เมื่อความต่างกลายเป็นความขัดแย้ง ลองแก้ด้วยแนวคิดการบริหารแบบ ‘Nightclub’ ของหัวหน้า MIT Media Lab
ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่มนุษย์มักจะพบในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนข้างบ้าน เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งบรรดาลูกน้องที่อยู่ภายใต้ความดูแลก็ด้วย รวมไปถึงบางทีก็เป็นสิ่งที่เกิดกับตัวเอง และหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
แล้วหัวหน้าอย่างเราๆ จะบริหารความขัดแย้งให้อยู่หมัดได้อย่างไร จะจัดการความคิด และมุมมองที่แตกต่างกันด้วยวิธีไหน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูผ่านแนวคิดการบริหารทีมแบบ ‘Nightclub’ ของโจอี อิโตะ (Joi Ito) อดีตผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology Media Lab หรือ MIT Media Lab) กัน
แนวคิดการบริหารทีมแบบ ‘Nightclub’ มาจากไหน?
เกริ่นก่อนว่า แม้โจอีจะเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยชื่อดังด้านเทคโนโลยีระดับโลก แต่ก่อนหน้านี้ เขาเคยเป็นคนที่เรียนไม่จบ และออกจากมหาวิทยาลัยกลางคันถึง 3 ครั้ง เลยทีเดียว
เขาเล่าเกี่ยวกับชีวิตในอดีตว่า เมื่อประมาณปี 1980 หลังจากที่ออกจากมหาวิทยาลัย ตนเคยทำงานเป็นดีเจ (DJs) อยู่ที่ไนต์คลับเปิดแห่งหนึ่งในเมืองชิคาโก (Chicago) ซึ่งภายหลังก็ได้นำเอาทักษะ ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้มาใช้บริหารทีมที่ห้องปฏิบัติการวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ต่อ
แนวคิดการบริหารทีมแบบ ‘Nightclub’ คืออะไร?
แนวคิดการบริหารทีมแบบ ‘Nightclub’ คือแนวคิดการบริหารทีมหรือองค์กรที่เอาไปเปรียบเปรยกับการเป็นดีเจว่า แต่ละวันมีผู้คนมากมายที่ต่างความคิด ต่างมุมมอง ต่างการเลี้ยงดูเข้ามาท่องเที่ยวยังสถานบันเทิง ความขัดแย้งเป็นสิ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอด
เวลาที่ทุกคนเข้ามา จุดร่วมหนึ่งที่ต้องทำร่วมกันนั่นก็คือ การเต้นไปตามเพลง โดยมีดีเจเป็นผู้กำหนด Mood & Tone และจังหวะ หน้าที่ของผู้นำคล้ายกับการเป็นดีเจตรงที่ต้องทำหน้าที่สร้าง Background Music เพลงไม่ต่างอะไรจากวัฒนธรรมการทำงานของทีมที่หัวหน้าต้องเป็นคนสร้าง เพื่อรับมือกับความวุ่นวาย ความขัดแย้งของพนักงาน
ถ้าหัวหน้าอยากให้ทีมเป็นแบบไหน ก็แค่สร้างวัฒนธรรมให้เป็นแบบนั้น ถ้าอยากให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ก็อย่าปิดกั้นความคิด ไม่ตัดสินผิดหรือถูก เปิดรับไอเดียใหม่ๆ บ้าง ในขณะเดียวกัน ถ้าดีเจอยากให้ทุกคนในไนต์คลับรู้สึกสนุก ก็แค่เปิดเพลงสนุกๆ ส่วนถ้าอยากให้ทุกคนกลับบ้าน ก็แค่เปิดเพลงช้า โบราณ หรือน่าเบื่อก็เท่านั้น
ชญาน์ทัต วงศ์มณี เคยอธิบายในบทความหนึ่งบนเพจท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทีมที่สมาชิกมีความสามารถเหมือนๆ กันหมดหรือทีมแบบ Mini-me จุดอ่อนที่มีอยู่ก็จะอยู่อยู่อย่างนั้น อาจจะใหญ่กว่าเดิมด้วย เพราะมีหลายคนแต่ไม่ได้ช่วยอุดรอยรั่วนั้นให้กันและกันได้ แต่ทีมที่สมาชิกมีความแตกต่างกัน มีจุดแข็งที่ไปเสริมจุดอ่อนของคนอื่นได้ มีจุดอ่อนที่ไปแมตช์ได้พอดีกับจุดแข็งของอีกคน เรียกว่าทีมแบบ You complete me. ที่ช่วยเติมเต็มให้กันและกันได้ เราแข็งแกร่งขึ้นเมื่อมีเขา เขาแข็งแกร่งขึ้นเมื่อมีเรา ทีมถึงจะแข็งแกร่ง”
ต่างคน ต่างความคิด ต่างมุมมอง ไม่แปลกหรอกที่บางครั้งความคิดที่ต่างกันอาจจะขัดแย้งกันไปบ้าง แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับแนวคิดนี้? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!
Sources: https://bit.ly/3DPNopt