บนดาวยูเรนัสมีอะไร ทำไม ‘NASA’ จึงปักธงอยากสำรวจในอีก 10 ปีข้างหน้า?
หากพูดถึง ‘ดาวยูเรนัส’ ในความทรงจำของใครหลายๆ คน คงนึกถึงดาวดวงหนึ่งในระบบสุริยจักรวาลที่มีขนาดใหญ่มาก หรือบางคนอาจจะนึกถึงภาพในหนังสือเรียนที่เป็นดาวกลมๆ สีฟ้า และมีวงแหวนบางๆ ล้อมรอบ
ไม่ว่า ในความทรงจำของทุกคนจะจดจำดาวยูเรนัสอย่างไร แต่ก็ต้องพูดกันตามตรงว่า ข้อมูลเชิงลึกหรือการค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับดาวดวงนี้ มันช่างมีน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับดาวดวงอื่นในระบบสุริยจักรวาล หรือประเด็นอื่นๆ ที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่ในอวกาศ
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นาซา (NASA) เลือกดาวยูเรนัสเป็นหมุดหมายต่อไปในการสำรวจ โดยรายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในรายงานวิชาการของ National Academies of Science, Engineering, and Medicine ได้ระบุว่า นี่คือภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ต้องทำให้สำเร็จ โดยนาซาจะได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรอิสระด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสำรวจครั้งนี้ อย่างสมบูรณ์
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะเริ่มรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของโครงการสำรวจดาวยูเรนัสที่จะเกิดขึ้นในอนาคตบ้างแล้ว แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องราวของแผนการสำรวจที่นาซาได้วางไว้ เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘ดาวยูเรนัส’ ตัวเอกของเรื่องนี้ แบบคร่าวๆ กันก่อน
ดาวยูเรนัส ถูกพบครั้งแรกในปี 1781 โดยวิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเส้นศูนย์กลางเพียง 16 เซนติเมตร เท่านั้น และยังเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามในระบบสุริยจักรวาล รองจากดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์
นอกจากนี้ ชั้นบรรยากาศหนาทึบของดาวยูเรนัสยังประกอบไปด้วยก๊าซไฮโดรเจนเป็นหลัก รวมถึงมีก๊าซฮีเลียม ก๊าซมีเทน และก๊าซอื่นๆ ที่ผสมอยู่อีกเล็กน้อย ส่วนสาเหตุที่เรามองเห็นดาวยูเรนัสมีสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ก็เป็นเพราะว่า ก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศจะทำหน้าที่ดูดกลืนแสงสีแดงเอาไว้ และปล่อยแสงสีน้ำเงินออกมา
ย้อนกลับมาที่แผนการสำรวจของนาซา เมื่อลองอ่านรายละเอียดดูแล้ว ก็อดที่จะตั้งข้อสงสัยไม่ได้เลยว่า ‘ทำไมต้องเป็น 10 ปี’ เป็นเวลาที่น้อยหรือมากกว่านี้ ไม่ได้เลยเหรอ?
นาซามองว่า ระยะเวลา 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ คือระยะเวลาที่เหมาะสมกับการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งเหมือนกับชีวิตของคนเราที่เกิดการเปลี่ยนผ่านมากมายในระยะเวลา 10 ปี นอกจากนี้ การสำรวจดาวยูเรนัสครั้งล่าสุดที่ศึกษาเกี่ยวกับวงโคจรของดาวบริวาร ก็เกิดขึ้นเมื่อปี 2011 นี่จึงเป็นเวลาอันสมควรที่จะกลับไปสำรวจบนดาวยูเรนัสอีกครั้ง
และอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้นาซาเลือกที่จะปักธงในการสำรวจดาวยูเรนัส คงเป็นเพราะผลการศึกษาล่าสุด ได้ระบุถึงลักษณะของดาวยูเรนัสไว้ว่า เป็น ‘ก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์’ ที่ถูกปกคลุมไปด้วยพื้นผิวที่เย็นเฉียบ ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากวงโคจรที่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ราวๆ 2,900 ล้านกิโลเมตร
การสำรวจดาวยูเรนัสตามแผนที่นาซาวางไว้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการศึกษาด้านดาราศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง?
อย่างแรก คงทำให้ความจริงเกี่ยวกับลักษณะและสัณฐานของดาวยูเรนัสกระจ่างชัดมากขึ้น จากภาพที่เคยเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ อาจจะนำไปสู่การสร้างแบบจำลองที่สมจริงจากการเก็บข้อมูลของนักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจนี้ หรืออาจทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่น่าจดจำ เหมือนอย่างการที่นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) คือมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ ก็เป็นได้
อย่างต่อมา อาจจะทำให้เกิดทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตลึกลับในจักรวาล ที่ไม่ต่างจากทฤษฎีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ซึ่งนำไปสู่แนวคิดการย้ายถิ่นฐานที่ถูกพูดถึง จนเป็นกระแสอยู่พักหนึ่ง ถึงแม้ อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า ดาวยูเรนัสนั้น ไม่ได้มีลักษณะที่จะเป็นถิ่นฐานสำหรับสิ่งมีชีวิตได้เลย แต่คำตอบที่แท้จริงของเรื่องนี้ คงจะเกิดขึ้น หลังจากที่มีการสำรวจแล้วเท่านั้น
ถึงแม้ว่า ทีมนักวิจัยของนาซาจะคาดหวังกับภารกิจการสำรวจดาวยูเรนัสที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากเพียงใด แต่ในตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่า อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ภารกิจนี้ อาจจะไม่สำเร็จได้อย่างที่คิด คงหนีไม่พ้นเรื่องงบประมาณ และการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจแบบใหม่ที่ต้องใช้เวลาอีกนานเลยทีเดียว