“ไม่พร้อมเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมเริ่มต้นใหม่” ‘Metathesiophobia’ อาการไม่กล้าก้าวออกจาก Comfort Zone
“ทำงานที่นี่มานานจนรู้สึก Settle ไปแล้ว การออกไปเริ่มต้นใหม่ เปลี่ยนแปลงชีวิตอีกครั้งกลายเป็นเรื่องยากไปโดยปริยาย เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครตอบได้เลยว่า ผลของการลงไปเล่นในสนามที่ตัวเองไม่อยู่มาก่อนจะออกมาเป็นเช่นไร”
หากใครยังติดตามกันมาตั้งแต่ต้น น่าจะยังจำกันได้ว่า เมื่อไม่กี่ปีก่อน Future Trends เคยพูดถึงประเด็นนี้ในบทความหนึ่งว่า การที่ได้ลองทำงานที่ไหนจนครบหรือเกินกว่า 2 ปี เราจะรู้สึก Settle กับองค์กรมากขึ้น ซึ่งบางทีก็อาจจะถึงขั้นที่ว่า ทำให้การก้าวออกไปที่ใหม่กลายเป็นความรู้สึกยาก น่าลำบากใจยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ
สำหรับตัวผู้เขียนที่วนเวียนกับออฟฟิศปัจจุบันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กฝึกงาน ฟรีแลนซ์ จนกลายมาเป็นพนักงานประจำอย่างทุกวันนี้ ซึ่งพอนับ Timing ทั้งหมดคร่าวๆ ก็กำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
สารภาพว่า ช่วงที่ผ่านมา แม้จะมี Recruiter ทักมาชักชวนผ่านลิงก์อิน (LinkedIn) ให้ไปสมัครงาน หรือไถฟีดโซเชียลมีเดียเจอในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ อยากไปเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้หย่อน Resume ไปที่ไหนสักที เนื่องจาก รู้สึกติดกับดัก Comfort Zone เช่นกัน
โดยเหตุผลลึกๆ แล้ว ต่างก็มาจากการรายล้อมไปด้วยหัวหน้าที่ดี ทีมที่ดี และพี่ๆ ในออฟฟิศที่เป็นกันเอง ก่อนหน้านี้ ดิฉันเคยคุยเรื่องดังกล่าวกับเพื่อนคนหนึ่งว่า กังวลกับอนาคต กังวลกับความไม่แน่นอน จริงๆ แล้ว ก็อยากโยนตัวเองไปทำอะไรใหม่ๆ เหมือนกัน แต่ที่ไม่ไปเพราะพื้นที่ปลอดภัยตรงนี้ทำให้ตัวเองรู้สึกแฮปปี้ และหลายๆ ครั้งมักจะเกิดคำถามทำนองว่า “รู้ได้ไงว่าไปแล้วจะดีกว่าเดิม?” ถ้าวันหนึ่งก้าวออกไปแล้วเจอสิ่งที่แย่กว่าเดิม เมื่อถึงเวลานั้นจะทำอย่างไรต่อล่ะ แน่นอนว่า หันหลังกลับก็คงไม่ได้ด้วย
ในทางจิตวิทยาเราเรียกอาการกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบทำอะไรที่ต่างออกไปจากกิจวัตรประจำวัน หรืออีกแง่มุมหนึ่งก็คือ การไม่กล้าเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ไม่กล้าเริ่มต้นใหม่ ยอมทนอยู่ที่เดิมต่อไปว่า ‘Metathesiophobia’
คาร์ลา แมรี แมนลี (Carla Marie Manly) นักจิตวิทยาคลินิกอธิบายว่า “มนุษย์ถูกผูกไว้กับความกลัวการเปลี่ยนแปลง Metathesiophobia เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อรู้สึกว่าชีวิตคาดเดาไม่ได้ และไม่แน่ใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นในฉากถัดไป เราจะรู้สึกเครียด และวิตกกังวล หากการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม อย่างเช่น หัวหน้า โรคระบาด หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุ เราจะรู้สึกหมดแรง
“โดยพื้นฐานแล้ว ความกลัวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ‘ความกลัวเชิงสร้างสรรค์’ ที่คอยย้ำเตือนถึงภัยคุกคามที่แท้จริง และทำให้เราปลอดภัยจากอันตราย ส่วนประเภทที่สองคือ ‘ความกลัวเชิงทำลาย’ ที่ย้ำเตือนเราถึงภัยคุกคามที่ไม่มีอยู่จริง เพียงแต่จิตใจของเราบอกว่ามีก็เท่านั้น”
มีบทความหนึ่งบนเว็บไซต์ Verywellmind พูดถึงวิธีจัดการกับ Metathesiophobia เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ข้อแรก ให้จดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อระบายสิ่งที่อัดอั้นในหัวออกมา การทำแบบนี้จะช่วยให้เราเข้าใจความกลัว และรู้สึกชินกับความเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
ต่อมา ให้จัดสรรเวลาสำหรับการนั่งสมาธิในแต่ละวัน ย้อนกลับมาอยู่กับตัวเองหรือ Self-Reflection ทบทวนว่า เราเป็นใคร ต้องการอะไรกันแน่? และข้อที่สาม ‘ให้สร้าง Vision Board วางแผนอนาคต’ ลองจินตนาการว่า เป้าหมายนับจากนี้คืออะไร มีสิ่งไหน เรื่องไหนที่เราอยากทำให้สำเร็จบ้าง?
ส่วนข้อที่สี่ ให้ตั้งเป้าหมายแบบชิ้นเล็กกับชิ้นใหญ่ ทั้งระดับ Micro และ Macro เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความกลัว และทำให้การเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น คาร์ลาเสริมว่า ข้อที่ห้า แทนที่จะมองการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ ให้ Reframe กรอบการเปลี่ยนแปลงใหม่ ลองปรับเปลี่ยนให้มันเป็นสิ่งที่ดูเป็นไปได้กว่าเดิม
และสุดท้ายคือ ให้ปรึกษาคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว เพราะบางทีพวกเขาอาจจะเคยเจอเหตุการณ์คล้ายกันมาก่อน อาจจะสามารถแชร์เคล็ดลับดีๆ มาให้เราก็ได้ รวมไปถึงการพูดคุยกับใครสักคนก็เป็นการบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล แถมยังทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวหรือกำลังรับมือกับเรื่องนั้นๆ เพียงลำพังด้วย
“ชีวิตคือการเดินไปข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลงอาจทำให้เรารู้สึกไม่คุ้นชินไปบ้าง แต่ทุก Change ต่างก็เป็นอีกหนึ่ง Chance สำคัญที่จะทำให้เราเติบโตเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น”
สำหรับใครที่กำลังเจอสถานการณ์แบบนี้อยู่ อยากบอกว่า ไม่ว่าปัจจุบันจะดีจนอยากกอดไว้นานๆ แบบเดียวกับผู้เขียนแค่ไหน อยากให้คำว่าแยกย้ายไปเติบโตกลายเป็นคำว่าโตไปด้วยกันตลอดไปมากสักเท่าไร แต่ทุกคนต่างก็มีเส้นทางเป็นของตัวเอง สักวันเราก็ต้องแยกย้ายกันไปเติบโตอยู่ดี…
อย่าปล่อยให้ความกลัวหรือ Fixed Mindset มาฟรีซอนาคตอันสดใสของคุณเอาไว้เลยนะ 🙂
Source: https://bit.ly/3sMTP6m