจากไป แล้วจะพูดเพื่ออะไร?’

4. เอะอะ ‘เก่งทุกเรื่อง (ยกเว้นเรื่องตัวเอง)’

อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาปาระเบิดมาพร้อมกับคำวิจารณ์ที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ก็คือ ‘ความไม่รู้ในสิ่งที่พูด’ ซึ่งพวกเขาก็มักจะวิจารณ์โดยที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ตัวเองด้วยซ้ำ มักจะวิจารณ์โดยไม่เคยย้อนกลับมาทบทวนว่า ตนก็ไม่เคยผ่านหรือทำเรื่องนั้นได้สำเร็จ

เป็นคนประเภทที่ว่า ‘ไอเดียเยอะมากแต่ไม่ทราบอะไรเลย’ ทำเหมือนตัวเองเป็นกูรูที่รู้เยอะมาก อวดฉลาดจนเข้าข่าย ‘Dunning-Kruger Effect’ นั่นเอง นอกจากนี้ บางทีสิ่งที่พวกเขาวิจารณ์ว่า ไม่ดีก็เป็นสิ่งที่พวกเขาทำเป็นประจำไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น บอกลูกน้องว่าอย่าเข้าประชุมลูกค้าสาย แต่พวกเขาดันเข้าสายซะเอง

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้มีแค่บรรดาผู้นำ หัวหน้าที่สามารถมีพฤติกรรมทำนองนี้เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว นี่เป็นสิ่งที่สามารถพบได้ในตัวคนที่เป็นลูกน้องเช่นกัน และสำหรับใครที่กำลังเจอหัวหน้า เพื่อนร่วมออฟฟิศประเภทนี้อยู่ แนะนำว่า ลองหาวิธีแย้บๆ เขาดูก่อน แต่ถ้าสมมติเกินเยียวยาจริงๆ การยิ้มหวานแล้วก้มหน้าก้มตาตั้งใจทำงานต่อไป อดทนกับความป่วงพิษๆ ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเท่าไร

ลองหาตัวเลือกใหม่ พาตัวเองออกไปจากตรงนี้เถอะ! จำไว้เสมอว่า ‘สุขภาพจิตของเราเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว’ บางทีเงินเดือนกับสิ่งที่ต้องเสียไปก็อาจไม่คุ้มค่ากัน

ส่วนหัวหน้าคนไหนที่รู้ตัวว่า กำลังเป็นผู้นำแบบ NATO อยู่ ก็รีบเปลี่ยนเกียร์เดินหน้าใหม่ซะ! เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันอาจทำให้คุณเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่ตอนเด็กๆ เราเคยเกลียด หรือเป็นคนที่แย่ลงนั่นเอง

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยร่วมงานกับคนแบบ NATO ไหม มีวิธีรับมือเด็ดๆ ยังไงบ้าง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: หนังสือ Future Mindset มีวิธีคิดที่คุณมีใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้ เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์

https://bit.ly/3QKez9k

Trending

Chompoonut Suwannochin

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง