คุณเป็นแบบไหนระหว่าง Multiplier ผู้นำ ‘ตัวคูณ’ หรือ Diminisher ผู้นำ ‘ตัวหาร’
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้หลายคนทำงานที่ใดที่หนึ่งได้นานแบบคนอื่นคือ ‘หัวหน้า’ คุณว่าจริงไหม?
เพราะไม่ว่างานจะยากสักแค่ไหน แต่ถ้ามีหัวหน้าที่ดีคอยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลังแล้ว ยังไงก็ขอสู้ตาย เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เวลาพนักงานลาออก ต้นเหตุก็ไม่ได้เป็นเพราะบริษัท หรือไปทำธุระส่วนตัว แต่แท้จริงแล้ว เกิดจาก ‘หัวหน้า’
1 สัปดาห์มี 7 วัน เราทำงานไปแล้ว 5 วัน แถมแต่ละวัน ก็ทำงานกันถึง 8 ชั่วโมง หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาชีวิตทั้งหมด
นี่จึงไม่แปลกเลยว่า ทำไมเรื่องคนถึงเข้ามามีน้ำหนักพอกับส่วนผสมหลักอย่างเงินเดือน ความก้าวหน้า ชีวิตหลังเลิกงาน และเพื่อนร่วมงาน
คิดว่า หัวหน้าทุกคนบนโลกใบนี้น่าจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการควบคุมดูแลงาน และทีมไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งไว้ ทว่า หากพูดถึงวิธีการแล้ว ก็อาจจะต่างกันไปตามสไตล์แต่ละคน เพราะหัวหน้าบางคนก็ทำให้เวลาอยู่ด้วยแล้ว ทีมรู้สึกยิ่งเก่งขึ้น ยิ่งโตขึ้นในทุกวัน หรือที่เราเรียกว่า ‘ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier)’ ในทางกลับกัน หัวหน้าบางคนก็ทำให้เวลาอยู่ด้วยแล้ว ทีมรู้สึกเหมือนโดนสูบพลัง หรือที่เราเรียกว่า ‘ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher)’
แล้วผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) กับ ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher) คืออะไร ต่างกันยังไง และเรากำลังเข้าข่ายผู้นำยอดแย่แบบตัวหารโดยไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า? ในบทความนี้ Future Trends จะพาคุณไปรู้จักกับผู้นำทั้ง 2 แบบ จากหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง Multiplier: How the Best Leaders Make Everyone Smarter ของลิซ ไวสแมน (Liz Wiseman) และเกร็ก แม็กคีโอน (Greg McKeown) กัน
ผู้นำแบบ Diminisher กับ Multiplier คืออะไร?
ตามที่ให้คำนิยามสั้นๆ กันไปในบรรทัดก่อน ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) คือหัวหน้าประเภท ‘ทวีปัญญา’ หรือ ‘สรรสร้าง’ ที่มักจะดึงศักยภาพของทีมออกมา เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ยิ่งอยู่ด้วย ยิ่งช่วยทวีคูณความเก่งขึ้นไปอีก และทำให้รู้สึกแฮปปี้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง’
ในขณะเดียวกัน ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher) เป็นหัวหน้าประเภท ‘บั่นทอนปัญญา’ หรือ ‘ทำลาย’ ที่เมื่ออยู่ด้วย มักจะปิดกั้นศักยภาพของทีม ทำให้ตัวเล็กลงผ่านการบั่นทอนกำลังใจ สร้างความรู้สึกไม่อยากแสดงความคิดเห็น พูด นำเสนอไอเดียอะไรใหม่ๆ ซึ่งบางกรณีก็อาจเลวร้ายจนถึงขั้นที่ทำให้บางคนเกิดอาการหมดไฟ (Burnout) เอาได้
ผู้นำแบบ Multiplier กับ Diminisher ต่างกันยังไง?
ทั้งนี้ ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) ต่างก็มีลักษณะเด่นเท่ากันถึง 5 ข้อ แล้วแต่ละแบบมีอะไรบ้าง มาลองสำรวจตัวเองผ่านเกณฑ์ในแต่ละข้อคร่าวๆ กัน
1. ความสามารถ : Multiplier จะเป็น ‘แม่เหล็กดูดความสามารถ (Talent Magnet)’ ส่วน Diminisher จะเป็น ‘ผู้สร้างอาณาจักร (Empire Builder)’
ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) – ตามปกติ ผู้นำประเภทนี้จะไม่รับบทคนฉลาด (Genius) แต่มักจะเป็นผู้สร้างคนฉลาด (Genius Maker) แทน โดยก็จะใช้ความสามารถพิเศษที่คล้ายกับ ‘แม่เหล็ก (Talent Magnet)’ ในการกระตุ้นความเก่ง ศักยภาพของบรรดาสมาชิกออกมา
ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher) – ผู้นำสายบั่นทอนที่ถึงแม้จะเป็นคนสร้างอาณาจักร (Empire Builder) หรือทีมที่ยอดเยี่ยมขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับ ‘ความกดดัน’ ที่บางครั้งอาจสูงเกินไปด้วย
2. สภาพแวดล้อมการทำงาน : Multiplier จะเป็น ‘ผู้ให้อิสรภาพ (Liberator)’ ส่วน Diminisher จะเป็น ‘จอมเผด็จการ (Tyrant)’
ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) – นอกจากการกระตุ้นความเก่ง ศักยภาพแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน ก็คือเรื่องการเป็นผู้ให้อิสรภาพ (Liberator) ของผู้นำ และเปิดโอกาสให้ทีมเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดผ่านโชว์ของที่มีอย่างเต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์
ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher) – ผู้นำแนวนี้จะมาในลักษณะของ ‘จอมเผด็จการ (Tyrant)’ ที่เข้าทำนอง Come with me รับรองว่าดี ถ้าชี้นกต้องเป็นนก ถ้าชี้ไม้ต้องเป็นไม้ ใช้อำนาจที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด กำกับทิศทางองค์กรด้วยการทำให้ทีมรู้สึก ‘เครียด’ ผ่านคำสั่งต่างๆ
3. ความท้าทาย : Multiplier จะเป็น ‘ผู้ท้าชิง (Challenger)’ ส่วน Diminisher จะเป็น ‘ผู้หยั่งรู้ไปหมดทุกเรื่อง (Know-it-all)’
ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) – เพราะยิ่งล้มมากเท่าไร ค่าประสบการณ์ก็ยิ่งมากขึ้นตาม ผู้ตัวคูณมักจะเป็น ‘ผู้ท้าชิง (Challenger)’ สร้างความท้าทายใหม่ๆ ผ่านการส่งทีมไปในสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ โดยก็มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ได้เรียนรู้ และพัฒนา
ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher) – ในทางกลับกัน ผู้นำประเภทบั่นทอนปัญญา มักแสดงความรู้ดี ‘หยั่งรู้ไปหมดทุกเรื่อง (Know-it-all)’ ชอบสั่งอยู่ข้างๆ ไม่ว่าจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ยังไงซะทีมก็ต้องทำตามที่ผู้นำบอกไว้ ดังนั้น จึงไม่เหลือพื้นที่ไว้สำหรับความคิดของทีมเลยแม้แต่น้อย
4. การอภิปราย : Multiplier จะเป็น ‘ผู้หารือ (Debate Maker)’ ส่วน Diminisher จะเป็น ‘ผู้ตัดสิน (Decision Maker)’
ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) – เวลาที่มีอะไรบางอย่าง ถึงจะมีอำนาจสูงสุดก็ตาม แต่ผู้นำสายสรรสร้างนี้จะฟังเสียงของทีมด้วย พวกเขามักจะสวมตัวเองเป็น ‘ผู้หารือ (Debate Maker)’ ที่เปิดกว้าง ฟังความคิดเห็นของทีมอย่างตั้งใจ ไม่ได้รวบรัดอำนาจ เคาะทุกอย่างจากความคิดของตัวเอง
ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher) – อย่างที่บอกไปในข้อที่แล้วว่า ผู้นำลักษณะนี้หยั่งรู้ไปหมด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พวกเขาวางตัวเองเอาไว้เป็น ‘ผู้ตัดสิน (Decision Maker)’ หรือผู้ชี้ขาด ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ไปข้างหน้าด้วยอำนาจนั่นเอง
5. ความเป็นเจ้าของ : Multiplier จะเป็น ‘นักลงทุน (Investor)’ ส่วน Diminisher จะเป็น ‘ผู้จัดการจอมจุ้น (Micromanager)’
ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) – ทีมจะไม่ใช่แค่ฟันเฟืองอีกต่อไป ผู้นำแบบตัวคูณจะเป็นสาย ‘นักลงทุน (Investor)’ กล้าได้ กล้าเสีย เปิดโอกาสให้ทีมได้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นอย่างเต็มที่ด้วยการมอบความไว้วางใจ กำหนดบทบาทของแต่ละคนอย่างชัดเจน
ผู้นำแบบตัวหาร (Diminisher) – ถ้าผู้นำแบบตัวคูณคือสวรรค์ ผู้นำแบบตัวหารก็ไม่ต่างอะไรจากนรก เพราะไม่เพียงแต่สวมตัวเองเป็น ‘ผู้จัดการจอมจุ้น (Micromanager)’ เข้าไปควบคุมกับทุกรายละเอียด แต่ยังคอยตัดสิน ทำลายล้างด้วยการไล่บี้คนในทีมให้ทำทุกอย่างตามมาตรฐานส่วนตัวด้วย
รู้จักเส้นบางๆ ของ Multiplier กับ Diminisher
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้นำแบบตัวคูณ (Multiplier) จะช่วยทีมอย่างสุดพลัง แต่บางครั้งเจตนาดีที่มากเกิน ก็อาจเปลี่ยนเป็นผู้นำยอดแย่แบบตัวหาร (Diminisher) โดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเจ้าไอเดีย (Idea Guys) ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จอมกู้ภัย (Rescuer) ที่มีเจตนาดีในการเข้าไปช่วย หรือแม้กระทั่งผู้มีวิสัยทัศน์ (Visionary) อันยิ่งใหญ่ ที่ความชัดเจนอาจย้อนศรกลับมาทำร้ายจนทีมไม่มีพื้นที่ว่างพอจะหายใจได้
สรุปแล้ว การนำแบบตัวคูณ (Multiplier) นั้นดีกว่า เพราะไม่เพียงแค่สร้างความสบายใจให้ทุกฝ่าย ลดอัตราการลาออก (Turnover Rate) และทำให้ทีมที่น่ารักอยู่กับเราไปนานๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรเติบโตจนสามารถจ้างทีมหน้าใหม่แบบ ‘ทวีคูณ’ ขึ้นไปอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม หากนำแบบตัวหาร (Diminisher) นับวันก็รังแต่จะหารจำนวนสมาชิกในทีมลงให้ลาออกไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจเหลือเราเพียงคนเดียว หรือต่อให้จ้างใหม่ก็วนลูปเดิม Headcount ที่เติมเท่าไรก็ไม่เคยเต็มสักทีนั่นเอง…
Sources: https://bit.ly/3Myv6KJ