‘ยิ่งขาดแคลน ยิ่งมีค่า’ หรือจะเป็นทีของประเทศไทย ในโลกยุค Metaverse, Blockchain, A.I.
เขียนโดยสาโรจน์ อธิวิทวัส (CEO at Wisible )
ในโลกที่เทคโนโลยียุคใหม่กำลังเจริญเติบโตถึงขีดสุด
Dark Factory โรงงานผลิตที่ใช้หุ่นยนต์ 100% ทำงานทั้งวันทั้งคืนได้ไม่ต้องหยุดพัก ไม่ต้องเปิดไฟ ผลิตสินค้า commodity ได้ปริมาณมหาศาล เกิด economy of scale ทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลงมหาศาล แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้สินค้า handmade ศิลปะหัตถกรรม งานฝีมือที่ต้องใช้ความปราณีต หายากขึ้น ขาดแคลนขึ้น มีค่ามากขึ้น อย่างที่ Hermès บอกว่ากระเป๋าของเขาผลิตด้วยมือทุกชิ้น ไม่มีใช้จักรเย็บผ้า สร้างเรื่องราวสร้างแบรนด์ระดับโลก ขายกระเป๋าได้ใบนึงเป็นล้าน
นักวาดภาพฝีมือชั้นเลิศ ที่เมื่อก่อนถูกเรียกว่า ‘จิตรกรไส้แห้ง’ เพราะวาดอะไรออกก็มาก็ถูกก๊อปไปใช้ฟรีได้ง่ายๆ แต่พอมี Blockchain, NFT ที่ทำให้ระบุความเป็น Original ของแท้ หนึ่งเดียวในโลกได้ จิตรกรก็กลายเป็นอาชีพแห่งอนาคตเป็นซะอย่างนั้น
Metaverse โลกเสมือนที่ต่อไปจะทำให้เราสามารถไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ในโลก โดยใส่แว่น VR อยู่บ้าน ก็ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวธรรมชาติในโลกแห่งความเป็นจริงที่ไม่ใช่ man-made กลายเป็นของหายาก ยิ่งทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวมีค่ามากขึ้น
GMO, Impossible Meat สร้างอาหารที่มีรสชาติและรูปร่างหน้าตาเหมือนของจริงได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้สินค้าเกษตร Organic ที่ปลูกบนดินแท้มีค่ามากขึ้น ด้วยเทคโนโลยี Blockchain, RFID ที่ช่วยสืบย้อนกลับกระบวนการผลิต ทำให้รู้ต้นทางได้ว่าปลูกที่ไหน Organic จริงหรือไม่
สินค้าบริการทุกตัวที่กล่าวมา ล้วนเป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดีทั้งสิ้น เป็นจุดแข็งที่ได้มาแบบงงๆ จากกระแสเทคโนโลยียุคใหม่ที่จู่ๆ ก็หมุนมาเหมือนเป็นใจให้ประเทศไทย
ประเทศไทยต้องเลือกโฟกัสให้ถูกตั้งแต่วันนี้
เรากำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนของโลกพอดี จากสิ่งกระตุ้นหลายอย่างที่มาพร้อมกัน เช่น การแพร่ระบาดโควิด19 ทำให้ทุกธุรกิจถูกบังคับให้นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในการทำงาน การ Work-from-anywhere เป็นเรื่องปกติ เป็น New Normal ที่เราอาจจะไม่มีวันย้อนกลับไปนั่งทำงานที่ออฟฟิสกัน 5 วันต่อสัปดาห์อีกต่อไป สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน Supply Chain จากการต่อสู้กันของสองประเทศมหาอำนาจของโลก
ทรัพยากรประเทศไทยมีอยู่จำกัด เราต้องเลือกว่าจะโฟกัสเรื่องอะไร เราถนัดอะไร มีอะไรที่คนอื่นในโลกไม่มี เรื่องไหนควรปล่อยให้คนอื่นทำ เรื่องไหนเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำเองให้ได้ในประเทศ
จะว่าไปประเทศไทยก็มีการกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายรอบ) มาลองดูกันว่ามีตัวเลือกอะไรบ้าง
Medical Hub ?
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หรือ Medical Hub คำนี้ได้ยินมานานมาก ว่าประเทศไทยมีหมอ พยาบาลเก่งๆ จำนวนมาก แต่ถ้าวันนี้เราไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาหรือฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ลองนึกดูว่ารายจ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีอะไรที่เป็นของธุรกิจไทยบ้าง
จะเห็นว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่กับธุรกิจไทยด้วยซ้ำ ทุกเคสคนไข้ที่มีการรักษาเม็ดเงินส่วนใหญ่จะวิ่งออกไปสู่บริษัทต่างประเทศ นี่หรือคือผลลัพธ์ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย
แล้วมีวิธีทำให้เม็ดเงินส่วนใหญ่เป็นของธุรกิจไทยได้ไหม?
มี และก็มีหลายภาคส่วนที่ดิ้นรนพยายามทำงานวิจัยและพัฒนา สร้างสินค้าในประเทศเอง เช่น งานวิจัยวัคซีนโควิด เครื่องช่วยหายใจ แต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลน้อยมากจนถึงไม่มีเลย แล้วจะมีหวังที่ไทยจะเป็น Medical Hub ได้อย่างไร หรือต่อให้เป็นได้แต่ถ้าโครงสร้างของอุตสาหกรรม รายได้ส่วนใหญ่ยังเป็นของธุรกิจต่างชาติ เราก็ไม่รู้ว่าจะสร้าง Medical Hub ขึ้นมาทำไม
แล้วควรเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายจากอะไร เลือกตัวที่มีศักยภาพในการเพิ่ม GDP ได้สูงที่สุดดีไหม?
GDP บางทีก็อาจะเป็น Metric ที่หลอกตาได้ ตัวเลข GDP ที่สูงลิ่วจะมีประโยชน์อะไร ถ้ามาจากการการขายสินค้าบริการที่ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง (ultimate beneficiary) ไม่ใช่คนไทย/ผู้ประกอบการไทย เช่น ยอดขายรถยนต์หลายแสนล้านที่ เทคโนโลยีการผลิต ส่วนประกอบต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นของต่างชาติเกือบทั้งหมด เงินที่ถึงมือคนไทย ก็อาจจะมีเพียงพนักงานคนไทยของบริษัทเหล่านั้นเท่านั้น รายได้ 100 อาจจะหล่นถึงมือคนไทยเพียงไม่ถึง 10
เทียบกับอุตสาหกรรมโรงแรม ท่องเที่ยว บริการ ที่รายได้เกือบทั้งหมด ตกถึงผู้ประกอบการท้องถิ่นในไทยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วยขับเคลื่อนเศรษกิจท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
Supply Chain Heat Map
เราควรจะวิเคราะห์แต่ละอุตสาหกรรมโดยใช้หลักการ Supply Chain Heat Map ซึ่งเป็นการวัดว่าเม็ดงานที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถูกกระจายไปยังธุรกิจท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน และควรใช้ metric นี้เป็นตัวกำหนดว่าเราควรเลือกอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ GDP ที่อาจทำให้เราไปผิดทิศผิดทางได้
เราควรจะวิเคราะห์แต่ละอุตสาหกรรมโดยใช้หลักการ Supply Chain Heat Map ซึ่งเป็นการวัดว่าเม็ดเงินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถูกกระจายไปยังธุรกิจท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน และต้องทำให้แน่ใจว่าเม็ดเงินถูกกระจายไปยังธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า (โปรดอย่าลืมว่าความมั่งคั่งประเทศไทย 67% อยู่ที่กลุ่มคนเพียง 1%) ซึ่งประเทศไทยคงจะโตได้ไม่เร็วเท่าไหร่นัก หากยังหวังพึ่งพาธุรกิจขนาดใหญ่ของบรรดาเจ้าสัวไม่กี่คนในการผลักดันประเทศ
แต่ก็มิได้หมายความว่าธุรกิจใหญ่จะห้ามเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเลย ซึ่งคงต้องมีบ้างอยู่แล้ว แต่เราต้องทำให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายไหลไปที่ธุรกิจขนาดเล็กให้มีโอกาสเติบโตขึ้นกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (ที่ไม่ได้มาจากตระกูลเดิมๆ ) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทยให้เติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
และควรใช้ metric นี้เป็นตัวกำหนดว่าเราควรเลือกอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ GDP ที่อาจทำให้เราไปผิดทิศผิดทางได้
ธุรกิจ E-Commerce ที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ควรเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายด้วยไหม?
ก็คงต้องใช้หลักการเดียวกัน ในการดูว่าเม็ดเงินที่กระจายอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ตกถึงมือธุรกิจไทยจริงๆ ธุรกิจ e-commerce ที่เติบโตหลายเท่าตัวช่วงโควิด มีมูลค่ากว่าแสนล้าน จะมีค่าอะไร ถ้าสินค้าที่ขายเกิน 70% เป็นสินค้าจีน เม็ดเงินวิ่งกลับสู่ผู้ประกอบการจีน แทบไม่หล่นถึงมือผู้ประกอบการไทย ซึ่งอาจจะต้องวิเคราะห์ถึง Sub-Industry ด้วย เช่น การต้องเลือกโฟกัสเฉพาะสินค้าบางประเภทที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง และยอมทิ้งบางประเภทที่เราไม่เก่ง ต้นทุนหรือคุณภาพสู้ประเทศอื่นไม่ได้
labor-intensive industry ดีไหม
ถึงแม้คำนี้ฟังดูความเป็นเชิงลบ แต่อย่าลืมว่า robot ที่ผลิตสินค้าได้ไม่หยุดพัก ไม่แวะซื้อกับข้าวตามตลาดนัด ไม่ออกไปจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าชุมชน เหมือนมนุษย์ ดังนั้นถ้าเราเลือกประเภทสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมากในการผลิตอย่างมีกลยุทธ อุตสาหกรรมนี้ที่เน้นใช้แรงงาน(ฝีมือ) ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเช่นกัน
5 ปีนับจากนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ตัดสินว่าประเทศไทยจะยังมีที่ยืนอยู่ในเวลาโลกต่อไปไหม เราต้องกำหนด Positioning ตัวเองให้ดี เลือกโฟกัสให้ถูกจุด ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
หวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะทำสำเร็จ