Type to search

ทำไม ‘สินค้าแบรนด์เนม’ กลายเป็นเครื่องมือการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าหุ้น?

September 14, 2022 By Witchayaporn Wongsa
luxury-brand

“ใครอยากเป็นเศรษฐี?”

“ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ”

หากพูดถึงวิธีการก้าวสู่ความเป็นเศรษฐีที่หลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้น ‘การลงทุน’ เพราะมีบทเรียนความสำเร็จจากนักลงทุนรุ่นพี่มากมาย ที่รวยเป็นกอบเป็นกำจากการลงทุนอย่างชาญฉลาด อีกทั้งผลประกอบการที่สุดแสนจะล่อตาล่อใจ ยังมีส่วนทำให้ผู้คนเริ่มหันมาสนใจศาสตร์แห่งการลงทุนมากขึ้น

แล้วการลงทุนที่เราคุ้นเคยกันมีอะไรบ้าง?

หุ้น (Stock)

หุ้นกู้หรือพันธบัตร (Bond)

กองทุนรวม (Mutual Fund)

แต่นอกเหนือจากชื่อที่เรากล่าวมา ยังมีการลงทุนอีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือ ‘การลงทุนทางเลือก’ (Alternative Investment) หรือการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์พื้นฐาน และ ‘สินค้าแบรนด์เนม’ ก็จัดอยู่ในกลุ่มการลงทุนประเภทนี้ด้วย

การลงทุนในสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าแบรนด์หรู (Luxury Brand) เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว แต่ถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม เพราะต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึกและประสบการณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่มีราคาสูง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักลงทุนจะตัดสินใจซื้อสินค้าแบรนด์เนมสักชิ้นเพื่อการลงทุนจริงๆ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Fashionpile ศูนย์รวมการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังในสหรัฐฯ ระบุว่า ราคาของชาแนล (Chanel) โดยเฉพาะ Chanel Medium Classic Flap Bag ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ปี 2021 ปรับตัวจาก 7,800 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 8,800 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นถึง 12.8 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 5 เดือนเท่านั้น

และเมื่อย้อนดูกลไกการปรับขึ้นราคาของสินค้าแบรนด์เนม จะพบว่า ยิ่งเวลาผ่านไป สินค้าจะยิ่งมีการปรับขึ้นราคาอยู่ตลอด ลักษณะของเส้นกราฟราคาจะค่อยๆ ไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ แม้สภาพเศรษฐกิจจะซบเซาก็ตาม ต่างจากหุ้นที่ลักษณะของเส้นกราฟราคาจะขึ้นๆ ลงๆ ตามกลไกตลาดและสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น ทำให้หลายๆ คนเริ่มมองว่า การลงทุนในสินค้าแบรนด์เนมอาจจะคุ้มค่ากว่าการลงทุนในหุ้นหรือเปล่า?

ทำไมสินค้าแบรนด์เนมถึงมีความแข็งแกร่งเหนือสภาพเศรษฐกิจ? แล้วการลงทุนในสินค้าแบรนด์เนมคุ้มค่ากว่าการลงทุนในหุ้นจริงหรือเปล่า? Future Trends จะมาชวนทุกคนพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน

‘สินค้าแบรนด์เนม’ เป็นมากกว่าสินค้า

Luxury Goods

ด้วยความที่สินค้าแบรนด์เนมเป็นสินค้าที่มีเรื่องราวและความคลาสสิกแฝงอยู่ในตัว โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การก่อตั้งแบรนด์ที่ผู้ก่อตั้งแต่ละคนต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย

นอกจากประวัติศาสตร์ที่มีอายุนับร้อยปี จะช่วยค้ำชูภาพลักษณ์ของแบรนด์แล้ว กระบวนการผลิตที่อยู่เบื้องหลังสินค้าแต่ละชิ้นก็มีคุณค่าไม่แพ้กัน ด้วยสินค้าทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด (Handmade) ที่ผลิตในจำนวนจำกัด อีกทั้งสินค้าแต่ละชนิดจะผลิตในประเทศที่มีความชำนาญต่างกันออกไป อย่างกระเป๋าจะผลิตที่ฝรั่งเศส ส่วนรองเท้าจะผลิตที่อิตาลี เพื่อให้แบรนด์มั่นใจว่า จะจำหน่ายสินค้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าของตัวเอง

กระบวนการผลิตสินค้าของแบรนด์ ยิ่งตอกย้ำคุณค่าของสินค้าและชื่อเสียงของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนที่แบรนด์ต้องแบกรับมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นค่าวัสดุการผลิต ค่าขนส่ง หรือแม้แต่ค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาของสินค้าแบรนด์เนมปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ราคาของสินค้าแบรนด์เนมปรับตัวสูงขึ้น ก็คือความไม่สัมพันธ์กันของกลไกตลาด โดยอุปสงค์หรือความต้องการซื้อมีมากกว่าอุปทานหรือความต้องการขายหลายเท่าตัว ด้วยความที่สินค้ากลุ่มนี้ จะผลิตอย่างจำกัด ทำให้บางทีต้องรอสินค้ากันเป็นเดือนหรือเป็นปี และการซื้อขายในลักษณะนี้ก็ดันให้ราคาของสินค้าบางรุ่นขึ้นไปถึง 7 หลักเลยทีเดียว

อีกทั้งกลยุทธ์การตั้งแบรนด์แอมบาสเดอร์ (Brand Ambassador) เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือฐานแฟนคลับอยู่แล้ว ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาของสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นด้วย เพราะแบรนด์สามารถสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness) ในวงกว้าง เมื่อสินค้ายังคงผลิตจำนวนเท่าเดิม แต่จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็ว ก็ยิ่งเป็นการดันราคาของสินค้าให้สูงขึ้นไปอีก

‘สินค้าแบรนด์เนม’ ในมิติของการลงทุน

Luxury Brands

ถึงแม้ว่า สินค้าแบรนด์เนมบางรุ่นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป และบางทีมีมูลค่าสูงกว่าการปรับตัวของราคาหุ้นก็ตาม อย่างในปี 2016 ราคาของแอร์แม็ส (Hermès) โดยเฉพาะ Hermès Birkin Bag มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14.2 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าการปรับตัวของราคาหุ้นตามดัชนี S&P 500 ที่มีผลตอบแทนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่กลไกการปรับขึ้นราคาเช่นนี้ ไม่สามารถใช้กับสินค้าทุกรุ่นได้ เพราะสินค้าแบรนด์เนมมีการจัดกลุ่มเป็นของตัวเอง บางรุ่นถูกจัดอยู่ในเกรดการลงทุน (Investment Grade) ส่วนบางรุ่นก็ถูกจัดอยู่ในเกรดการใช้งานทั่วไป (Consumer Grade)

ซึ่งความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มก็มีปัจจัยมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความหายาก เรื่องราวเบื้องหลัง ความต้องการของตลาด และความสมบูรณ์ของสินค้าแม้จะผ่านเวลามานาน ดังนั้น ยิ่งเป็นรุ่นหายากที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และมีความต้องการสูง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำกำไร แต่ข้อจำกัดในการลงทุน ก็คือสินค้าแบรนด์เนมเกรดการลงทุนไม่ได้มีจำนวนมากอย่างที่คิด

ส่วนสินค้าแบรนด์เนมเกรดการใช้งานทั่วไป ก็มีโอกาสในการทำกำไร แต่นักลงทุนต้องมั่นใจว่า สินค้าที่ถืออยู่ในมือจะมีโอกาสปรับขึ้นราคาตามกลไกตลาด หรือมีปัจจัยพิเศษที่ส่งผลต่อราคาในอนาคต เช่น รุ่นเฉพาะกิจ (Limited Edition) ที่ผลิตด้วยหนังสีพิเศษและมีจำนวนจำกัด หรือรุ่นที่คนดังในวงการต่างๆ นิยมถือกัน เป็นต้น

จริงๆ แล้ว การลงทุนในสินค้าแบรนด์เนมหรือหุ้นไม่ได้ต่างกัน เนื่องจาก ทั้งสองสิ่งต้องเกิดจากการเฟ้นหา ‘บลูชิป’ (Blue Chip) ของวงการหรือสิ่งที่จะให้ผลตอบแทนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ลงทุนในสิ่งใดแล้วจะคุ้มค่ามากกว่ากัน เพราะความคุ้มค่าของการลงทุนเป็นสิ่งที่นักลงทุนกำหนดเอง

(หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้แนะการลงทุนแต่อย่างใด เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลเท่านั้น และการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาให้ดีก่อนการตัดสินใจ)

Sources: https://bit.ly/3Dhh7ri

https://bit.ly/3RxtsMm

https://bit.ly/3RSTmdg

https://bit.ly/3B0qN6U

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)