Type to search

กลัวความผิดพลาด จนไม่กล้าลงมือทำ ‘Loss Aversion’ อาการหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่ทำพังไปทั้งองค์กร

October 31, 2022 By Witchayaporn Wongsa
loss-aversion

ในโลกของการทำงานมีความท้าทายรออยู่ตรงหน้าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจในแต่ละวัน ปัญหาที่ต้องเผชิญ หรือแม้แต่การกำหนดทิศทางการทำงานของตัวเองในอนาคต

หลายๆ คนคงใฝ่ฝันถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตัวเอง และหนทางที่จะพาไปให้ถึงจุดนั้นได้ คือการพาตัวเองไปพบเจอสิ่งใหม่ๆ เพื่อหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ รวมถึงพยายามพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน (Comfort Zone) ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อพัฒนาทักษะให้พร้อมสู่การไปถึงจุดที่วาดฝันไว้

ถึงแม้การลงมือทำสิ่งใหม่ๆ จะเป็นความท้าทายที่ทำให้ใจเต้นแรง แต่การรวบรวมความกล้าออกไปทำสิ่งเหล่านั้น กลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะคำว่า ‘ผิดพลาด’ และ ‘สูญเสีย’ ทำให้หลายคนรู้สึกกลัว

บางคนต้องการเปลี่ยนงานเพื่อค้นหาชีวิตบทใหม่ของตัวเอง แต่ก็ไม่กล้าลาออกจากงานที่ทำอยู่ เพราะกลัวว่างานใหม่จะไม่เป็นอย่างที่คิด หรือในมุมของหัวหน้าที่ต้องการพัฒนาทักษะการทำงานของทีม กลับไม่กล้าสร้างความท้าทายใหม่ๆ  เพราะกลัวทีมไม่พอใจที่อยู่ดีๆ มาเพิ่มงานให้

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญที่มีผลต่อชีวิตของตัวเองและคนรอบข้าง จะเกิดความกลัวขึ้นมาทุกที หลายๆ คนต้องการที่จะหลุดพ้นจากห้วงความรู้สึกเช่นนี้ และพยายามค้นหาสาเหตุว่า ทำไมความรู้สึกเช่นนี้ถึงเกิดขึ้นกับตัวเอง?

จริงๆ แล้ว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นกลไกทางอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติแต่อย่างใด และมีคำที่นิยามความรู้สึกที่เกิดขึ้นอยู่ว่า ‘Loss Aversion’ หรือ ‘อาการหลีกเลี่ยงความสูญเสีย’ นั่นเอง

Loss Aversion
Image by DCStudio on Freepik

Loss Aversion คืออะไร?

“คนเราเสียใจกับการสูญเสีย มากกว่าดีใจกับการได้รับ”

“losses loom larger than gains”

นี่คือความหมายที่สื่อถึงคำว่า ‘Loss Aversion’ ได้ชัดเจนที่สุด เพราะเป็นคำพูดที่มาจาก ‘แดเนียล คาฮ์นะมัน’ (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาผู้ให้กำเนิดคำนี้

ความสูญเสียส่งผลกระทบกับจิตใจมากกว่าการได้รับถึง 2 เท่า บางคนเวลาที่ได้รับคำชม จะรู้สึกอิ่มเอมใจแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เวลาที่ได้รับการติ ความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นจะอยู่ในใจนานกว่า หรือบางคนตัดสินใจทำอะไรสักอย่างไปแล้ว แต่ให้ผลลัพธ์ในทางตรงข้ามจากที่คิดไว้ จะรู้สึกเสียดายกับการตัดสินใจของตัวเอง และคิดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา

ซึ่งนักจิตวิทยาได้อธิบายถึงสาเหตุของอาการลักษณะนี้ไว้ว่า เป็นกลไกของการเอาชีวิตรอด ป้องกันไม่ให้มนุษย์ใจกล้าบ้าบิ่นทำในสิ่งที่อันตรายหรือเสี่ยงกับชีวิตมากเกินไป ทำให้เวลาที่ต้องตัดสินเรื่องที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างหนัก จะเกิดความกลัวกับอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ขึ้นมา

ถึงแม้ว่า Loss Aversion จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากกลไกตามธรรมชาติ แต่ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตการทำงานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นมุมของผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาองค์กรให้เติบโตขึ้น แต่ไม่กล้าลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพราะกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่ดีอย่างที่คิด หรือมุมของหัวหน้าที่ต้องการปั้นคนให้เก่งขึ้น แต่ไม่กล้าพูดข้อเสียกับลูกทีมตรงๆ เพราะกลัวว่าความสัมพันธ์จะแย่ลง และกระทบกับการทำงาน

Risk Management
Image by wirestock on Freepik

แล้วผู้บริหารหรือหัวหน้าจะรับมือกับอาการ Loss Aversion เพื่อให้องค์กรก้าวต่อไปได้อย่างไรบ้าง?

เราจึงนำคำแนะนำในการรับมือกับ ‘Loss Aversion’ จาก ‘ลินด์ซีย์ แกลโลเวย์’ (Lindsey Galloway) นักเขียนและคอลัมนิสต์ที่มีผลงานเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวระดับโลก มาฝากกันทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

1. ละทิ้งความเป็น ‘เพอร์เฟกชันนิสต์’ (Perfectionist)

บางทีความรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว เกิดจากการตั้งความหวังว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต้องสมบูรณ์แบบที่สุด แต่พอสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ก็เกิดความผิดหวัง จนกลายเป็นปมฝังใจที่ทำให้ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ อีกต่อไป แต่หากลดความคาดหวังลงมาได้ ความรู้สึกเสียดายน่าจะลดลงมาด้วย

2. หลีกเลี่ยงที่จะถามคนอื่น

ลำพังการตัดสินใจของตัวเองก็มีความซับซ้อนอยู่แล้ว ยิ่งมีการขอความเห็นจากคนอื่น ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นจากเดิมหลายเท่า และอาจจะนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ต่างไปจากเดิม ถ้าปรึกษาแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ถ้าปรึกษาแล้วได้ผลลัพธ์ที่แย่ลงก็จะรู้สึกเสียดายที่ไม่เชื่อตัวเองตั้งแต่แรก

3. หยุดคิดถึงความสำเร็จในอดีต

การยึดติดกับความสำเร็จในอดีตไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันตัวเองไปข้างหน้า แต่การยึดติดมากเกินไป ย่อมส่งผลถึงการตัดสินใจในปัจจุบัน เพราะความสำเร็จในอดีตจะกลายเป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้หลายคนเกิดความกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่ดีเท่าเดิม จนไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เสียที และถ้าตัดความสำเร็จในอดีตออกไปได้ โอกาสในการทำสิ่งใหม่ๆ จะมีมากขึ้นด้วย

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเกิดความกลัวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึงมากแค่ไหน แต่ถ้าความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงมีมากพอ เราเชื่อว่า ทุกคนจะสามารถก้าวผ่านความกลัว และกลายเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่เก่งขึ้นได้อย่างแน่นอน

Sources: https://bit.ly/3RSPBEm

https://bit.ly/3COwk2u

https://bit.ly/3RS5L0J

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)