Type to search

‘โก๋แก่’ ทำอย่างไร ให้ความต่างระหว่างวัยไม่ใช่จุดอ่อนของแบรนด์

October 01, 2022 By Witchayaporn Wongsa
kohkae

‘โก๋’ (ภาษาปาก) แปลว่า คำเรียกเด็กหนุ่มวัยรุ่น, จิ๊กโก๋

‘แก่’ (คำวิเศษณ์) แปลว่า มีอายุมาก, ชราภาพ

คำสองคำที่มีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง และไม่น่าถูกนำมาใช้ในบริบทเดียวกันได้ กลับมาอยู่รวมกันในชื่อแบรนด์ของทานเล่นยอดนิยมที่มาพร้อมกับสโลแกนว่า “มันทุกเม็ด” อย่าง ‘โก๋แก่’ เสียอย่างนั้น

ความหอมมันกับรสสัมผัสกรุบกรอบของถั่วโก๋แก่ ยังคงอยู่ในใจใครหลายๆ คน และต่อให้แบรนด์จะพัฒนารสชาติใหม่ๆ ออกมาให้เลือกสรรมากมายเพียงใด รสชาติซิกเนเจอร์อย่าง ‘รสกะทิ’ ก็ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันอยู่ดี

และสำหรับบางคน ถั่วโก๋แก่ยังเป็น ‘โซลฟู้ด’ (Soul Food) อาหารแห่งความคิดถึงที่มีความทรงจำเกี่ยวกับ ‘บ้าน’ หรือ ‘ครอบครัว’ แฝงอยู่เบื้องหลังด้วย ไม่ว่าจะเป็นขนมทานแก้เบื่อยามที่ดูบอลกับพ่อ เป็นท็อปปิงไอศกรีมรสโปรดของแม่ หรือแม้แต่เป็นขนมที่แย่งกันระหว่างพี่น้องก็ตาม

ซึ่งการผสมกลมกลืนไปกับคนทุกรุ่นทุกวัยได้อย่างลงตัว ก็เป็นจุดแข็งที่ทำให้โก๋แก่ติดตลาดมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วเบื้องหลังการสร้างภาพลักษณ์ที่เข้าได้กับคนทุกรุ่นทุกวัยของ ‘โก๋แก่’ เป็นอย่างไร? Future Trends จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกลยุทธ์สุดมันของ ‘โก๋แก่’ ให้มากขึ้นกัน

‘โก๋แก่’ แบรนด์ที่มันทุก (กล) เม็ด

หากพูดถึงความเป็น ‘โก๋แก่’ แต่ละคนคงมีภาพจำที่ต่างกันออกไป อย่างผู้ใหญ่วัยเจนเอ็กซ์ (Gen-X) คงนึกถึงแบรนด์ถั่วลิสงอบกรอบเคลือบรสกะทิหอมมัน ส่วนคนเจนวาย (Gen-Y) คงนึกถึงแบรนด์ถั่วลิสงสุดโปรดของบ้านที่ทานมาตั้งแต่เด็กๆ หรืออย่างวัยรุ่นเจนแซด (Gen-Z) ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ คงนึกถึงแบรนด์ถั่วลิสงที่สนับสนุนงานศิลปะในหลากหลายวงการ

ไม่ว่าภาพจำของคนแต่ละวัยจะเป็นอย่างไร ปลายทางของการสื่อสารก็มุ่งไปที่ ‘โก๋แก่’ เพียงแบรนด์เดียวอยู่ดี และการที่แบรนด์สามารถสื่อสารในภาพลักษณ์ที่หลากหลายได้เช่นนี้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการซื้อสินค้าของลูกค้ามากขึ้นด้วย

Kohkae
Image on kohkae.com

แต่การสื่อสารอย่างหลากหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากรากฐานของธุรกิจอย่าง ‘คุณภาพของสินค้า’ ไม่แข็งแกร่งพอ

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2519 ‘โก๋แก่’ ได้ถือกำเนิดจากบริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด ภายใต้การบริหารงานของ ‘ชูเกียรติ รวยเจริญทรัพย์’ ช่วงแรกของการขายสินค้าต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย อย่างการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และต่อสู้กับคู่แข่งที่เกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ

แต่อุปสรรคเหล่านั้นก็เป็นเพียงบททดสอบที่ผ่านมาชั่วครู่ชั่วคราว เมื่อแบรนด์ยังคงยึดมั่นคุณภาพในการผลิต และยิ่งเพิ่มสีสันให้กับแบรนด์ด้วยการใช้แมสคอต (Mascot) เด็กหนุ่มผมฟูใส่ชุดยูโดอย่าง ‘พี่โก๋’ ก็ยิ่งทำให้โก๋แก่กลายเป็น ‘แบรนด์เลิฟ’ (Brand Love) ของใครหลายๆ คนได้อย่างสมบูรณ์

และความใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางรากฐานของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ไปจนถึงการสื่อสารที่หลากหลาย ก็ทำให้โก๋แก่กลายเป็น ‘King of Nuts’ หรือ ‘ราชาแห่งถั่ว’ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอันดับหนึ่งของธุรกิจถั่วแปรรูปมาจนถึงปัจจุบัน

ความต่างระหว่างวัยไม่ใช่จุดอ่อนของ ‘โก๋แก่’

ถึงแม้ว่า โก๋แก่จะมีอายุมากว่า 40 ปี และมีภาพลักษณ์ของแบรนด์เก่าแก่ที่ติดตัวมา แต่ก็สามารถสื่อสารคีย์เมสเซจ (Key Message) ของแบรนด์ไปที่คนรุ่นใหม่ได้ด้วย

เคล็ดลับการสื่อสารสไตล์ ‘โก๋แก่’ คืออะไร?

จากการรวบรวมข้อมูลตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าว บทสัมภาษณ์ และบทความ ทำให้เราเห็นทัศนคติการทำงานที่น่าสนใจของผู้บริหารรุ่นสอง นั่นก็คือ ‘ความสนุกในการทำงานกับคนต่างวัย’

จริงๆ แล้ว ปัญหาความไม่เข้ากันระหว่างคนทำงานก็มีสาเหตุมาจากความต่างระหว่างวัยด้วย เพราะคนแต่ละช่วงวัยเติบโตมาจากบริบททางสังคมที่ต่างกัน ทำให้มีคติหรือมุมมองการทำงานที่ต่างกันไปด้วย ซึ่งความไฟแรงของคนรุ่นใหม่เปรียบเสมือนน้ำที่ไหลเชี่ยว ส่วนวิธีการทำงานที่ตั้งมั่นของคนรุ่นเก่าเปรียบเสมือนเรือลำใหญ่ ยิ่งเอาเรือลำใหญ่มาขวางน้ำที่เชี่ยว ก็มีแต่จะทำให้พังไปตามๆ กัน

แต่โก๋แก่ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ผสมผสานการทำงานของคนต่างวัยได้อย่างลงตัว ซึ่งคนแต่ละช่วงวัยก็มีจุดแข็งในการทำงานที่ต่างกัน อย่างคนรุ่นใหม่มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม สนุกกับการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป คนรุ่นเก่าก็มีวิธีการทำงานที่คมชัด อีกทั้งยังผ่านร้อนผ่านหนาว จนมีประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในตำรา

และการผสมผสานความต่างระหว่างวัยที่ลงตัวตั้งแต่ขั้นตอนการทำงานเบื้องหลัง ก็คงเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้แบรนด์สามารถสื่อสารได้หลากหลายรูปแบบ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย

Sources: https://bit.ly/3BLwWnZ

https://bit.ly/3dHvydQ

https://bit.ly/3Sd5YN2

https://bit.ly/3fk9sPh

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)