แรกๆ ก็มีไฟ เวลาผ่านไปไม่อยากทำงานนี้แล้ว จะทำยังไง เพื่อสร้างแรงจูงใจไว้ใช้ลุยจนจบงานได้
‘Motivation’ หรือแรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องพยายามทำให้ตัวเองมีแรงจูงใจอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ต้องทำงานชิ้นหนึ่งเป็นเวลานานๆ ซึ่งต้องอาศัยแรงจูงใจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้งานนั้นแล้วเสร็จ
บางครั้ง ในตอนที่เริ่มทำก็รู้สึกมีแรงจูงใจดี แต่พอเวลาผ่านไปแรงจูงใจนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไรให้มีแรงจูงใจในการทำงานไปจนจบงานชิ้นนั้นๆ ได้? จากการศึกษามากมายที่ผ่านมา เราได้ลองรวบรวมและสรุปออกมาเป็น 3 เทคนิค ที่น่าจะได้ผลกับคนส่วนใหญ่และสามารถทำได้ง่ายที่สุดเอาไว้ ดังนี้
กำหนดเป้าหมายให้ถูกต้อง
การกำหนดเป้าหมายมีผลอย่างมากต่อการสร้างแรงจูงใจ มีการศึกษามากมายที่พบว่า การตั้งเป้าหมายนั้นมีความสำคัญอย่างมากไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ที่น่าสนใจก็คือ มีการพบว่าคนที่ตั้งเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ตั้งเป้าว่าจะหาลูกค้าเพิ่มให้ได้ 10 รายต่อเดือน หรือเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว จะสามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ มากกว่าการตั้งเป้าหมายแบบไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ทำให้ดีที่สุด เป็นต้น
สาเหตุนั้น เป็นเพราะว่า การตั้งเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงด้วยตัวเอง โดยที่ไม่มีปัจจัยภายนอกอะไรมาบีบบังคับนั้น จะเป็นการสร้างแรงจูงใจจากภายในของเราเอง และแรงจูงใจที่มาจากภายในจะมีประสิทธิภาพและอยู่ได้นานกว่า ดังนั้น การสร้างแรงจูงใจจึงเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายแล้ว
สร้างความท้าทายที่เหมาะสม
ลองจินตนาการในตอนที่เรากำลังเล่นเกม ถ้าเล่นเกมที่มีความง่ายเกินไป แน่นอนว่าเราก็จะเกิดอาการเบื่อได้เร็วมากๆ แต่กลับกัน ถ้าเล่นเกมที่มีความยากมากเกินไป เราก็จะรู้สึกไม่อยากเล่นต่อ และเบื่อไปเองอยู่ดี เกมที่คนส่วนใหญ่สามารถเล่นได้นานๆ คือเกมที่ไม่ง่ายเกินไปและก็ไม่ได้ยากจนเกินความสามารถผู้เล่น
ในการทำงานก็เช่นกัน การที่จะสามารถทำงานใดเป็นเวลานานๆ ได้ งานนั้นก็ต้องมีความท้าทายในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ยากเกินความสามารถด้วย ดังนั้น การสร้างหรือมองหาความท้าทายให้กับงานของตัวเอง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสร้างแรงจูงใจให้สามารถทำงานต่อได้นานขึ้นเช่นกัน
ให้รางวัลตัวเองอย่างถูกวิธี
หนึ่งในวิธีการสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองที่นิยมที่สุด คือการคอยให้รางวัลตัวเองหลังจากบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งจากการศึกษานั้นก็ได้พบว่า รางวัลในแต่ละแบบก็สร้างแรงจูงใจได้ไม่เท่ากัน ในการทดลองหนึ่ง นักวิจัยได้พบว่า คนส่วนใหญ่จะทำงานหนักหรือใช้ความพยายามมากขึ้นเมื่อรางวัลที่รออยู่นั้นมีความไม่แน่นอน เช่น มีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ ที่จะได้รับเงิน 150 หรือ 50 ดอลลาร์ มากกว่ารางวัลที่มีความแน่นอนอย่างการได้รับเงิน 100 ดอลลาร์แน่นอน ซึ่งเราเองก็อาจนำมาปรับใช้ได้ เช่นการใส่เงินไว้ในซอง 2 ซอง ด้วยจำนวนเงินที่ต่างกันพอสมควร และตั้งเป้าว่า ถ้างานเสร็จจะสุ่มหยิบออกมาใช้ 1 ซอง เป็นต้น โดยอาจจะนำไปใช้โดยปรับเปลี่ยนจากเงินเป็นอย่างอื่น เช่น อาหาร ก็ได้เช่นกัน
ลองนำวิธีที่เราหยิบมาบอกต่อไปใช้แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร มาแชร์กันใต้คอมเมนต์ได้นะ!