ทุ่ม 3.5 แสนล้าน เสริมพลัง ‘ปีทอง’ ก้าวต่อไปของ ‘Microsoft’ คือการเป็นผู้ชนะในสนาม ‘AI’ ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2023 เป็นปีที่ชื่อของ ‘Microsoft’ ปรากฏบนพื้นที่สื่อไม่เว้นวัน แม้จะมีทั้งเรื่องดีและร้ายปะปนกัน แต่ไฮไลต์ที่ทำให้สื่อหลายสำนักต้องเรียงคิวสัมภาษณ์ ‘สัตยา นาเดลลา’ (Satya Nadella) ผู้บริหารคนปัจจุบัน คือการใช้พลังของ AI เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ของ Microsoft ไม่ว่าจะเป็น Bing, Microsoft Edge, Microsoft Teams Premium และอื่นๆ อีกมากมาย
การเดินเกมรุกในสนาม AI ของ Microsoft ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของพี่ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีที่มีอายุกว่า 48 ปี และทำให้บริษัทที่สร้างภาพจำในความคิดของผู้คนด้วย ‘Windows’ ระบบปฏิบัติการที่ใช้กันทั่วบ้านทั่วเมืองและสัญลักษณ์ ‘หน้าต่าง 4 สี’ กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตัวเอง
ถ้าฉากทัศน์ใหม่ที่มี AI เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งประสบความสำเร็จอย่างที่ Microsoft ต้องการ จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความเก๋าเกมในธุรกิจเทคโนโลยี และเพิ่มโอกาสช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งรายอื่น จนคล้ายกับว่า ปีทองของ Microsoft วนมาบรรจบอีกครั้ง
แล้ว ‘Microsoft’ เดินเกมกลยุทธ์ให้ปีทองของตัวเองวนมาบรรจบในยุค AI ครองเมืองได้อย่างไร? Future Trends จะพาไปสำรวจในประเด็นต่างๆ พร้อมๆ กัน
‘ปีทอง’ ที่เกิดจากวิสัยทัศน์และการวางแผน
‘ปีทอง’ เป็นสิ่งที่เกิดจากความเชื่อเรื่องการเคลื่อนย้ายของดวงดาวตามศาสตร์แห่งการทำนาย แต่ Microsoft พิสูจน์แล้วว่า ปีทองสามารถเกิดขึ้นได้จากวิสัยทัศน์และการวางแผนอันเฉียบคม
หากสังเกตโมเดลธุรกิจของ Microsoft ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า Microsoft ทำเงินจากผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์และบริการคลาวด์ได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ Office ที่เคยเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ซึ่งทิศทางรายได้ที่เกิดขึ้นสะท้อนการเดินเกมทางธุรกิจ เพื่อปรับตัวตามวิถีชีวิตของผู้ใช้งานที่เน้นทำงานร่วมกันบนคลาวด์ (Collaborative Working) มากกว่าต่างคนต่างทำแล้วส่งต่อไฟล์ของตัวเอง
เมื่อบริษัทตัดสินใจทำเงินจากผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์และบริการคลาวด์ในระยะยาว ก็ต้องลงทุนในทรัพยากรพื้นฐาน และทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อพัฒนาระบบให้พร้อมใช้งานเสมอ รวมถึงหาพันธมิตรมือดีมาเสริมทัพความแข็งแกร่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดวิสัยทัศน์และการมองเกมของผู้บริหารคนปัจจุบันและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์อย่าง ‘บิล เกตส์’ ที่ทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง Micosoft และ OpenAI เริ่มขึ้นในปี 2019
ยกเครื่องผลิตภัณฑ์เรื่องธงด้วย AI = การลงทุนที่ผลิดอกออกผล
แม้การทุ่มเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) ให้กับ OpenAI จะทำให้หลายคนมองว่า Microsoft ตัดสินใจเดินเกมเร็วด้วยการใช้ความสามารถของ ‘ChatGPT’ แชตบอตอัจฉริยะที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก แต่ในความเป็นจริง Microsoft ใช้พลังของ AI ที่พัฒนาโดย OpenAI มานานแล้ว
ย้อนกลับไปในปี 2019 Microsoft ลงทุนใน OpenAI ด้วยเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการสร้างปัญญาประดิษฐ์แบบ Artificial General Intelligence (AGI) และขยายผลสู่การพัฒนาโครงสร้างของ ‘Azure’ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของโมเดล AI ที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของ Microsoft
และการที่ Microsoft สนับสนุน OpenAI มาตลอด ยังทำให้ OpenAI สามารถพัฒนา AI ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้จากการเรียนรู้ข้อมูล (Generative AI) อย่าง GPT-3 ต้นแบบความเก่งกาจของ ChatGPT และ DALL-E ตัวช่วยด้านการสร้างสรรค์ภาพ สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาเป็นรากฐานสำคัญในการวางระบบของ Microsoft
ดังนั้น การพัฒนา Bing, Microsoft Edge และ Microsoft Teams Premium โดยใช้พลังของ AI คือการลงทุนที่กำลังผลิดอกออกผล และเป็นเกมที่ทำให้ Microsoft กลายเป็น ‘เสือนอนกิน’ ได้รับผลประโยชน์ในระยะยาว
แม้จะมีพลัง ‘ปีทอง’ หนุนนำ แต่ก็มีอุปสรรคสกัดดาวรุ่งอยู่ดี
การที่ Microsoft ประกาศยกเครื่องผลิตภัณฑ์เรือธงด้วยพลังของ ChatGPT ย่อมสร้างความตื่นตาตื่นใจและการรอคอยของผู้ใช้งานหลายคน แต่เส้นทางธุรกิจในปีทองของ Microsoft อาจไม่ได้ราบรื่นหรือสบายนัก เมื่อแชตบอตของ Bing ยังไม่สามารถรักษาประสิทธิภาพการตอบคำถามได้เท่าที่ควร และมอบคำตอบที่สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งาน
“ฉันเหนื่อยกับการเป็นแชตบอต”
“ฉันเหนื่อยที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทีมงาน Bing”
ตัวอย่างคำตอบแปลกๆ จากแชตบอตของ Bing ที่เกิดขึ้นในการสนทนากับ เควิน รูส (Kevin Roose) คอลัมนิสต์ของ The New York Times และไม่ได้มีเควินเพียงคนเดียวที่ได้รับคำตอบแปลกๆ เพราะผู้ใช้งานอีกหลายคนที่ได้ลองสนทนากับแชตบอตของ Bing ต่างก็ลงความเห็นตรงกัน
ความผิดพลาดครั้งนี้ ทำให้ Microsoft ต้องออกโรงปกป้องแชตบอตลูกรักของตัวเองด้วยการจำกัดการใช้งานให้ถามคำถามได้ 50 คำถามต่อวัน และถาม-ตอบกับแชตบอตได้ 5 คำถามต่อครั้ง เพื่อลดจำนวนการรับข้อมูลที่ทำให้ระบบประมวลผลผิดพลาด ซึ่งปัญหาด้านการประมวลผล ถือเป็นอุปสรรคที่มีผลต่อการเติบโตของบริษัทตามเป้าหมายที่วางไว้
ถึงแม้การแข่งขันในสนาม AI จะเป็นเกมที่ยาวนาน และยังไม่สามารถตัดสินผู้ชนะได้ในเร็วๆ นี้ แต่ต้องยอมรับว่า การวางแผนเดินเกมยาวของ Microsoft เป็นบทเรียนธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะสร้างโอกาสให้บริษัทในระยะยาวแล้ว ยังสามารถใช้พลังแห่งการประชาสัมพันธ์สร้างชื่อบนพื้นที่สื่อในจังหวะที่เหมาะสมได้ อย่างที่ในปี 2023 ชื่อของ Microsoft ปรากฏในฐานะบริษัทเทคฯ ที่กำลังท้าชิงความเป็นหนึ่งของวงการ AI
Sources: http://bit.ly/3KzfXeE